งานคราฟต์จากยอดดอย สู่ความยั่งยืนของชุมชน
ดอยตุง คือแบรนด์ธุรกิจเพื่อสังคม ดำเนินงานโดยโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีเป้าหมายที่จะเป็นธุรกิจที่ทำให้โลกดีขึ้น นอกจากจะมุ่งทำธุรกิจที่ช่วยลดช่องว่างทางสังคมแล้ว ยังมุ่งหวังที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสร้างผู้นำรุ่นใหม่ที่มีความรับผิดชอบบนพื้นฐานของประโยชน์ส่วนรวมในระยะยาว
ดังนั้นผลิตภัณฑ์ที่แท้จริงในการทำธุรกิจของดอยตุง คือ คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็น การเข้าถึงปัจจัยพื้นฐาน การศึกษาที่มีคุณภาพ อาชีพที่มีศักดิ์ศรี ความมั่นคงและความสุขในการดำรงชีวิต
โดยแบรนด์ดอยตุงแบ่งออกเป็น 5 ธุรกิจย่อย ได้แก่ กาแฟและแมคคาเดเมีย หัตถกรรม คาเฟ่ดอยตุง ท่องเที่ยว และเกษตร มาฟังเรื่อง
คราฟต์ของดอยตุง ผ่านมุมมองของคุณพีระ ตันเถียร ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหารมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์

Lifestyle for Livelihood
คุณพีระเล่าว่า แบรนด์ดอยตุง ก่อตั้งมาแล้ว 15 ปี ด้วยจุดประสงค์ที่ต้องการให้เป็นพื้นที่ที่มีแบรนด์สำหรับช่วยให้ชาวเขาและชุมชน ได้ผลิตและจำหน่ายสินค้าของตัวเอง และงานหัตถกรรมก็คือ หนึ่งใน 5 ของธุรกิจย่อยภายใต้แบรนด์ดอยตุง
“การทำผลิตภัณฑ์ด้านงานหัตถกรรม เริ่มต้นมาจากความต้องการ ที่อยากจะทำให้ชาวบ้านหรือชุมชนมีอาชีพทดแทนการปลูกพืชเสพติด ภายใต้แนวคิดหลัก Lifestyle for Livelihood และภารกิจที่ต้องการสร้างอาชีพให้ชาวบ้าน มีรายได้มากพอที่จะทดแทนการปลูกฝิ่น ทำให้สินค้าในยุคแรกๆ น่าจะเป็นงานทอผ้า เพราะก่อนหน้านั้น ได้พยายามให้ชาวบ้านปลูกกาแฟ และแมคคาเดเมียก่อน ส่วนชาวบ้านผู้หญิง เราเห็นว่าเขาทอผ้า ทำงานเย็บปักถักร้อยอยู่แล้ว เราจึงตั้งโรงทอผ้าขึ้น เพื่อให้พวกเขาได้ฝึกทักษะเพิ่ม ต่อยอดภูมิปัญญาดั้งเดิมและสามารถทอผ้าขายได้ โดยเราเชิญผู้เชี่ยวชาญมาจากหลายๆ ประเทศ สอนเรื่องการออกแบบ ปรับปรุงวิธีการทอ จากเดิมที่ชาวบ้านทอผ้าด้วยกี่ทออันเล็ก พัฒนามาเป็นกี่ทอผ้าขนาดใหญ่ ที่สามารถทอผ้าหน้ากว้างได้ นอกจากนี้ยังสอนเรื่องการดูแพตเทิร์น การวางลายผ้า ตลอดจนใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่นการออกแบบด้วยคอมพิวเตอร์ หลังจากส่งเสริมงานทอผ้าจนกลายมาเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูปแล้ว ยังเพิ่มงานกระดาษสา งานเซรามิก และการทำพรมด้วยเทคนิคการยิงและสาน ส่วนใหญ่เน้นเป็นสินค้าไลฟ์สไตล์ที่เป็นได้ทั้งของใช้และของแต่งบ้าน”


