sa'lahmade

ชวนหลงเซรามิค

สารพัดงานเซรามิกที่มีจุดเริ่มต้นมาจากหนังสือเล่มเดียว
เปลี่ยนผ่านสู่บริบทใหม่ ชวนให้หลงใหลยิ่งกว่าเดิม

      ชวนหลงเซรามิค หรือ ‘เตาชวนหลง’ คือโรงงานเซรามิกในลำพูน ที่ยังคงขึ้นรูปและวาดลายด้วยมือโดยช่างฝีมือท้องถิ่น ของ

คุณเก่ง – กิตติกร กาญจนคูหา ทายาทผู้รับช่วงต่อจากคุณอุทัยย์ กาญจนคูหา ศิลปินล้านนาผู้ริเริ่มการอนุรักษ์ศิลปะโบราณด้วยการเลียนแบบ

ให้มีลายเส้นงดงามไม่แพ้ของดั้งเดิม

     “แต่ก่อนคุณพ่อทำค้าขายเสื้อผ้าแบบซื้อมาขายไป แต่พอมีการแข่งขันสูง ใครมีทุนมากก็สามารถซื้อมาขายได้ง่ายๆ คุณพ่อเลยมองหา

สิ่งใหม่ๆ ที่จะสร้างเป็นผลงานของตัวเอง ด้วยความบังเอิญได้อ่านตำราเล่มหนึ่งที่เกี่ยวกับเครื่องเคลือบดินเผาสีเขียวไข่กาซึ่งก็คืองานศิลาดล ด้วยความที่มีใจรักด้านงานศิลปะอยู่แล้ว คุณพ่อจึงลงเรียนหลักสูตรเกี่ยวกับงานเซรามิก ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นคอร์สสั้นๆ ประมาณ 

2 สัปดาห์ หลังจากนั้นก็หาซื้ออุปกรณ์รวมถึงเตาเผามือสองจากแหล่งเซรามิกจังหวัดลำปาง ด้วยความตั้งใจและใฝ่หาความรู้อยู่เสมอ จึงเกิดความคิดสร้างสรรค์ผลงาน ที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง โดยมีแรงบันดาลใจจากความรู้เกี่ยวกับแหล่งเตาโบราณ เตาสุโขทัย เตาเวียงกาหลง 

เตาสังคโลก เน้นไปทางศิลปะไทย เพื่อเป็นการอนุรักษ์ลวดลายไทยโบราณให้คงอยู่”

      คุณเก่งเล่าถึงที่มาของชื่อโรงงานเซรามิกแห่งนี้ว่า ‘ชวนหลง’ ไม่ใช่ภาษาจีน หากแต่เป็นการผวนคำมาจากคำว่า หลงฉวน ซึ่งเป็นชื่อตำบลหนึ่งในประเทศจีน ที่เป็นแหล่งผลิตศิลาดล อีกทั้งออกเสียงคล้ายภาษาจีนและมีความหมายที่ดีในภาษาไทย คือ ชวนให้หลงใหล 

ปรับตัวตามยุคสมัย สู่บริบทใหม่แห่งการเติบโต

      ชิ้นงานในยุคแรกของชวนหลง จะวาดเป็นลวดลายไทยที่ผสานความเป็นล้านนาเอาไว้ด้วย เพราะอิงจากประวัติศาสตร์ของสุโขทัย สังคโลก เวียงกาหลง ซึ่งถือว่าอยู่ในเขตล้านนา สมัยนั้นยังไม่ค่อยมีคนทำของเลียนแบบงานโบราณ หรือ reproduction ที่ทำชิ้นงานขึ้นใหม่แต่ทำให้เหมือนของโบราณมากที่สุด ชวนหลงเป็นรายแรกๆ ที่ทำ และชาวต่างชาติก็ชื่นชอบมากเพราะมีความเหมือนจริง แต่พอความนิยมของโลกเปลี่ยนไป เป็นช่วงเวลาที่คุณเก่งเพิ่งกลับมาจากการศึกษาต่อที่ต่างประเทศ ได้มองเห็นถึงความต้องการของตลาดตามแบบฉบับของคนรุ่นใหม่ จึงปรับโฉมเปลี่ยนรูปลักษณ์ แต่ยังคงความเป็นชวนหลงอยู่ในทุกรายละเอียด

