sa'lahmade

กองคร้าฟต์ ณ กองต้า

พื้นที่คราฟต์เล็กๆ ของลูกหลานชาวลำปาง ที่เกิดจากความร่วมใจของชุมชน

      กว่าสี่ปีที่ papacraft ของคุณช้าง – ประสิทธิ์ ตั้งมหาสถิตกุล แทรกตัวเป็นส่วนหนึ่งของถนนคนเดินกาดกองต้า จังหวัดลำปาง คุณช้างหนุ่มใหญ่หัวใจวัยรุ่น วุ่นวายกับการต้อนรับลูกค้าผู้มาเยือน และยังสอนเวิร์กช็อปให้กับคนที่สนใจ ด้วยอัธยาศัยไมตรีอันดี จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมคุณช้างจึงสามารถชักชวนเหล่าบรรดาผู้ทำงานคร้าฟต์ละแวกนี้ ให้มารวมตัวกันเป็นพื้นที่แห่งความรื่นรมย์ 

     “papacraft เริ่มต้นก่อน เริ่มมาตั้งแต่ปี 2018 กองคร้าฟต์ ก็เริ่มต้นโดย papacraft อีกที กองคร้าฟต์ คือ การรวมพลเหมือนรวมหลายๆ สล่า เข้าด้วยกัน มาทำ มาสร้างใหม่กัน เดิมที papacraft ก็เป็น Craft Store อยู่แล้ว เมื่อก่อนขายแค่งานที่เราดีไซน์และทำเองของเรา คือเครื่องหนัง เครื่องประดับอย่างเดียวเลย ส่วนกองคร้าฟต์ นี่เพิ่งมาทีหลัง เริ่มประมาณเดือนตุลาปี 2021”

จุดเริ่มต้นของการมา...กอง

“คือมันมีกาดกองต้าอยู่แล้ว แต่ไม่มีโซนที่เป็นแบบรวมกลุ่มของคร้าฟต์จริงๆ
มีแต่กระจัดกระจายไปทั่ว เราก็อยากจัดโซนคราฟต์ของเรา”

      ก่อนจะมีโควิดคุณช้างนำงานเครื่องหนังเครื่องประดับที่ออกแบบและทำด้วยฝีมือตัวเอง ไปขายที่กาดจริงใจจังหวัดเชียงใหม่ทุกสัปดาห์ ยอดขายดีมากเริ่มเป็นที่รู้จัก แต่พอโควิดมาทุกอย่างพังพินาศ คุณช้างจึงต้องกลับมาพัฒนาพื้นที่ในบ้านตัวเองอย่างจริงจัง เริ่มจากปรับปรุงส่วนของคาเฟ่  และจัดแกลเลอรีให้เป็นพื้นที่สำหรับงานทำมืออื่นๆ เริ่มจากของงานปั้นของเพื่อนๆ และต่อมาก็ออกไปหามองหางานเซรามิกที่น่าสนใจ จนถึงตอนนี้กลายเป็นคร้าฟต์สโตร์ที่มีผลิตภัณฑ์หลากหลาย นอกจากงานหนังที่ถนัดแล้ว งานแปล งานเขียน ก็เป็นงานที่ถนัดด้วยเช่นกัน

     “พอโควิดกลับมาอยู่บ้าน มาทำคาเฟ่ ก็รอดด้วยนะ คนเค้าก็มาหลบโควิดกันที่นี่ มีคนมาเรื่อยๆ มีของดี ช่วงโควิดร้านอาหารตามสั่งตรงนี้ก็เงียบ ถนนทั้งสายเหมือนเมืองร้าง แต่คนจะขับรถเพื่อมาที่นี่เลย เราก็ขายน้ำขายกาแฟประคองไป ทำไปด้วยกันกับงานคร้าฟต์ขายหน้าบ้านเรา ไม่ขายที่ไหน”

      แต่ในวิกฤตก็เป็นช่วงโอกาสดี ที่จะได้ทำความรู้จักกับคนในชุมชน นักวิชาการ ศิลปิน ดีไซน์เนอร์กลุ่มต่างๆ จนเกิดเป็นแนวคิดกองคร้าฟต์ขึ้น คิดว่าน่าจะเป็นสีสันให้กับชุมชนได้ มีคนสนับสนุน เพราะคุณช้างคิดว่าลำปางก็มีต้นทุนไม่ต่างจากเชียงใหม่ ตั้งแต่ธรรมชาติ ศิลปะ วัฒนธรรม เมืองและผู้คน เมื่อนำมาต่อเป็นจิ๊กซอว์ เกิดเป็น Soft Power สามารถสร้างงาน สร้างอนาคตส่งต่อให้กับคนรุ่นใหม่ ซึ่งจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก คุณขวัญ – ต้นฝน ตั้งมหาสถิตกุล ลูกไม้ที่อยู่ใต้ร่มเงาแห่งปาป้าคร้าฟต์นั่นเอง