ลูกค้าส่วนใหญ่ของแบรนด์ดอยตุง คือผู้ที่สนใจและชื่นชอบในงานหัตถกรรม งานคราฟต์ งานทำมือ เพราะผลิตภัณฑ์เป็นงานแฮนด์เมด
สมัยก่อนกลุ่มเป้าหมายค่อนข้างมีอายุ เป็นกลุ่มวัยทำงาน อายุประมาณ 40-50 ปีขึ้นไป แต่ในปัจจุบันแบรนด์ดอยตุงมีความทันสมัยมากขึ้น
เข้าถึงกลุ่มคนได้หลากหลายวัยมากขึ้นและมีการปรับราคาเพื่อให้คนเข้าถึงได้
“ความยากตั้งแต่เริ่มในการทำแบรนด์ คือการเปลี่ยนความคิดและทัศนคติ แต่ก่อนสวนแม่ฟ้าหลวงเป็นตลาดค้าอาวุธ ชาวบ้านมีรายได้จากการปลูกฝิ่น เราต้องเปลี่ยนชาวบ้านที่ปลูกฝิ่นมาปลูกป่า ปลูกแมคคาเดเมียและกาแฟ ส่วนการทอผ้า งานเย็บปักถักร้อยก็ต้องทำให้งานมีมาตรฐานมากขึ้น เพื่อให้ลูกค้าได้รับของที่มีคุณภาพ ซึ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลาพอสมควร”

ออกแบบให้ร่วมสมัย แต่ต้องมี DNA ของดอยตุง
คุณโชค – ศุภาโชค เกษพาณิช นักออกแบบสิ่งทอ ตัวแทนทีมออกแบบของดอยตุง ได้ร่วมงานกับดอยตุงมาแล้ว 6 ปี โดยเริ่มจากการเป็นนักศึกษาฝึกงาน จากรั้วมหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะออกแบบอุตสาหกรรมสาขาสิ่งทอ ครั้งแรกที่เข้ามาทำงาน รู้สึกตื่นตาตื่นใจกับดีไซน์ที่มีมากมายของดอยตุง รวมถึงวัตถุดิบที่หลากหลาย การได้ทำงานที่นี่เหมือนการเปิดโลกใบใหม่ เป็นเสมือนขุมทรัพย์สำหรับนักออกแบบทุกคน
“ได้ทำงานทุกขั้นตอนตั้งแต่ช่วยเดินด้ายยืน ช่วยร้อยเขา ร้อยฟืม ไปจนถึงการทอ ทำหน้าที่ทุกอย่างเหมือนพนักงานคนหนึ่ง ได้เรียนรู้กระบวนการทำงานจริงๆ พอเรียนจบเราก็เข้าทำงานที่ดอยตุงทันที ได้ทำหน้าที่รับผิดชอบผลิตภัณฑ์พวกของใช้ในบ้าน เริ่มต้นจากเป็นผู้ช่วยก่อน ช่วยเลือกวัสดุ จับคู่สี ค่อยๆ ซึมซับวิธีการทำงานของที่นี่ที่มีความประณีตในทุกขั้นตอนและเป็นการทำงานร่วมกับชาวบ้านในชุมชนด้วย”
คุณโชคพูดถึงการเชื่อมโยงดีไซน์เข้ากับผลิตภัณฑ์หัตถกรรมของดอยตุง อันได้แก่ งานผ้าทอ กระดาษสา เซรามิกและพรมว่ามีบางจุดเชื่อมโยงกันอยู่
“ภาพความเป็นแบรนด์ดอยตุง ก็ยังต้องมีความเป็นดอยตุงอยู่ อย่างกระบวนการทำงาน ที่เป็นงานทอเป็นงานแฮนด์คราฟต์ ที่มีความละเอียดประณีต เพราะเป็นส่วนหนึ่งใน DNA ของดอยตุง แต่ก่อนงานอาจจะเล่าถึงเรื่องราวของชนเผ่าชัดเจน แต่ในปัจจุบันมีการตีความออกไปให้กว้างขึ้น มองจากมุมภายนอกมากขึ้นและนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้งานหัตถกรรมมีความทันสมัยมากขึ้นไปด้วย แต่ก็ยังดูรู้ว่าเป็นดอยตุง อย่างกระเป๋าย่าม ก็ยังทำหน้าที่ใช้สอยเหมือนเดิม แต่ปรับให้เข้ายุคสมัยมากขึ้น วัยรุ่นก็อยากใช้เพราะมันดูเข้ากับชุดง่าย”


