sa'lahmade

เครื่องปั้นดินเผาดอยดินแดง

วิถีคราฟต์ที่ต้องสืบทอดของอาจารย์สมลักษณ์ ปันติบุญ

      ดอยดินแดง เป็นดินแดนแห่งศิลปะเครื่องปั้นดินเผาที่เริ่มจากผืนดินว่างเปล่าของ อาจารย์สมลักษณ์ ปันติบุญ ผู้ให้นิยามตัวเองว่าเป็นช่างปั้น (Potter) แม้ว่าในความเป็นจริงจะเป็นทั้งศิลปินผู้สร้างสรรค์งานศิลปะ เป็นทั้งครูผู้ถ่ายทอดวิชาเครื่องปั้นดินเผา และเป็นช่างฝีมืองานคราฟต์ที่ผลิตผลงานเพื่อรับใช้ผู้คนมามากมาย

 

ออกเดินสู่ทางฝัน

“การเรียนรู้สอนว่าต้องทำสองสิ่ง คืองานคราฟต์และงานอาร์ต
ซึ่งก็คือของใช้และศิลปะ จึงเกิดเป็นร้านขายของและแกลเลอรี”

      อาจารย์สมลักษณ์ เล่าย้อนกลับไปในอดีต จากเด็กเชียงของผู้หลงใหลในศิลปะ นำพาตัวเองเข้ามาเรียนในเชียงใหม่ ตอนนั้นสาขาวิจิตรศิลป์ยังไม่เปิดสอน สิ่งที่ใกล้เคียงกับศิลปะมากที่สุด กลับเป็นสาขาออกแบบอุตสาหกรรมที่วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตภาคพายัพในขณะนั้น ทั้งเรียนไปด้วยและทำงานในโรงงานเครื่องปั้นดินเผา เพื่อส่งตัวเองเรียนไปด้วย กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานด้านนี้ และเปลี่ยนเป็นความชอบไปโดยปริยาย ชีวิตแห่งการเดินทางได้เริ่มต้นอีกครั้งหลังเรียนจบ เขาได้ย้ายตัวเองไปทำงานที่กรุงเทพฯ และเข้าร่วมกับองค์กรผู้อพยพภายใต้การดูแลของ UNHCR ที่ค่ายอพยพจังหวัดสระแก้ว ทำหน้าที่ดูแลเรื่องเครื่องปั้นดินเผาและสอนศิลปะ 6 ปี ในค่ายทำให้เกิดการตกผลึกทางความคิดบางอย่าง เขาได้ออกเดินทางอีกครั้ง คราวนี้ไปไกลถึงประเทศญี่ปุ่น ระยะเวลา 5 ปีที่นั่น เปิดโลกและพบองค์ความรู้แปลกใหม่ด้านเครื่องปั้นดินเผาอย่างมาก เพราะเมือง Karatsu จังหวัด Saga ที่ไปเล่าเรียนนั้น ขึ้นชื่อเรื่องเครื่องปั้นดินเผามาหลายร้อยปี ในที่สุดก็ถึงเวลากลับบ้านเสียที

      “กลับมาตั้งหลักที่เชียงรายก่อน เริ่มซื้อที่ดิน ตอนนั้นที่นี่ยังเป็นทางเกวียน ไม่มีไฟฟ้า มีบ้านเราหลังเดียว เริ่มทำโรงปั้นจากไม้ที่แม่รื้อจากบ้านเก่าที่เชียงของ เอามาทำเป็นอาคารหลังแรก สำคัญที่สุดคือต้องมีที่ทำงาน ตั้งใจทำที่นี่ให้เป็นโรงเครื่องปั้นดินเผา เริ่มจากการใช้งานของ

เราก่อน เราจะต้องประกอบอาชีพเพื่อเอาตัวให้รอดเสียก่อน การเรียนรู้สอนว่าต้องทำสองสิ่ง คืองานคราฟต์และงานอาร์ต ซึ่งก็คือของใช้

และศิลปะ จึงเกิดเป็นร้านขายของและแกลเลอรี” 

