งานจักสาน ที่เป็นเหมือนหัวใจของชุมชนวัยเกษียณแห่งบ้านป่าบง
ป่าบง หมายถึงป่าไผ่ วิถีชีวิตของชาวบ้านป่าบงส่วนใหญ่ จะมีความผูกพันกับไม้ไผ่กันมาหลายชั่วคน เครื่องมือเครื่องไม้อุปกรณ์ในการดำเนินชีวิตต่างๆ ล้วนแต่จะผลิตมาจากไม้ไผ่ทั้งสิ้น ในยามว่างเว้นจากการทำนาทำไร่ คนเฒ่าคนแก่ก็จะเหลาตอก สานกระบุงตะกร้าไว้ใช้เอง แล้วนำไปยังหมู่บ้านอื่นๆ จนจักสานบ้านป่าบง ของบ้านแม่เขียว ข้องหลวง ได้รับการยกย่องให้เป็นหมู่บ้านผลิตสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ในด้านการจักสานของอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่
“ฝรั่งเค้าว่างานจักสานของบ้านเรา นี่คืองานมีชีวิต”
ป้าสุข – ทองสุข แก้วสมุทร ทายาทรุ่นที่ 3 ของกลุ่มจักสานบ้านป่าบง ยิ้มอย่างอารมณ์ดี ขณะที่มือป้าสุขก็ทำงานไปอย่างคล่องแคล่ว ภาษาเมืองง่ายๆ ถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นมาของแม่เขียว ข้องหลวง
“ยายเขียว เป็นแม่ของป้าสุขเอง เมื่อก่อนยายเขียวจะสานข้องดักปลาที่เป็นของใช้ภายในบ้าน เวลาชาวบ้านแถวนี้ออกไปหาปลาก็จะมาซื้อที่ยายเขียว และเมื่อ 40 ปีที่แล้ว มีคนญี่ปุ่นเขามาสั่งยายเขียวทำข้องหลวง หรือข้องอันใหญ่ๆ นี่แหล่ะ พอทำเสร็จก็ส่งไปญี่ปุ่น ชาวบ้านเค้าก็เลยเรียกว่า ‘ยายเขียวข้องหลวง’ ตอนนั้นป้าสุขยังเป็นสาวน้อยอยู่นะ ไม่ได้สนใจทำเป็นอาชีพเลย แต่พอเห็นว่างานจักสานบ้านเรามันขายได้ ได้เงินสินะ ก็เลยเกิดแรงบันดาลใจ”

'จักสาน' สายใยแห่งชุมชน
“งานจักสานมันอยู่คู่กับหมู่บ้านมานานแล้ว เมื่อก่อนนี้ป้าสุขทำผ้าแล้วมันเครียด แต่พอมาทำจักสานนี่ได้สมาธิแล้วก็คลายเครียด ได้ช่วย
ชาวบ้านให้มีรายได้ คนแก่อายุ 70 ก็มีรายได้ กระบุงหาบเนี่ยเป็นเอกลักษณ์ของป่าบงเลย ใครจะใช้กระบุงหาบต้องมาป่าบงเพราะมีที่เดียว หลักๆ จะมี 3 ขนาด เล็ก กลาง ใหญ่ ขึ้นอยู่กับการใช้งาน ถ้าเอาไปใส่ข้าวก็ขนาดหนึ่ง ไปตลาดก็อีกขนาด ไปทำบุญก็อีกแบบ แล้วแต่ความต้องการ ไม้ไผ่ที่ใช้ทำก็จะสั่งมาจากแถวแม่ออน สันกำแพง ดอยสะเก็ด เพราะแถวบ้านเราเริ่มขาดแคลนไม้ไผ่แล้ว”
ป้าสุขเล่าขั้นตอนการจักสานที่ฟังดูเหมือนง่าย หากแต่ต้องใช้เวลา ความตั้งใจและความอดทน ป้าสุขบอกว่างานบางอย่างต้องใช้คนหนุ่มสาวทำ โดยจะแยกงานกันตามความถนัดของแต่ละคน บางคนถนัดขึ้นรูป บางคนถนัดงานละเอียด อย่าง เช่น พวงมาลัยจากไม้ไผ่ เป็นงานละเอียดมาก ตอนนี้มีคนทำอยู่คนเดียวคือแม่รัตน์ สำหรับคุณยายเขียววัย 90 ปี ยังคงแข็งแรงและทำงานสานข้องใบเล็กกับอยู่กับคุณตาทุกวัน
“เวลาทำกระบุง จะเริ่มจากการจักก่อน คือการผ่าไม้ไผ่ให้แตก แยกออกเป็นเส้น เป็นซี่บางๆ แล้วเหลาเพื่อลดความคมของไม้ เสร็จแล้วก็เอามาสานขึ้นลายตามแม่แบบ วิธีการก็คือเอาเส้นตอกมาสานกัน ‘ยก’ ขึ้นเส้นหนึ่ง แล้ว ‘ข่ม’ ลงเส้นหนึ่ง ขัดกันสลับไปมา เรียกว่า ‘ลายขัด’ พอสานเสร็จแล้ว ก็เอาไปทำสี เคลือบผิวไม้อีกที ป้องกันไม่ให้แมลงมากินไม้ ทำให้ทน ใช้งานได้นานขึ้น”