     “คือมันมีกาดกองต้าอยู่แล้ว แต่ไม่มีโซนที่เป็นแบบรวมกลุ่มของคร้าฟต์จริงๆ มีแต่กระจัดกระจายไปทั่ว เราก็อยากจัดโซนคราฟต์ของเรา เป็นกลุ่มที่น้องหลายๆ คน ที่มาฝากของขายที่สโตร์ด้วย มีตั้งแต่ มัดย้อม เซรามิก เทียนหอม ส่วนงานหนังก็ต้องเป็นหลักเพราะเราทำที่นี่ พอเดือนตุลาคมโควิดเริ่มซา เราก็เลยเปิดพื้นที่เพิ่มในกาดกองต้า” 

      กองคร้าฟต์ ณ กองต้า คือ กลุ่มก้อนของคนทำงานคร้าฟต์ ผู้เป็นลูกหลานชาวลำปาง ที่มารวมตัวกันแบบ กอง’ เพื่อใช้พื้นที่อวดผลงานหัตถศิลป์และผลงานสร้างสรรค์ของตน เมื่อมีกองคร้าฟต์เพิ่ม ก็ต้องมีกองกำลังช่วยจัดการ และแน่นอนแม่ทัพใหญ่จะเป็นใครไม่ได้นอกจากภรรยา – คุณกก และลูกชาย คุณขวัญ – ต้นฝน ตั้งมหาสถิตกุล เรี่ยวแรงสำคัญที่สานฝันทั้งของพ่อและของตัวเอง  

ต้นฉบับแรกจากแม่พิมพ์ สู่แม่ทัพใหญ่ แห่งกอง(ทัพ) คร้าฟต์

      ขวัญ – ต้นฝน ตั้งมหาสถิตกุล ลูกชายของคุณช้างคือหัวเรือใหญ่ ที่ต้องวางแผนการทำงานตั้งแต่เริ่มต้น เป็นผู้ระดมสรรพกำลังสล่าหรือช่างน้อยใหญ่แห่งเมืองลำปางมาร่วมด้วยช่วยกัน ขวัญทำทุกขั้นตอน เริ่มตั้งแต่ออกแบบทั้งหมด ออกแบบแนวคิดพื้นที่ ออกแบบเต็นท์ ออกแบบโลโก้ ด้วยดีกรีสถาปัตย์ภาควิชา ออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง 

     “เราดึงรุ่นน้องมาช่วยกันหลายคน ถือว่าเป็นกลุ่มก่อตั้งกองคร้าฟต์ ทำทุกอย่าง ตั้งแต่ออกแบบ โครงเต็นท์ หาร้าน มีรุ่นน้องมาช่วยทำแพลตฟอร์มออนไลน์ซึ่งเขาจะมีความชำนาญกว่า” 

     “โลโก้ไก่ นี่คือสัญลักษณ์ของลำปาง ไก่ 3 ตัว ก็เหมือนเป็นพ่อแม่ลูก ‘ไก่’ แทนความหมายของเมืองลำปาง ผมเลือกใช้ฟอนต์ที่มีบุคลิกเข้ากับลำปาง ที่มีความโบราณนิดนึงแต่ยังมีกลิ่นอายของความเป็นโฟล์คคราฟต์อยู่บ้าง แต่ว่าก็มีความโมเดิร์นด้วย ก็ใช้เวลาเลือกกันนานพอสมควร”

      การทำงานต้องใช้เวลาและความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่าย ขวัญบอกว่าส่วนที่ยากก็คืองานจัดการ อย่าง เรื่องโครงสร้างการทำเต็นท์ ต้องคิดให้เบ็ดเสร็จว่าจะมีวิธีขนเข้า ขนออก การจัดเก็บอย่างไรให้ง่ายที่สุด ต้องลองผิด ลองถูกและใช้ความผิดพลาดเป็นประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาไปทีละจุด

ชวนกันมา กอง...คร้าฟต์

“คนที่ทำงานคราฟต์ในลำปางเอง จริงๆ ก็ยังไม่มีพื้นที่สำหรับเขา
มันเลยเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาได้”

      เมื่อเริ่มเข้าที่มีคนเห็นสิ่งที่กองคร้าฟต์ กำลังก่อร่างสร้างกองกำลัง ความเป็นรูปเป็นร่างเริ่มปรากฏ ทำให้คนในพื้นที่ตื่นตัวต่อการมีอยู่ของเหล่านักรบแห่งงานคราฟต์ นักรบผู้ฝ่าฟันเพื่อสร้างงานทำมือให้แพร่หลายสู่สาธารณชน