     “ผมเป็นลูกชายคนโต เห็นคุณพ่อทำธุรกิจนี้มานาน อายุก็มากขึ้น ถ้าไม่มีคนมาสานต่อ งานศิลปะที่ท่านทำมาตลอดก็จะสูญหายไป คนงานกว่า 60 ชีวิต ซึ่งเป็นแรงงานท้องถิ่นก็จะตกงานไปด้วย ผมมีคุณพ่อเป็นแบบอย่าง ช่วงแรกที่เข้ามาทำงานก็ต้องปรับตัวพอสมควร เพราะไม่ใช่

สิ่งที่เรียนมา แต่อาศัยฟังข้อเสนอแนะจากลูกค้านำมาพัฒนา เริ่มลดงานรูปแบบโบราณลง ปรับลวดลายให้ทันสมัยมากขึ้น เพิ่มความเป็นยุโรปเข้ามา การลดรายละเอียดลง ช่วยให้เราทำงานเร็วและง่ายขึ้น ต้นทุนก็ลดลงด้วย แต่สิ่งสำคัญคือเรายังคงเอกลักษณ์ความเป็นชวนหลงและความเป็นล้านนาอยู่”

      คุณเก่งอธิบายกระบวนการทำเซรามิกให้ฟังว่า การเตรียมดิน คือสิ่งแรกที่ต้องทำ ที่นี่ใช้ดินจากแหล่งท้องถิ่น ได้แก่ จังหวัดลำพูน ลำปาง

และเชียงใหม่ นำดินมาผสมกันในสัดส่วนที่เหมาะสม กลายเป็นสูตรดินคุณภาพที่มีลักษณะ เฉพาะของชวนหลง แล้วนำดินไปขึ้นรูป ซึ่งทำได้ 

2 แบบคือ การขึ้นรูปด้วยแป้นหมุน ช่างต้องมีความชำนาญ มีความสามารถในการดึงก้อนดินขึ้นมาเป็นชิ้นงาน และการขึ้นรูปด้วยแม่พิมพ์ โดยใช้แม่พิมพ์ปูนปลาสเตอร์ ซึ่งดินจะถูกเตรียมในรูปของน้ำดินเหลว เทลงในแม่พิมพ์ แล้วรอให้ชิ้นงานอยู่ตัวดี จึงปล่อยน้ำดินออก แกะออกจากแม่พิมพ์ หลังจากนั้นจะถูกปล่อยให้แห้ง แล้วนำเข้าเตาเผาใช้ความร้อนประมาณ 850 องศาเซลเซียส เรียกว่า ‘การเผาบิสกิต’ ถ้าเป็นชิ้นงานที่ต้องนำไปวาดลาย จะถูกส่งไปยังแผนกวาดลาย ก่อนนำไปเคลือบ โดยใช้ออกไซด์ธรรมชาติในการผสมเป็นตัวน้ำเคลือบ ทำให้ได้เอ็ฟเฟ็ค

แปลกใหม่ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชวนหลง เมื่อเคลือบแล้วจะถูกนำเข้าเตาเผาอีกครั้งในอุณหภูมิ 1,250 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 8 ชั่วโมง 

ระยะเวลาในการทำงาน ขึ้นอยู่กับขนาดของชิ้นงานและความละเอียดของลวดลาย ซึ่งอยู่ประมาณ 3-4 วันไปจนถึงหลักเดือน

ฝีมือสร้างความยั่งยืน

      “เราโชคดีที่มีทีมงาน ที่มีความสามารถทำผลงานได้หลากหลาย เป็นช่างฝีมือท้องถิ่นที่อยู่ด้วยกันมานาน ทำให้งานทุกชิ้นเป็นงานแฮนด์เมดที่มีความโดดเด่น แตกต่างจากตลาดทั่วไปอย่างชัดเจน คือ โดดเด่นด้วยงานวาดลาย งานปั้นติดบนตัวภาชนะ งานปั้นลอยตัว งานที่เป็น

องค์พระพิฆเนศ และงานมาสเตอร์พีซ ซึ่งมีเพียงชิ้นเดียวและไม่ทำซ้ำอีก หรือลูกค้าจะเลือกซื้อสินค้าที่โรงงานออกแบบไว้อยู่แล้วก็ได้ ยังสั่งทำตามออร์เดอร์ได้อีกด้วย ซึ่งผมและคุณพ่อจะเป็นผู้ออกแบบหลัก และช่างฝีมือก็จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาชิ้นงานต่อไป” 

