แหล่งปล่อยพลังของศิลปิน สื่อกลางงานศิลป์สำหรับทุกคน
ขัวศิลปะ เป็นทั้งพิพิธภัณฑ์ศิลปะ เป็นหอศิลป์ และเป็นแกลเลอรีสำหรับทุกคนที่สนใจงานศิลปะ หนึ่งในจุดหมายที่คนในแวดวงศิลปะและนักท่องเที่ยวสายอาร์ต พากันปักหมุดเมื่อมาเยือนเชียงราย เพราะที่นี่เป็นแหล่งรวมงานศิลปะที่หมุนเวียนกันมาให้ชมแบบไม่ซ้ำตลอดทั้งปี ดูแลบริหารและจัดการโดยสมาคมขัวศิลปะ นำทีมโดย อาจารย์สุวิทย์ ใจป้อม ผู้เป็นนายกสมาคมขัวศิลปะเชียงรายคนปัจจุบัน ต่อจากอาจารย์สมลักษณ์ ปันติบุญ ศิลปินเครื่องปั้นดินเผาแห่งดอยดินแดง และอาจารย์ทรงเดช ทิพย์ทอง ศิลปินพุทธศิลป์ ตามลำดับ


ศิลปะเพื่อศิลปิน
“ศิลปะเชื่อมคน เชื่อมศิลปะ เชื่อมวัฒนธรรม
เป็นแนวคิดหลักของขัวศิลปะมาตลอด 10 ปี เราคือสะพานที่เชื่อมไปสู่สังคม””
อาจารย์สุวิทย์ ใจป้อม เล่าให้ฟังว่า ‘ขัวศิลปะ’ มาจากคำว่า ขัว ในภาษาเหนือ แปลว่า สะพาน รวมกับคำว่า ศิลปะ มีความหมายรวมกันว่า สะพานเชื่อมศิลปะ สะพานที่จะเชื่อมโยงงานศิลปะเข้าไปสู่สังคมและชุมชนในเชียงราย ในภาคเหนือ จนถึงระดับประเทศและต่างประเทศด้วย นั่นคือความตั้งใจของสมาคมขัวศิลปะ ซึ่งตอนนี้ได้ดำเนินงานก้าวเข้าสู่ปีที่ 11 แล้ว
“เชียงรายมีศิลปินเยอะมาก จากรุ่นก่อนๆ ตั้งแต่อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ซึ่งรวมกันเป็นกลุ่มมานานเกือบ 20 ปีแล้ว เรียกตัวเองว่า ‘กลุ่มศิลปินเชียงราย’ ได้ร่วมกันนำผลงานไปจัดแสดงที่หอศิลป์ เจ้าฟ้า กรุงเทพฯ หลังจากจบงานก็กลับมา พร้อมกับเงินที่ได้จากการจำหน่ายผลงานที่จัดแสดง ทุกคนเห็นพ้องกันว่า อยากนำมาทำอะไรสักอย่างที่เป็นของตัวเองที่เชียงราย เพื่อเป็นจุดพักของพี่น้องศิลปิน เป็นที่พบปะเสวนากันทุกเดือน อาจารย์สมลักษณ์เป็นผู้ผลักดันให้เกิดหอศิลป์แห่งนี้ โดยเงินก้อนแรกได้รับการสนับสนุนจากอาจารย์เฉลิมชัย จำนวนห้าแสนบาท นำมารวมกับพี่น้องศิลปิน ทำเป็นกองทุนเพื่อก่อสร้างขัวศิลปะแห่งนี้จนแล้วเสร็จ”
ขัวศิลปะ เป็นอาคารเปิดโล่งหนึ่งชั้นพร้อมกับชั้นลอย เพดานสูง ทุกพื้นที่คืองานศิลปะ ตั้งแต่ทางเข้าจนถึงห้องน้ำ ประกอบด้วยห้องจัดแสดงงานนิทรรศการหมุนเวียนขนาดใหญ่ทั้งชั้นล่างและห้องเล็กชั้นบน มีร้านจำหน่ายของที่ระลึกและผลงานศิลปิน ด้านข้างเป็นร้านอาหาร
‘มาลองเต๊อะ’ ที่เสิร์ฟศิลปะกินได้ด้วยอาหารเหนือสไตล์ฟิวชั่นหน้าตาดี