     “เราก็ใหม่ ก็ต้องหาพาร์ทเนอร์มาช่วย หลักๆ ก็จะมี 5 คน มีอาจารย์เจน (ผศ.ศรีชนา เจริญเนตร) เป็นที่ปรึกษาอีกหนึ่งคน เราจะทำหน้าที่ออกแบบ แล้วก็มีน้องป่าน แห่งโกมลานนา มีน้องอัพ แล้วก็พี่เบิร์ดร้านเทียนหอม พี่เดี่ยวที่ช่วยลงแรง คือแผนกทำให้ฝันเป็นจริง ทำตั้งแต่ประกอบโครง ประกอบโครงเต็นท์ ทำโคมไฟ อย่างโคมไฟไก่ที่เราอยากได้ พี่เขาก็เสกขึ้นมาได้เลย เขาเป็นช่างฝีมือที่เก่งมากๆ ส่วนคนที่ทำงานคราฟต์ในลำปางเอง จริงๆ ก็ยังไม่มีพื้นที่สำหรับเขา มันเลยเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาได้ ผมว่าตรงนี้ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดีสำหรับทุกคน”

ปัญหามา...ปัญญามี Learning by Doing

      ปัญหาช่วงแรกเลยคือเรื่องไม่มีงบประมาณและไม่รู้ว่าจะไปหาจากใคร แต่คุณช้างบอกกับลูกชายว่าให้ทำไปก่อน เมื่อลงมือทำ ปัญหาที่กลัวก็เกิดขึ้นมาจริงๆ ถือว่าเป็นบทเรียนให้หาทางแก้ไขกันไป และยังมีปัญหาจุกจิกอีกหลายอย่าง เช่น เรื่องความหนักของโครงลำต้นไผ่ การพับเก็บ การขนย้ายและอีกหลายเรื่องที่ผ่านเข้ามาเพื่อเป็นบททดสอบ

     “พ่อสอนว่าให้ทำไปก่อน แล้วค่อยปรับแก้ งบประมาณไม่มี เดี๋ยวก็มีคนช่วยสนับสนุน และมันก็จริงสุดท้ายก็มีหน่วยงานเข้าใจในสิ่งที่เรากำลังทำ ให้การสนับสนุนทุน (ทุนก้อนแรกได้รับการอนุเคราะห์จากมหาวิทยาลัยสวนดุสิตศูนย์ลำปาง ภายใต้การดูแลของ ดร.ขวัญนภา สุขคร) แม้จะไม่มากแต่ก็สร้างกำลังใจให้คนทำงานได้รู้ว่ามีคนมองเห็นในสิ่งที่กำลังทำ”

คร้าฟต์...จนได้ดี

      การได้ทำกองคร้าฟต์ ทำให้ขวัญได้รู้จักคนมากขึ้น หลายคนเริ่มสนใจก็มาช่วยกัน โดยที่ไม่ได้คิดถึงค่าตอบแทน แค่คิดว่าสิ่งที่เขาทำมันมีความสุข สนุกกับบรรยากาศในการทำงาน จนเกิดเป็นพื้นที่ขายของเล็กๆ น่ารักแต่อบอุ่น เหมือนชุมชนคนทำงานแบบเดียวกัน มีการนำสินค้าที่ผลิตมาออกร้าน ขายของกันสนุกสนาน ในทุกเย็นวันเสาร์-อาทิตย์ ช่วงเวลาเดียวกันกับกาดกองต้า

     “จากที่คิดว่ามันสนุกได้ทำงานอยู่กับเพื่อนพี่น้อง เริ่มมองเห็นผลตอบรับ มีคนประสบความสำเร็จขายดีขึ้น มีออร์เดอร์เพิ่ม มีการเติบโตในระยะเวลาไม่ถึงปี เราก็แฮปปี้ที่เขาเติบโตได้เร็วมากจากสิ่งที่ทำ ต่อมาเริ่มมีหน่วยงานมาสนับสนุนงบประมาณ มันทำให้พื้นที่แห่งนี้เต็มไปด้วยความหมาย ไม่ใช่แค่พื้นที่ขายของ แต่คือพื้นที่แห่งจิตวิญญาณของคนทำงานฝีมือ คือพื้นที่แห่งมิตรภาพ”

แกลลอรี่

กองคร้าฟต์ ณ กองต้า  

ที่ตั้ง : กาดกองต้า จังหวัดลำปาง 

เวลาทำการ : ทุกวันเสาร์ อาทิตย์ เวลา 17.00-22.30 .

โทรศัพท์ : 06 5507 3699 , 08 4049 3246

Facebook : กองคร้าฟต์ ณ กองต้า

Instagram: gongcraft

Email: [email protected]

ผลิตภัณฑ์แนะนำ

Recommended products