แนวคิดที่ยั่งยืน
คุณพีระเล่าถึงทิศทางงานคราฟต์ของแบรนด์ดอยตุงในปัจุบัน ที่จะมุ่งเน้นไปในเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ด้วยการพยายามสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือเรียกว่า Circular economy คือการนำวัสดุบางอย่างกลับมาใช้ใหม่ ให้เกิดประโยชน์จนมันหมดอายุขัย เช่น การพัฒนานำเส้นใยจากพลาสติกมาใช้ในงานผ้าทอหรือแม้แต่กระดาษสีขาวที่เราใช้ ก็ทำมาจากแก้วกาแฟของลูกค้าจากร้านกาแฟดอยตุง ที่นำมาปั่นผสมกับเยื่อกระดาษแล้วช้อนขึ้นมาใหม่ กลายเป็นกระดาษแผ่นใหม่ แล้วเอาไปทำเป็นกล่องบรรจุภัณฑ์ได้ ซึ่งในยุคก่อนๆ กระดาษสาที่ทำจะใช้เยื่อสาทั้งหมด แต่ตอนนี้มีการผสมทั้งกระดาษลังและกระดาษเอกสาร
“ดอยตุงมีระบบการจัดการขยะที่ดี เราไม่มีขยะที่ไปสู่บ่อฝังกลบเลย นั่นหมายความว่า เราจัดการขยะได้ทุกประเภททั้งหมดเพราะเรามีศูนย์คัดแยกขยะเอง”

ในแต่ละปีผลิตภัณฑ์ดอยตุง จะมีคอลเลกชันใหญ่ๆ ปีละ 2 ครั้ง คือ Spring-Summer ในช่วงเดือนเมษายน และ Autumn-Winter ในช่วงเดือนตุลาคม แต่ในระหว่างนั้นก็ยังมีคอลเลกชันเล็กๆ แทรกอยู่ด้วย เช่น คอลเลกชันที่เน้นกลุ่มตลาด Gen Z วัยรุ่น นักศึกษาจบใหม่ วัยเพิ่งเริ่มเข้าทำงาน เพื่อสอดรับกับแผนการตลาดที่อยากเน้นไปในกลุ่มวัยรุ่นมากขึ้น ทำราคาให้จับต้องได้ นอกจากนี้ดอยตุงยังได้ไปทำงานร่วมกับแบรนด์ต่างๆ อีกด้วย
“นอกจากเราจะผลิตสินค้าให้กับแบรนด์อื่นๆ อย่าง Ikea แล้ว ยังมีการไปทำงานร่วมกับแบรนด์รองเท้า อย่าง Onitsuka Tiger และ Converse ตอนนั้นก็สร้างความฮือฮา และ Sold Out อย่างรวดเร็ว เรายังมีโครงการดอยตุงแอนด์เฟรนด์สด้วย เรามองว่าการจับมือร่วมงานกับแบรนด์อื่นๆ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนและแบ่งปันความรู้ให้กัน เร็วๆ นี้ดอยตุงก็มีโครงการที่จะไป Collab ร่วมกับแบรนด์อื่นๆ อีกครั้ง”
ด้วยผลงานการออกแบบสร้างสรรค์เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาทั่วโลก จึงไม่น่าแปลกใจที่แบรนด์ดอยตุงจะไปคว้ารางวัลต่างๆ มาได้
อาทิรางวัล PM Award, Gmark, Dmark

เติบโตไปพร้อมกับชุมชน