“ขัวศิลปะเชื่อมคน เชื่อมศิลปะ เชื่อมวัฒนธรรม เป็นแนวคิดหลักของขัวศิลปะมาตลอด 10 ปี เราคือสะพานที่เชื่อมไปสู่สังคม เพื่อให้ทุกคนที่อยู่ในอำเภอ ในจังหวัด ในประเทศ ได้เรียนรู้ศิลปะมากขึ้น ศิลปะไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องปีนบันไดขึ้นไปดู มันดูกันง่ายๆ เข้าใจง่าย ไม่มีอะไรซับซ้อน ไม่มีผิดไม่มีถูก”

อาจารย์สุวิทย์เล่าถึงงานประจำปีที่ต้องจัดเป็นประจำทุกปี โดยใช้ชื่องานว่าขัวศิลปะ เป็นการรวมผลงานของเหล่าพี่น้องศิลปินที่เป็นสมาชิกขัวศิลปะจากทั่วทุกภาคของประเทศมาจัดแสดงร่วมกัน โดยมีการกำหนดธีมงานและแนวคิดแตกต่างกันไปในแต่ละปี ซึ่งปีนี้จัดเป็นครั้งที่ 11
ในหัวข้อเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม
“ขัวศิลปะเปิดรับสมาชิกในวงกว้าง ไม่จำกัดอายุ ไม่จำเป็นต้องทำงานศิลปะ ทำให้สมาชิกมีตั้งแต่ศิลปินรุ่นใหญ่ไปจนถึงเด็กชั้นประถม โดยศิลปินในพื้นที่จริงๆ ประมาณ 300 กว่าคน กับศิลปินที่อยู่ทั่วประเทศและบุคคลทั่วไปที่อยากจะสนับสนุนงานศิลปะอีกประมาณ 800 กว่าคน โดยการสมัครสมาชิกคือการซื้อหุ้นในราคา 2,000 บาทต่อหนึ่งหุ้น รายได้จากการรับสมัครนี้จะนำไปสนับสนุนกิจการสร้างสรรค์ของขัวศิลปะ นอกจากสมาชิกจะได้รับสิทธิพิเศษ เป็นส่วนลดร้านอาหารและสินค้าในร้านของที่ระลึกของขัวศิลปะแล้ว ยังสามารถนำผลงานศิลปะมาร่วมจัดแสดงในงานประจำปีได้อีกด้วย”
มีคำถามเกิดขึ้นบ่อยครั้งว่าทำไมเชียงราย จึงมีศิลปินมากมายกว่าจังหวัดอื่นๆ ซึ่งอาจารย์สุวิทย์ได้ให้มุมมองที่น่าสนใจว่า อาจเป็นเพราะที่นี่มีต้นแบบที่ดีและมีรุ่นพี่ที่ดี อย่างอาจารย์ถวัลย์ อาจารย์เฉลิมชัย แม้ว่าจะมีการแบ่งเป็นกลุ่ม ด้วยศิลปินทุกคนมีอัตตาและอีโก้แตกต่างกัน แต่เมื่อมาอยู่รวมกันในสังคมแห่งนี้ก็สามารถอยู่ได้ เพราะมีรุ่นพี่ที่คอยช่วยเหลือ และที่เชียงรายก็มีกิจกรรมให้ทำบ่อย มีคนประเภทเดียวกันอยู่เยอะ มีความหลากหลายเรื่องงานศิลปะ กลายเป็นแม่เหล็กแห่งวงการศิลปะ เมื่อพูดถึงศิลปะต้องนึกถึงเชียงราย



ศิลปะรับใช้สังคม
“พวกเราศิลปินยินดีมาช่วยงานกันได้
ไม่ได้เลือกทำเฉพาะกับงานส่วนตัวเท่านั้น
เราสามารถมารวมกัน ทำงานร่วมกับสังคมต่างๆ ได้”
ขัวศิลปะสร้างสรรค์ผลงานมาอย่างต่อเนื่อง สร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง โดยกลุ่มศิลปินได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับงานต่างๆ ในสังคม อาทิ งานกีฬาแห่งชาติที่จังหวัดเชียงราย เป็นเจ้าภาพครั้งที่ 46 ‘เจียงฮายเกมส์’งานภาพวาดประวัติศาสตร์ ‘The Heroes’ ที่บันทึกเหตุการณ์และผู้เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือ 13 หมูป่า ที่วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน รวมทั้งสร้างประติมากรรมรูปปั้นจ่าแซม เพื่อนำไปติดตั้งที่หน้าศาลาอนุสรณ์สถาน ถ้ำหลวง
