sa'lahmade

สล่า – ช่างฝีมือชาวเหนือ – วิถีแห่งชีวิต

เขียนโดย :

      ลองนึกภาพตัวเองกำลังเดินทางไปภาคเหนือของประเทศไทยโดยเริ่มต้นที่ “จังหวัดเชียงใหม่” แล้วคุณมีความสนใจในด้านการออกแบบ งานฝีมือ และวัฒนธรรมท้องถิ่น หรือถ้าคุณเป็นผู้ซื้อหรือนักออกแบบตกแต่งภายในจากแดนไกลที่กำลังมองหาแหล่งวัสดุ ของตกแต่ง หรือผลิตภัณฑ์งานฝีมืออื่นๆ คุณจะไปที่ไหน? เริ่มต้นที่ใด? คุณสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานฝีมือที่สวยงามจากภาคเหนือของประเทศไทย ภูมิภาคที่เรียกว่า “ล้านนา” ได้อย่างไร?

     “ล้านนา” เมืองที่มีความรุ่มรวยทั้งด้านประเพณี พิธีกรรม ศิลปวัฒนธรรม และงานหัตถกรรม ซึ่งคำว่า “สล่า” เป็นคำเรียกช่างฝีมือ ทั้งด้านสถาปัตยกรรม และงานฝีมือ ในขณะเดียวกันภาคเหนือของประเทศไทยนั้น มีความหลากหลายทางด้านชาติพันธุ์  มีงานศิลปะหัตถกรรมที่มาจากรากฐานทางวัฒนธรรมและมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกันไป  สล่าเมด (Salahmade) จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญของงานภูมิปัญญาเชิงช่างที่สร้างสรรค์ผลงาน ทั้งในรูปแบบงานดั้งเดิม (Traditional) และ งานร่วมสมัย (Contemporary) มีเป้าหมายในการรวบรวมข้อมูลสล่าของภาคเหนือตอนบน เปิดพื้นที่ชุมชนสล่าได้พบปะ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน รวมถึงการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์

      ปัจจุบันนี้จะเห็นได้ว่างานหัตถกรรมยังเป็นสิ่งที่สร้างรายได้ให้กับชุมชน ไม่ว่าจะเป็นสิ่งทอ เซรามิก เครื่องเขิน เครื่องเงิน เครื่องประดับ แม้ว่างานหัตถกรรมบางประเภท เช่น งานไม้แกะสลักที่ทรัพยากรทางธรรมชาติที่เป็นวัตถุดิบหลักคือไม้หายากขึ้น ประกอบกับจำนวนช่างฝีมือได้ลดลง ทำให้ผลงานมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบใหม่ๆ  ในขณะเดียวกันคนรุ่นใหม่ก็ได้ถ่ายทอดอัตลักษณ์ของงานหัตถกรรมในรูปแบบผลิตภัณฑ์ร่วมสมัยมากขึ้น เชียงใหม่จึงมีงานหัตถกรรมที่หลากหลาย เกิดตลาดงานฝีมือที่สำคัญหลายแห่งกระจายทั่วเมืองเชียงใหม่ มีกิจกรรมตลอดทั้งปี เช่น งานเทศกาลเชียงใหม่งานออกแบบ (Chiang Mai Design Week) งาน NAP (Nimmanhaemin Art & Design Promenade) งาน Craft Fair ที่จะมีการจัดในช่วงเดือนธันวาคม รวมไปถึงมีพื้นที่สร้างสรรค์ที่เป็นทั้งตลาดและชุมชนคนทำงานคราฟต์ จึงมีพื้นที่ที่คุณจะได้พบปะกับนักออกแบบและช่างฝีมือที่หลากหลาย ทั้งสล่าพื้นถิ่น และนักออกแบบ ร่นใหม่ที่สร้างสรรค์ผลงานที่มีแนวคิดใหม่ๆ ความมีเสน่ห์ของงานคราฟต์ และผู้คน ทำให้หลายๆ ท่านกลับมาเยือนเชียงใหม่หลายๆ ครั้งอย่างไม่รู้สึกเบื่อหน่าย เพราะมีทั้งกิจกรรมและสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา

      จะเห็นได้ว่าช่างฝีมือของชาวเหนือนั้น นอกจากสล่าดั้งเดิมและนักออกแบบ ยังมีบริษัทนานาชาติที่ได้ก่อตั้งธุรกิจขึ้นที่นี่ และนอกเหนือจากงานฝีมือแล้วจะพบว่าทรัพยากรทางธรรมชาติก็ยังเป็นสิ่งที่สะท้อนวิถีชีวิตของท้องถิ่นด้วยเช่นกัน เช่น ชา หรือเครื่องดื่มสมุนไพรแบบดั้งเดิม มีกาแฟคั่วสดใหม่ที่เสิร์ฟโดยบาริสต้าท้องถิ่น มีอาหารพื้นบ้านที่ปรุงโดยวัตถุดิบในท้องถิ่น

      เชียงใหม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเมืองสร้างสรรค์ขององค์การ UNESCO ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (Crafts and Folk Art)  ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของงานหัตถกรรมที่หลากหลายของเมืองเชียงใหม่ หากคุณกำลังจะเดินทางไปภาคเหนือของประเทศไทย เราหวังว่า Salahmade จะสามารถเป็นผู้นำทางและเพื่อนร่วมเดินทางของคุณได้ หรือหากคุณกำลังมองหาผลิตภัณฑ์ วัสดุ และแรงบันดาลใจใหม่ๆ เรื่องราวต่างๆ แกลเลอรี่ภาพ วิดีโอ และคอลเลกชั่นบนเว็บไซต์สล่าเมดนี้ น่าจะช่วยให้คุณค้นพบว่า สล่าของเรามีอะไรและที่ไหนบ้าง