ในความสัมพันธ์กับชุมชน คุณพีระเล่าว่าว่าพนักงานเกิน 70% เป็นการจ้างงานชาวบ้านในพื้นที่ และในด้านการออกแบบลายผ้าต่างๆ จะใช้พื้นฐานมาจากชุมชนที่ทำกันอยู่ มีงานเย็บปักถักร้อยแบบนี้อยู่แล้ว และใช้ลวดลายดั้งเดิมของชนเผ่า ทั้ง 6 กลุ่ม โดยดึงเอาเอกลักษณ์ของแต่ละชนเผ่าออกมา มีการกระจายงานไปยังชุมชนต่างๆ และชุมชนข้างเคียง โดยการให้ความรู้เพิ่มเติมด้านทักษะ มีการจัดอบรมให้ มีทั้งออกไปสอนตามชุมชน และให้ชาวบ้านเข้ามาเรียนกับทางดอยตุง ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการควบคุมคุณภาพ เป็นการทดสอบความสามารถความเชี่ยวชาญ เพื่อจะได้แจกงานให้ตรงกับความสามารถที่แท้จริง
“การสอนอยู่เรื่อยๆ คือการช่วยเปลี่ยนรูปแบบจากสิ่งที่เขาทำแบบเดิมๆ ทำให้ชาวบ้านเกิดความมั่นใจในการเปลี่ยนนั้น นอกจากเรื่องความคิดที่ชาวบ้านต้องปรับแล้ว ตลาดบ้านเราก็ต้องปรับด้วย สินค้าดอยตุงไม่ได้เป็นสินค้าสำหรับตลาดแมส คนต้องเข้าใจถึงความเป็นงานแฮนด์เมด เป็นงานทำมือทั้งหมด เมือไหร่ก็ตามที่มีคนรู้สึกชื่นชมชอบใจในสิ่งเหล่านั้น เขาถึงจะเห็นคุณค่า”
และในฐานะที่คุณพีระคลุกคลีกับการทำงานคราฟต์มาโดยตลอด ได้พูดถึงงานคราฟต์ไว้อย่างน่าสนใจ
“ผมมองว่าคราฟต์เป็นเรื่องของงานฝีมือ เป็นเรื่องของความคิดและแนวคิด เป็นเรื่องของการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ขณะเดียวกันต้องมองไปถึงนวัตกรรม ที่เอาองค์ความรู้ที่มีอยู่มาต่อยอด มาปรับปรุงและพัฒนาให้มันเกิดเป็นไอเดียใหม่ๆ ผมอยากเห็นความร่วมมือของชุมชนคนทำงานคราฟต์ในภาคเหนือ มาจับมือกันทำให้เกิดเป็นกระแส พอมีคนใจ ก็จะเกิดรายได้ ชุมชนก็อยู่ได้ด้วย มันสร้างให้เกิดเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่
ดีกว่าการอยู่คนเดียว”
สำหรับคุณโชคได้ให้คำจัดกัดความของงานคราฟต์เอาไว้ว่า
“คราฟต์คือองค์ความรู้หนึ่ง ที่ถ่ายทอดจากอดีต ผ่านยุคสมัยมาสู่ปัจจุบัน ซึ่งเป็นพื้นฐานในการนำไปสู่การพัฒนาอุปกรณ์ต่างๆ ที่ทำให้ตอบโจทย์การใช้ชีวิตที่ดีขึ้น มีการผสมผสานการออกแบบที่ทันยุคสมัยมากขึ้น เพราะสิ่งสำคัญที่จะทำให้งานคราฟต์ได้ไปต่อ ไม่ใช่แค่ในลักษณะของการอนุรักษ์อย่างเดียว แต่ต้องพัฒนาให้เข้ากับยุคสมัยด้วย”
แกลลอรี่
ดอยตุง
Address : อาคารเอนกประสงค์ พระตำหนักดอยตุง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย 57240
โทรศัพท์ : 053 767015-7
Website : www.doitung.com
Facebook : DoiTungClub
Instagram: doitung.official