“เราทำงานกับชุมชนมาโดยตลอด เราทำกิจกรรมส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) 4-5 ครั้งต่อปี เข้าไปทำร่วมกับชุมชนทั้ง 18 อำเภอในเชียงราย ในเชิงรับ เรารับน้องๆ เข้ามาดูงานที่หอศิลป์พร้อมมีคำอธิบายจากศิลปิน สำหรับเชิงรุก เราพาทีมศิลปินออกไปทำกิจกรรมตามโรงเรียน ในกลุ่มสถาบันการศึกษาระดับประถมและมัธยม เพื่อให้น้องๆ ได้เรียนรู้เรื่องสุนทรียะการวาดภาพ เราเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ให้หมด เพื่อให้เด็กๆ ได้มาสนุกกับงานศิลปะ ในส่วนของชุมชน เราเคยไปวาดภาพให้กับทางสาธารณะ เช่น โรงเรียน รั้วกำแพง ที่เขาอยากให้มันเป็นจุดแลนด์มาร์กเพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว เราเคยพาศิลปินไปวาดภาพบนกำแพงยาวกว่า 15 เมตรที่ดอยช้าง เพื่อว่าหลังโควิดเมื่อการท่องเที่ยวกลับมา จะได้กลายเป็นแลนด์มาร์กให้เข้ามาถ่ายรูปและแชร์บนสื่อโซเชียล ทั้งนี้เพราะชุมชนเข้าใจและเห็นว่าศิลปะบูรณาการการท่องเที่ยวให้เขาได้ ทั้งหมดนี้ล้วนเกิดจากความร่วมแรงร่วมใจกันของบรรดาพี่น้องศิลปินเชียงราย พวกเราศิลปินยินดีมาช่วยงานกันได้ ไม่ได้เลือกทำเฉพาะกับงานส่วนตัวเท่านั้น เราสามารถมารวมกัน ทำงานร่วมกับสังคมต่างๆ ได้ ให้ทุกคนรู้จักว่า ศิลปะรับใช้สังคมอย่างไร”

ศิลปะกับโควิด
ในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด นักท่องเที่ยวน้อยลงมาก อาจารย์สุวิทย์บอกว่า ขัวศิลปะเป็นสถานที่ที่ถูกสั่งปิดเพื่อป้องกันการ
แพร่ระบาด และศิลปินต้องทำงานอยู่ที่บ้านของตัวเอง
“รายได้หลักของเรามาจากการจำหน่ายผลงานของศิลปิน โดยหักค่าบริการฝากขาย 30% แต่พอโควิด นักสะสมเดินทางมาไม่ได้ ศิลปินก็เอางานมาวางขายไม่ได้ ต้องหันมาใช้สื่อออนไลน์มากขึ้น จากเดิมมีเฟซบุ๊กเพจหลัก ที่ใช้เป็นสื่อประชาสัมพันธ์ทั่วไปของหอศิลป์ เราได้เปิดอีกเพจหนึ่งชื่อว่า artbridge.online เพื่อให้ศิลปินได้นำผลงานส่งเป็นไฟล์ภาพพร้อมรายละเอียดมาขาย พอขายได้แล้วทางเพจจะแจ้งให้ศิลปินส่งของให้ลูกค้าและโอนเงินให้ โดยที่ศิลปินไม่ต้องเดินทางและหักค่าบริการเพียง 10% เท่านั้น จากเมื่อก่อนที่นักสะสมต้องมาซื้องานที่นี่ แต่ตอนนี้สามารถดูและเลือกซื้องานได้จากทั่วโลก ทำให้ช่วงโควิดก็ถือเป็นช่วงเวลาที่ไม่ได้แย่มากนัก