       นอกจากชวนหลงจะสนับสนุนแรงงานท้องถิ่นเป็นหลักแล้ว ยังสนับสนุนแรงงานผู้สูงอายุและผู้พิการในท้องถิ่นอีกด้วย โดยพยายามส่งเสริมให้คนมาทำงานด้านนี้กันมากๆ ลูกหลานของพนักงานเองก็สามารถเข้ามาทำงานเสริมในช่วงปิดเทอมได้ และกำลังจะเปิดคอร์สสอนศิลปะ ที่เป็นองค์ความรู้ด้านเซรามิกให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่สนใจเข้ามาศึกษา ช่วยต่อยอดการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมสืบต่อไป

ก้าวข้ามขีดจำกัดการเป็นแค่ภาชนะ

“ถ้าเรามองเขาเป็นคู่แข่ง ก็มีแต่จะต้องต่อสู้กันตลอด
แต่ถ้ามองคู่แข่งให้เป็นเหมือนคู่ค้าของเรา ก็จะสามารถช่วยเหลือกันได้”

     “ในช่วงเริ่มต้นของการทำโรงงาน คุณพ่อพยายามพาผลงานเซรามิกไปออกร้านตามงานแสดงสินค้าต่างๆ เพื่อให้ลูกค้ารู้จักเรา แต่มาค้นพบว่า การส่งผลงานเข้าประกวด ก็คือสิ่งที่จะทำให้เราเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงเร็วที่สุด ยุคนั้นยังเป็นงานเลียนแบบของโบราณ ยุคสังคโลก สุโขทัย เวียงกาหลง ด้วยลวดลายที่อ่อนช้อย พลิ้วไหวในทุกรายละเอียด ทำให้เราชนะการประกวดหลายปีซ้อน รางวัลสูงสุดแห่งความภาคภูมิใจก็คือ รางวัล Prime Minister’s Export Award 2012 ล่าสุดเราได้ส่ง ‘องค์พระมหาคเณศ ปางไสยาตรา’ เข้าประกวด แล้วได้รับคัดสรรเป็นผลิตภัณฑ์ระดับห้าดาว ประเภทของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก ตามโครงการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย พ.ศ. 2562 (OTOP Product Champion) ในส่วนของคุณพ่อเองก็ได้รับยกย่องให้เป็นศิลปิน OTOP เพชรราชภัฎ-เพชรล้านนา ประจำปีพ.ศ. 2565 สาขาศิลปะด้านหัตถกรรม ซึ่งถือว่าเป็นรางวัลสูงสุดของท่าน ณ เวลานี้แล้ว”

      นอกจากผลิตภัณฑ์ที่เป็นภาชนะบนโต๊ะอาหารแล้ว ชวนหลงยังมีของตกแต่งบ้านและสวนกลางแจ้ง สุขภัณฑ์ในห้องน้ำ เก้าอี้เซรามิกที่

ผสมผสานงานไม้สัก งานปั้นองค์พระพิฆเนศเพื่อนำไปบูชา และงานวาดวิถีชีวิตชาวล้านนาบนโอ่ง ที่มีแรงบันดาลใจจากภาพจิตรกรรมฝาผนัง เพื่อถ่ายทอดประเพณีวัฒนธรรมให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ ตลอด 35 ปี บนเส้นทางธุรกิจสายนี้ คุณเก่งมองว่าคู่แข่งทางการค้าคือความท้าทาย 

     “ถ้าเรามองเขาเป็นคู่แข่ง ก็มีแต่จะต้องต่อสู้กันตลอด แต่ถ้ามองคู่แข่งให้เป็นเหมือนคู่ค้าของเรา ก็จะสามารถช่วยเหลือกันได้ เราเป็นพันธมิตรกับทุกโรงงานในลำพูน เชียงใหม่ มีลูกค้าก็แนะนำกัน งานที่เราทำไม่ได้ ก็ส่งต่อให้คู่ค้าของเรา ในขณะเดียวกันงานที่เขาทำไม่ได้ 

เขาก็ส่งต่อมาให้เรา ถือว่าเป็นการตัดอุปสรรคออกไป กลายเป็นสร้างโอกาสเข้ามาแทนที่”

      คุณเก่งเล่าถึงผลกระทบจากช่วงสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ว่า สินค้าของชวนหลงถือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย 80% ซึ่งเป็นงานส่งออก

