sa'lahmade

ธนบดี เซรามิค

เรื่องเล่าของชามตราไก่ กับงานเซรามิกมีดีไซน์ และพิพิธภัณฑ์มีชีวิต

      ธนบดี คือแบรนด์เซรามิก ของใช้และของแต่งบ้าน ที่ผลิตและส่งออกไปเกือบทั่วโลก และเป็นพิพิธภัณฑ์เซรามิกแหล่งท่องเที่ยวที่ต้อง

ปักหมุดในลำปาง รวมทั้งบริษัทเป็นผู้พลิกฟื้นชามตราไก่ ที่เกือบสูญหายไปให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ทั้งหมดนี้คืออาณาจักรของคุณพนาสิน ธนบดีสกุล กรรมการผู้จัดการบริษัทในเครือธนบดี ทายาทรุ่นที่ 2 จากธุรกิจเซรามิกเก่าแก่ ที่ผลิตชามตราไก่ในยุคแรกๆ ของลำปาง ณ วันนี้ไก่

ตัวเดิมบนชามสีขาว ได้ออกลูกออกหลานและมีครอบครัวรวมทั้งมีอาณาจักรยิ่งใหญ่เป็นของตัวเอง

     “ชื่อแบรด์ธนบดี มาจากนามสกุลของครอบครัว จากแซ่ฉินของคุณพ่อได้เปลี่ยนมาเป็น ธนบดีสกุล มีความหมายว่า ตระกูลพ่อค้าผู้มั่งคั่ง ด้วยอยากจะสืบทอดนามสกุลซึ่งเราภูมิใจ ออกมาเป็นชื่อแบรนด์สินค้า โดยมีบริษัทในเครือ ได้แก่ บริษัทธนบดีเดคอร์เซรามิกจำกัด และพิพิธภัณฑ์

เซรามิกธนบดีจำกัด”

การเดินทางจากแผ่นดินจีน มาสู่แผ่นดินล้านนา

      คุณพนาสินเล่าย้อนกลับไปในวันที่ อาปาอี้ (ซิมหยู) แซ่ฉิน บิดาผู้หอบเอาวิชาชีพการปั้นชามตราไก่มาจากเมืองจีน ได้ค้นพบแร่ดินขาวคุณภาพสูง ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเซรามิกที่จังหวัดลำปาง จึงได้ชักชวนเพื่อนมาร่วมก่อตั้งโรงงานชื่อโรงงานร่วมสามัคคี ผลิตชาม

ตราไก่ขึ้นเป็นแห่งแรกในจังหวัดลำปาง ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ด้วยในยุคนั้นชามตราไก่ต้องนำเข้าจากจีน แต่เมื่อมีเหตุสงครามจีนกับญี่ปุ่น ทำให้ไม่สามารถนำเข้าได้ กอปรกับรัฐบาลไทยมีนโยบาย นิยมไทย ทำให้ชามตราไก่จากลำปางเป็นที่ต้องการทั่วประเทศ 

      แต่ในที่สุดสมาชิกโรงงานร่วมสามัคคีก็ได้แยกย้ายไปสร้างกิจการของตัวเอง อาปาอี้ได้ร่วมกับหุ้นส่วนสร้างโรงงานแห่งที่ 2 และย้ายมาสร้างแห่งที่ 3 สุดท้ายจึงตั้งเป็นโรงงานเล็กๆ ของตัวเองและครอบครัว โดยใช้ชื่อว่า โรงงานแปะซิมหยู ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงงานธนบดีสกุล 

ผลิตถ้วยขนมและถ้วยตะไลเป็นงานหลัก ผ่านมา 50 ปีแล้ว ก็ยังคงดำเนินการอยู่ โดยมีพี่สาวคนโตของครอบครัวเป็นคนดูแล 

     “หลังจากผมเรียนจบด้านมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ก็ค้นพบว่าการทำงานเป็นลูกจ้างไม่ใช่แนวทางของตน จึงกลับมาลองผิดลองถูก ทำงานเซรามิกด้วยตัวเอง แรกๆ ที่บ้านไม่ยอมรับ ด้วยความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน จึงให้เงินมาสี่หมื่นบาท ในสมัยนั้นก็เหมือนเงินสี่แสนสมัยนี้ เพื่อให้ลองเริ่มทำธุรกิจของตัวเองดู นี่คือวิธีการสอนของพ่อ ด้วยความที่เราเป็นนักสู้ ลองผิดลองถูก ผ่านความยากลำบากในช่วง 4-5 ปีแรก 

จนกระทั่งประสบความสำเร็จในที่สุด”

ประวัติศาสตร์ที่อยากรักษาเอาไว้

      เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในชีวิตอีกครั้ง เมื่อวันหนึ่งคุณพนาสินได้ไปเจอชามไก่โบราณในส่วนลึกที่สุดของตู้กับข้าวในห้องครัวที่บ้าน และมองเห็นความสวยงามที่ซ่อนอยู่

    “ผมเกิดมาในช่วงที่คนเลิกนิยมชามตราไก่แล้ว มันหายไปจากสังคมไทยแล้ว ไม่เคยรู้ประวัติมาก่อน พอพ่อเล่าประวัติความเป็นมาให้ฟัง 