โดยผู้ที่จุดประกายคนแรก ก็คืออาจารย์เฉลิมชัยที่ตั้งเพจขึ้นมาแล้วให้ทุกคนเขียนรูป พอขายได้จะหักเปอร์เซ็นต์เอาไปมอบให้กับโรงพยาบาล อาจารย์เชิญชวนนักสะสมจากทั่วทุกแห่งมาซื้อ ศิลปินก็ขายดิบขายดีเพราะเงินส่วนหนึ่งนำไปทำบุญ แม้จะได้เงินไม่มาก แต่ก็ภูมิใจที่ได้ทำบุญ ถือเป็นการช่วยเหลือสังคมโดยที่ศิลปินทำงานอยู่
ที่บ้านก็ได้”
“ผมพาทีมงานไปถ่ายทำชีวิตของศิลปินที่บ้านของเขา ถ่ายทอดการทำงาน ชีวิตการเป็นอยู่ ศิลปินบอกว่าการกักตัว ทำให้มีสมาธิจดจ่อกับงาน มีเวลามากขึ้น ทำงานได้มากกว่าปกติ เราจะวางแผนเป็นเส้นทาง เช่น ถ้าไปเส้นทางเวียงป่าเป้า มีศิลปินกี่คน ท่านใดบ้าง สัมภาษณ์ไปด้วยทำงานไปด้วย ได้วันละ 4-5 ราย แล้วออกอากาศวันละคน ศิลปินจะรู้สึกมีค่าและสนุกไปด้วย ตอนนี้ศิลปินปรับตัวเรื่องเทคโนโลยีมากขึ้น ขายผลงานบนเฟซบุ๊กได้เองแล้ว”

อาจารย์สุวิทย์เล่าถึงโครงการที่กำลังจะขยับขยายในเร็วๆ นี้ว่า สมาคมขัวศิลปะ กำลังจะขยายไปอยู่ในพื้นที่ใหม่ ตรงข้ามกับสนามบินเชียงราย มีเนื้อที่ประมาณ 10 กว่าไร่ โดยอาจารย์เฉลิมชัยเป็นผู้ดูแลค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างทั้งหมด พื้นที่โครงการ แบ่งออกเป็น 2 ระยะ ส่วนแรก ใช้พื้นที่ประมาณ 4 ไร่ ออกแบบให้เป็นอาคารสำหรับจัดแสดงงานนิทรรศการ โดยแบ่งย่อยเป็นห้องต่างๆ มีทั้ง ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ครบวงจรในที่เดียว และตั้งใจจะให้เสร็จทันการจัดงาน Thailand Biennale ที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 ส่วนพื้นที่ที่เหลือออกแบบเป็น โรงละคร ห้องจัดแสดงงานถาวร ห้องประชุมสัมมนา ที่พัก และด้านหลังของโครงการ จะทำเป็นหมู่บ้านศิลปินจำนวน 30 แปลง โดยศิลปินผู้สนใจจะต้องมีคุณสมบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด

ศิลปะกับอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
คุณผัก – วัจนีย์ บุญเจ็น ผู้จัดการขัวศิลปะ ได้พูดถึงการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านศิลปะให้แก่น้องๆ คนรุ่นใหม่ว่า ขัวศิลปะพยายามผลักดันให้มีการต่อยอดการเรียนรู้ รุ่นพี่ดันรุ่นน้องเป็นขั้นบันได ส่งเสริมสำนึกรักบ้านเกิด อยากให้น้องๆ ที่เรียนจบแล้ว อยู่เชียงรายให้ได้มากที่สุด หรือถ้าออกไปสร้างชื่อเสียงก็อยากให้กลับมาพัฒนา หรือเพิ่มศักยภาพที่บ้านเกิดตัวเอง กลับมาทดแทนบุญคุณแผ่นดิน โดยมุ่งเน้นการปลูกฝังในเยาวชน เมื่อเด็กๆ เข้าใจแล้วก็จะบอกต่อพ่อแม่และคนรอบข้างได้ ซึ่งจะมีการจัดหาทุนเพื่อให้น้องๆ ได้เพิ่มศักยภาพมากขึ้น ดึงให้มาทำกิจกรรมให้ได้มากที่สุด ทำให้รู้สึกว่าศิลปะเป็นเรื่องของทุกคน และศิลปะอยู่ในชีวิตประจำวันเสมอ ดังที่อาจารย์เฉลิมชัยได้เคยสอนไว้