ต่างประเทศเป็นหลัก จึงถูกแจ้งยกเลิกกะทันหัน อีก 20% ที่ขายภายในประเทศทั้งค้าปลีกและค้าส่ง ก็หยุดชะงัก จนผ่านไป 2-3 เดือน เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น จึงได้ดำเนินการต่อ แต่ก็มาพร้อมกับข้อต่อรองที่ค่อนข้างเสียเปรียบ และตกอยู่ในภาวะจำยอมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในช่วงที่ว่างเว้นจากคำสั่งซื้อ คุณเก่งและทีมงานช่วยกันออกแบบชิ้นงานใหม่ๆ เพื่อให้ลูกค้าได้เห็นความเคลื่อนไหวและเลือกซื้อ โดยโปรโมทผ่านสื่อออนไลน์ทั้งเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม นอกจากนี้ยังได้คิดโครงการ ‘บ้านสวนชวนหลง’ บนพื้นที่ด้านหลังของโรงงาน และได้น้องชายคนรอง 

ผู้จบด้านภูมิสถาปัตย์มาช่วยดูแลและดำเนินการ

     “บ้านสวนชวนหลง เป็นโครงการที่คิดมานานแล้ว แต่เพิ่งมีโอกาสได้ทำในช่วงว่างตอนโควิดระบาด ตั้งใจจะทำเป็นที่ถ่ายทอดความรู้ 

สอนปั้นดิน สอนงานศิลปะ วาดลายลงบนชิ้นงาน ซึ่งเป็นงานที่เราทำอยู่แล้ว ส่วนหนึ่งเพื่อให้ลูกค้าได้เรียนรู้กระบวนการการทำเซรามิก 

เห็นคุณค่า และเกิดความภูมิใจในผลงานที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นมา และยังเป็นการต่อยอดธุรกิจ ให้ลูกค้าได้มีทางเลือกในการสร้างชิ้นงานของตัวเอง เป็นกิจกรรมที่คนไทยและคนต่างชาติสามารถมาร่วมได้”

สร้างสรรค์ต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง

      ‘คราฟต์’ สำหรับคุณเก่ง หมายถึงการสร้างสรรค์ชิ้นงานใหม่ๆ ด้วยมือ โดยไม่ลอกเลียนแบบใคร เขามองว่าปัจจุบันการแข่งขันสูง การเข้าถึงสื่อก็ทำได้ง่าย ทุกคนสามารถเอางานของคนอื่น มาเป็นแรงบันดาลใจได้ แต่ต้องต่อยอด ทำให้เกิดสิ่งใหม่ที่เป็นเอกลักษณ์ เป็นงานของเราเอง 

     “เราไม่ได้ตั้งเป้าหมายของแบรนด์ไว้สูงมาก แต่ค่อยทำไปทีละขั้น สร้างสรรค์ชิ้นงานใหม่ออกมาเรื่อยๆ เพื่อให้ลูกค้าเห็นว่าเราไม่ได้หยุดนิ่ง การที่ไม่ได้ตั้งเป้าหมายไว้สูง ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีความกระตือรือร้น เรายังอยากทำให้ลูกค้าตื่นเต้นทุกครั้งที่ได้เห็นผลงานของเรา ยังอยากส่งงานเข้าประกวด และอยากสร้างชิ้นงานที่ส่งต่อไปยังคนรุ่นหลังได้อีกด้วย”

แกลลอรี่

ชวนหลงเซรามิค

ที่ตั้ง : 10 หมู่ 10 ถนนลำพูน-ริมปิง ตำบลริมปิง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน 51000

โทรศัพท์: 053 510 716

Website: www.chuanlhong.com

Facebook : chuanlhong1990

Instagram: chuanlhong_ceramic

Email: [email protected]

ผลิตภัณฑ์แนะนำ

Recommended products

เก้าอี้สตูลเซรามิก

เก้าอี้เซรามิกที่ผสมผสานกับงานไม้สัก ใช้เทคนิคการวาดกั้นยางพาราและใช้สีใต้เคลือบ วาดลวดลายด้วยมือกลายเป็นสตูลที่มีเอกลักษณ์แบบชวนหลง

องค์พระพิฆเนศ 3 เศียร

องค์พระพิฆเนศเซรามิก ปางยอดนิยม ด้วยความเชื่อที่ว่า ท่านจะช่วยประทานศีล สมาธิ และปัญญาให้แก่ผู้ที่กราบไหว้บูชา องค์พระพิฆเนศมีสีสันเรียบง่าย แต่งดงาม