กงล้อแห่งความคิด

“คนทำงานฝีมือที่ดี เมื่อตั้งใจทำงานให้ออกมาดี
ผลงานจะดึงให้คนเข้ามารู้จัก มาสนับสนุน มาสัมผัส มาบริโภค”

      การที่ดอยดินแดงมีชื่อเสียงในแวดวงคนทำงานเครื่องปั้นดินเผานั้น ส่วนหนึ่งมาจากตัวของอาจารย์สมลักษณ์เอง ที่ทุกคนยกให้เป็นศิลปิน

ผู้มีฝีมือเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ แต่เจ้าตัวบอกอย่างถ่อมตัวว่า น่าจะเป็นเพราะที่นี่อยู่มานาน คนจึงรู้จักมากกว่า อีกทั้งจังหวัดเชียงรายไม่ค่อยมีที่ท่องเที่ยวมากนัก คนมาเชียงรายจึงต้องมาแวะที่นี่ เหมือนเป็นทางผ่านเพื่อไปเที่ยวที่อื่นต่อ

      “การเป็นที่รู้จักมันก็ดีตรงที่ได้แบ่งปัน ถึงมันจะไม่ได้เป็นจุดมุ่งหมายที่คิดว่าจะเล็งผลเลิศอะไร แต่วิถีคราฟต์มันต้องมีจิตวิญญาณ คนทำงานฝีมือที่ดี เมื่อตั้งใจทำงานให้ออกมาดี ผลงานจะดึงให้คนเข้ามารู้จัก มาสนับสนุน มาสัมผัส มาบริโภค และยิ่งทำดีอย่างต่อเนื่อง มีพัฒนาการ 

คนก็จะยิ่งเข้าหาด้วยความดีที่ตั้งใจจริง เพราะเขารับรู้ถึงคุณค่า จะทำให้เราอยู่ได้ เมื่ออยู่ได้ก็จะเกิดความคิดสร้างสรรค์ เกิดเป็นผลงานใหม่ๆ มากขึ้น พอมีคนเห็นว่าอยู่ได้ จุดหมายจะคลี่คลาย เกิดการส่งต่อความรู้ กลายเป็นกงล้อ เกิดการหมุนเวียน มีคนรับ มีคนทำ เป็นหลักการของ

อุปสงค์อุปทาน กลายเป็นองคาพยพที่ใหญ่ขึ้นได้ อย่างที่ญี่ปุ่นมีการใช้เครื่องปั้นดินเผาทุกหนแห่ง บนโต๊ะอาหารก็มีหลายชิ้นให้เห็น 

แต่ของมันต้องแตก ต้องเปลี่ยนใหม่ การใช้ของพวกนี้ก็คือการสนับสนุนกัน”

      เมื่อถามถึงแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ชิ้นงาน อาจารย์สมลักษณ์ตอบว่า มาจากอะไรที่ง่ายๆ มาจากอาหาร ดอกไม้ วิถีชีวิตที่เรียบง่าย แม้แต่สิ่งของที่ผูกพัน ของที่เคยมี เช่น เครื่องปั้นดินเผาสังคโลก เตาเกาะน้อยสิงห์บุรี หรือสิ่งที่ได้พบเห็นเมื่อครั้งไปทำงานที่เชียงใหม่

      “งานของเราเน้นการขึ้นรูปด้วยมือ มีความผสมผสานในรูปแบบของความร่วมสมัย สอดแทรกภูมิปัญญากับความเป็นสากลเข้าด้วยกัน เอกลักษณ์น่าจะเป็นเคลือบที่มีสีสันแปลกตา น้ำเคลือบที่มีองค์ความรู้สืบทอดมาแต่โบราณ ผ่านการทดลองบ้าง ได้จากความบังเอิญ

และการสังเกตบ้าง ส่วนผสมหาได้จากของใกล้ตัว เช่น ขี้เถ้าจากฟางข้าว ขี้เถ้าจากไม้ไผ่  ซึ่งเป็นของหาง่ายและเหลือใช้”