คุณผักเล่าถึงโครงการที่ผ่านมาของขัวศิลปะที่ทำให้มีชื่อเป็นที่รู้จักมากขึ้น จากการวาดภาพ ‘The Heroes’ และเจียงฮายเกมส์
“ศิลปินไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับงานหน้าถ้ำ เราทำสิ่งที่เราถนัดก็คืองานศิลปะ เราบันทึกภาพประวัติศาสตร์เหล่านั้น ให้เป็นที่จดจำและอยู่ได้นานมากขึ้นเท่านั้นเอง ตอนนั้นยังไม่เจอเด็ก แต่มีการออกสื่อ คนเห็นข่าวที่ศิลปินจำนวนมากมาร่วมกันวาดรูป ‘The Heroes’ ก็ส่งข้าวส่งน้ำมาให้กำลังใจ ทั้งศิลปินเชียงรายและจังหวัดใกล้เคียงมาร่วมกันวาดเยอะมากจริงๆ มาช่วยแต้ม มาช่วยเก็บภาพให้มันสมบูรณ์ขึ้น ตอนนี้จัดแสดงที่ถ้ำหลวง หลังจากนั้นคนเริ่มเข้าใจวัตถุประสงค์ในการทำงานของเรามากขึ้น ต่อมาเราได้ร่วมงานกับจังหวัดเชียงรายทำงานเจียงฮายเกมส์ เป็นครั้งแรกที่กีฬาแห่งชาตินำกีฬามาผนวกกับศิลปะ เรามีส่วนร่วมในการออกแบบต่างๆ ภาพรวมทำให้งานดูมีรสนิยมมากขึ้น ใช้ศิลปะสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่การจัดงาน ดึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้ง 18 อำเภอ เข้ามาทำให้งานมีความสร้างสรรค์และร่วมสมัยด้วยขบวนต้อนรับนักกีฬาที่แต่ละอำเภอส่งเข้าประกวด”
เมื่อถามถึงงานใหญ่ที่จะจัดในปีหน้า Thailand Biennale 2023 ที่จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย คุณผักบอกว่าเป็นมหกรรมศิลปะนานาชาติ ก่อนหน้านี้จัดที่กระบี่และโคราชมาแล้ว โดยแต่ละที่จะมีจุดเด่นที่แตกต่างกันไป
“เชียงรายจะมีการรวมตัวของศิลปินมากที่สุด การทำงานร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชน ถือเป็นความท้าทาย เราต้องหาจุดตรงกลางที่ทำให้ทั้งหมดทำงานร่วมกันได้ และเกิดประโยชน์ต่อชุมชน ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ทุกฝ่ายได้เข้าใจและเห็นถึงความสำคัญในงานศิลปะ ทำให้งานศิลปะเข้าถึงได้ง่าย เพียงแต่ต้องเข้าใจว่าจะใช้มันอย่างไร”
แกลลอรี่
ขัวศิลปะ
ที่ตั้ง : 551 ม.1 ถ.พหลโยธิน ต.บ้านดู่ อ.เมือง จ.เชียยงราย 57100
เวลาทำการ : ทุกวัน จันทร์-อาทิตย์ เวลา 10.00-17.00 น.
โทรศัพท์ : 053 166 623, 088 418 5431
Facebook : ArtBridgeChiangRai
Email: [email protected]