สิ่งสามัญที่สำคัญต่อชีวิต
ตอนนี้ป้าสุขและชุมชนได้เริ่มรื้อฟื้นการทำกระบุง และลวดลายแบบโบราณของบ้านป่าบง เพราะลูกค้าชอบรูปแบบนี้ เพียงแต่ต้องใช้เวลาในการทำนานกว่าปกติ และขายแพงมากก็เกรงว่าจะไม่มีคนซื้อ
“กระบุงอันนึงต้องทำกันหลายคน มันมีหลายขั้นตอนกว่าจะเสร็จ เมื่อก่อนเศรษฐกิจดีๆ ขายใบละ 200 สบายมาก ตอนนี้ขายได้แค่ 150 บาทไม่รวมหู แต่งานของบ้านป่าบงนี่ส่งไปขายทั่วประเทศเลยนะ ส่วนใหญ่ลูกค้าจะมารับไปขายต่อ มีหลายจังหวัด แพร่ ลำปาง อ่างทองก็มี”

งานจักสานที่บ้านป่าบง นอกจากลวดลายที่ไม่เหมือนใครแล้ว ความแข็งแรงทนทาน ที่ออกแบบให้เหมาะสมกับการใช้งาน เช่น ลวดลายการพับการสานก็จะไม่เหมือนกัน คืออีกหนึ่งจุดเด่นงานของป่าบง
“ลายของบ้านป่าบง จะมี ลายสองมีดี ลายไพกิ๊ว และก็ลายไพคัง เป็นลายเฉพาะของที่นี่เลย ที่ไหนก็ไม่มี จะสานอยากหน่อย ต้องใช้สามเส้นเกี่ยวกันเพื่อความแข็งแรง มันเป็นความฉลาดของคนสมัยก่อน เวลาเอาไปใส่ของ เอาไปหาบข้าวก็จะไม่หัก เพราะมีหวายประคองไว้อีกทีหนึ่ง แต่ถ้าเอาไปแช่ข้าว ก็จะสานอีกลายนึง ตอนนี้ก็กำลังรื้อฟื้นการทำลายแบบโบราณขึ้นมาใหม่”


ป้าสุข ผู้มีความสุขทุกวัน
ป้าสุขเล่าว่าช่วงก่อนโควิด ผลิตภัณฑ์จักสานของบ้านป่าบงจะขายดีมาก โดยเฉพาะช่วงเทศกาล ทำกันแทบไม่ทัน เพราะบริษัทห้างร้านจะมาสั่งทำกระเช้าเพื่อเอาไปจัดของขวัญ แต่พอช่วงโควิดก็จะขายได้น้อยลง แต่ก็ยังอยู่ได้ เพราะทำกันเองแบบชาวบ้าน ไม่ได้ทำเป็นแบบธุรกิจ
ซึ่งตอนนี้จะทำตามความต้องการและคำสั่งซื้อของลูกค้าไปก่อน
“จริงๆ แล้ว ถ้าใจรักงานแบบนี้ ทำแล้วก็จะมีความสุข คลายเครียดด้วย ยิ่งคนเกษียณอายุแล้วควรมาทำ คลายเครียด ลดความดันได้เลย
ช่วยเรื่องสมาธิความจำ อย่างอัลไซเมอร์นี่ก็ช่วยได้นะ”
ป้าสุข ทำงานตลอด 365 วัน แบบไม่เคยหยุด และมีความสุขที่ได้ทำงานที่รัก
“เวลาที่ป้าทำงาน เวลาที่คิดลายใหม่ๆ ได้ แล้วทำได้ด้วย ก็จะมีความสุข ยิ่งลูกค้าชอบ ยิ่งมีความสุขมาก”
แกลลอรี่
จักสานบ้านป่าบง
ที่ตั้ง : ต.ป่าบง อ.สารภี จ.เชียงใหม่ 50140
โทรศัพท์ : 089 433 2812
Email: [email protected]