      ความท้าทายของอาจารย์สมลักษณ์อยู่ในทุกครั้งที่เปิดเตา เป็นความรู้สึกที่หลากหลายเมื่อได้เห็นงานในขั้นตอนสุดท้ายของตัวเอง 

เป็นความอิ่มในความรู้สึก มีทั้งเศร้าและสุขปนกันไป “วันนี้ดี พรุ่งนี้ไม่ได้เรื่อง บางทีก็อิ่มเวลาเปิดเตา”

สืบสานและส่งต่อ

      อาจารย์สมลักษณ์บอกว่าลูกค้าส่วนใหญ่นอกจากจะเป็นนักท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นกลุ่มโรงแรม ร้านอาหาร ร้านกาแฟ สถาปนิก นักออกแบบตกแต่งภายใน 

      “เราไม่ได้ออกแบบให้ลูกค้า หรือทำตามแบบที่เขาบอกแต่อย่างเดียว การทำงานเป็นลักษณะคิดร่วมกัน ถ้าเราทำตามแบบเขาอย่างเดียว กระบวนการคิดของเราจะไม่มี แต่ถ้าเราคิดร่วมกัน กระบวนการคิดจะเกิดกับทั้งสองฝ่าย เขาได้ของใหม่และเราได้ใช้ความคิด เป็นการอยู่

อย่างยั่งยืน”

การสอนทำให้คราฟต์ยั่งยืน

“วิถีคราฟต์มันยาก คราฟต์ไม่ใช่แฟชั่น จะมาฝึกเท่ๆ ไม่ได้ ต้องเอาจริง”

      นักเรียนของอาจารย์สมลักษณ์มาจากหลากหลายสาขาอาชีพ โดยเลือกถ่ายทอดความรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติจริงให้กับผู้เรียนที่มีความตั้งใจและจริงจัง ด้วยเชื่อว่าทุกคนทำได้ดีเหมือนกัน เพียงแต่จะดีด้านไหน ถ้าดูแล้วว่าเขาอาจจะไม่เหมาะกับทางสายนี้ก็จะรีบบอก เพื่อไม่ให้เสียเวลากับทั้งสองฝ่าย ระยะเวลาของการเรียนรู้ของแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนสามารถออกไปตั้งเตาของตัวเองได้ บางคนมาเพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมประสบการณ์ และบางคนมาเพื่อค้นหาตัวเอง

      “วิถีคราฟต์มันยาก คราฟต์ไม่ใช่แฟชั่น จะมาฝึกเท่ๆ ไม่ได้ ต้องเอาจริง เราไม่ใช่โรงเรียนแต่เป็นโรงงาน ถ้าใจเขาเปิดรับความรู้ เขาจะเห็นว่ามันแทรกอยู่ในการทำงาน ความลับมันอยู่ตรงนั้นทั้งหมด ตั้งแต่การทำดิน การหมักดิน การผสมดิน นวดดิน ทำเคลือบ มันเป็นงานหนัก ไม่ใช่งานเบาและทำชิลๆ ไม่ได้”

       ตลอดระยะเวลา 31 ปีของดอยดินแดง ความผันผวนทางเศรษฐกิจใดๆ ก็ไม่ค่อยส่งผลกระทบต่อโรงงานมากเท่ากับสถานการณ์โควิด ที่ทำให้ทุกอย่างเงียบไปหมด แต่ก็ยังต้องดูแลคนงาน 12 คน ซึ่งหมายถึง 12 ครอบครัว ที่ต้องพากันฝ่าฟันไปให้ได้ ข้อดีคือการที่อาจารย์สมลักษณ์ได้พักจากการสอนงานและมีเวลาให้กับตัวเองมากขึ้น

      “พิพิธภัณฑ์งานคราฟต์บ้านเรายังไม่ค่อยมี จึงตั้งใจจะทำพิพิธภัณฑ์งานคราฟต์เล็กๆ แต่ดี ในสวนที่ผมซื้อไว้ จะจัดแสดงเครื่องปั้นดินเผาของสุโขทัย เครื่องปั้นดินเผาพื้นบ้าน เครื่องเรือน ของที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิต เครื่องปั้น ดินเผาของญี่ปุ่นที่สะสมไว้ และหวังว่าคนที่เคยมาเรียนรู้อยู่ที่นี่จะสืบทอดความรู้ ต่อยอดกันต่อไป หลายคนมีชื่อเสียง คนรุ่นใหม่มีไฟ มีอุดมคติ เราต้องยอมรับว่าเครื่องปั้นดินเผา เป็นอะไรที่

ไม่ควรและไม่เคยพรากจากชีวิตประจำวันของคน มันอยู่ทน ในขณะเดียวกันก็เปราะบาง มันมีเสน่ห์ของมัน”

 

เข้าใจในแก่นแท้

“อาจจะเป็นแฟชั่นบ้างก็ได้ เป็นวิถีใหม่ก็ได้
แต่ไม่ควรทิ้งวิถีของงานคราฟต์ดั้งเดิมที่เป็นช่างฝีมือ
เพราะมันเป็นเรื่องราว เป็นเรื่องเล่า มันอยู่ในวิถีชีวิต”

      “คราฟต์ เป็นอะไรที่ต้องเอาจริงเอาจัง มันอาจจะเป็นแฟชั่นบ้างก็ได้ เป็นวิถีใหม่ก็ได้ แต่ไม่ควรทิ้งวิถีของงานคราฟต์ดั้งเดิมที่เป็นช่างฝีมือ เพราะมันเป็นเรื่องราว เป็นเรื่องเล่า มันอยู่ในวิถีชีวิต ควรประณีตในการทำ ให้อยู่ในวิถีของตัวเอง อย่าไปแต่งย่องจนล้น หรือประดิดประดอย

จนเกินงาม ปล่อยมันเป็นของแท้บ้าง วิถีของคราฟต์มันเป็นเรื่องของความประณีตในการเอาใจใส่ในวิธีของตัวเองด้วย การเป็นอยู่ หลักคิด 

มันมีปรัชญาของมัน มีการสืบทอด แต่เราต้องเข้าใจกระบวนการด้วย เข้าใจในวัตถุดิบ กระบวนการเป็นอยู่โดยเฉพาะของดิน ดินต้องผสมอะไร มันมีชีวิตอย่างไร การสัมผัสดินเป็นอย่างไร ความรู้สึกอย่างไรที่เรียกว่าความรู้สึกของดิน”

      เมื่อถามถึงเป้าหมายของดอยดินแดง อาจารย์สมลักษณ์กล่าวทิ้งท้ายเอาไว้ว่า “ผมมองเป้าหมายไว้แบบช็อตต่อช็อต มองงานที่อยู่ตรงหน้า ทำงานให้ดีขึ้น ตั้งใจจะทำงานให้ออกมาดี เพราะงานที่ดีมันเป็นจริตของเรา มันมาจากข้างใน”

แกลลอรี่

เครื่องปั้นดินเผาดอยดินแดง

ที่ตั้ง : 49 หมู่ 6 ซอย 3 บ้านป่าอ้อ ถ.พหลโยธิน อ.เมือง จ.เชียงราย 57100

เวลาทำการ : วันจันทร์-วันเสาร์ เวลา 08.00 – 17.00 น. หยุดทุกวันอาทิตย์

โทรศัพท์ : 053 705291

Facebook : doydindangpotter

Email: [email protected]

ผลิตภัณฑ์แนะนำ

Recommended products

ชุดชามสลัด

ออกแบบโดยคำนึงถึงผู้ใช้งานหลักซึ่งส่วนใหญ่ก็คือแม่บ้าน ชามสลัดชุดนี้จึงมีทั้งความบางและน้ำหนักที่เบา สะดวกต่อการใช้ ง่ายต่อการล้าง มีหลายขนาดให้เลือก

ถ้วยเซรามิก

ใช้น้ำเคลือบที่ทำจากธรรมชาติใกล้ตัว คือขี้เถ้าของฟางข้าวผสมกับขี้เถ้าไม้ไผ่
ซึ่งหาง่ายและเป็นของเหลือใช้ แต่ให้สีสันสวยงาม ถือเป็นงานศิลาดลอย่างหนึ่ง