พบว่ามันน่าสนใจมาก จึงคิดนำกลับมาทำใหม่ เราเริ่มผลิตในรูปแบบต้นฉบับ เลียนแบบทุกอย่างให้เหมือนเดิม และนำไปจัดแสดงในงานแสดงสินค้า ปรากฏว่ามีคนสนใจและสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก เพราะเป็นสินค้าที่ขาดหายไปนาน ลูกค้าที่เป็นกลุ่ม Baby Boomer หรือคนที่เกิดช่วงหลังสงครามโลก เคยใช้ชามไก่สมัยนั้นตอนที่ยังยากจนกันอยู่ แต่ตอนนี้ร่ำรวยกันหมดแล้วและยังถวิลหาอดีต จุดประกายให้ชามตราไก่ได้กลับมา

อีกครั้ง  ปี 2540 ซึ่งเป็นยุคฟองสบู่แตก โรงงานเซรามิกลำปางล้มระเนระนาดกัน แต่ธนบดีกลับสวนกระแสผลิตชามตราไก่ส่งออกแทบไม่ทัน 

จนโรงงานอื่นๆ พากันทำตาม แต่ลูกค้าก็ยังชื่นชอบในอัตลักษณ์และการเขียนแบบดั้งเดิมของธนบดีอยู่ เลยไม่ได้กระทบอะไร สิ่งที่ผมตั้งใจทำคือ อนุรักษ์สิ่งที่ครอบครัวมีรากเหง้าอยู่ และเดินหน้าในส่วนงานที่เราถนัด คือกลุ่มของใช้ ของตกแต่งบ้านเพื่อตลาดส่งออก”

วิกฤติที่ต้องตั้งหลัก

      คุณพนาสินเล่าถึงจุดเปลี่ยนแปลงของธุรกิจอีกครั้ง เมื่อเกิดวิกฤตในเรื่องของต้นทุน ค่าจ้างแรงงานปรับขึ้นจากเดิมจาก 165 บาท ขึ้นไปที่ 300 บาท และค่าแก๊สลอยตัวเพิ่มขึ้น ทำให้มีต้นทุนที่สูงมากจนเขาคิดว่าไม่อาจไปต่อได้ในธุรกิจนี้

     “สิ่งที่ผมยังต้องรักษาไว้ คือประวัติศาสตร์ของครอบครัว ไหนๆ ก็จะเลิกกิจการแล้ว ก็อยากทำสิ่งหนึ่งเก็บไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน 

ก็คือ พิพิธภัณฑ์เซรามิกธนบดี แล้วจดทะเบียนเตามังกรโบราณ เพื่อไม่ให้ลูกหลานมาทุบทำลายภายหลัง เพื่อเป็นการจบบทบาททายาทของผม แต่ยังไม่ทันจะปิดกิจการ ธุรกิจหลักก็กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง เราต้องคุยกับพนักงานตรงๆ ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น สิ่งที่ต้องทำ คือต้องลดต้นทุนและ

เพิ่มผลกำไร ไม่มีการเลย์ออฟ  พนักงานทั้ง 300 คนเข้าใจและพร้อมให้ความร่วมมือ รวมทั้งคู่แข่งปิดตัวไปบ้าง ทำให้ลูกค้าเปลี่ยนมาซื้อกับเรา และด้วยแรงฮึดของทุกฝ่าย ภายในระยะเวลาหนึ่งปีครึ่ง ผลประกอบการกลับมามีกำไรเกินที่ตั้งเป้าไว้”

      คุณพนาสินทำหน้าที่เป็น Head of designer ดูแลภาพรวมทั้งหมดอีกที ในช่วงแรกที่ยังค้นหาตัวเองไม่เจอ จึงพยายามออกไปอบรมกับ

กรมส่งเสริมการส่งออกบ้าง กระทรวงอุตสาหกรรมบ้าง ดึงนักออกแบบจากต่างประเทศมาช่วยฝึกอบรม โดยอ้างอิงจากเทรนด์โลก เมื่อไปออกงานแสดงสินค้าเขากลับพบว่า มีสินค้าซ้ำกันอยู่หลายเจ้า จนกระทั่งมีลูกค้ามาบอกว่า สิ่งที่ทำอยู่คือการวิ่งตามเทรนด์นั้นมันไม่ใช่ธนบดี 

     “แม้ว่ามันจะสวยและถูก แต่มันไม่ใช่สไตล์ของเรา ลูกค้าก็ไม่ยอมรับ จึงกลับมาสร้างอัตลักษณ์และเทรนด์ของตัวเอง โดยไม่อิงเทรนด์โลก

อีกต่อไป ดูจากรสนิยมและไลฟ์สไตล์ของลูกค้าเราเป็นหลัก เมื่อก่อนธนบดีเคยวางแผนออกสินค้าปีละ 2 คอลเลกชัน ตามเทรนด์ของยุโรป 

แต่ในช่วงหลังเราเปลี่ยนมาเป็น all year design ลูกค้าก็สนุกกับการได้เห็นสินค้าใหม่ๆ ตลอดทั้งปี แล้วทยอยสั่งจองและสั่งผลิต” 

ตั้งหลักใหม่ เพื่อไปได้ไกลกว่าเดิม

“ผลิตภัณฑ์ของธนบดีไม่ใช่แค่สวย ดี แล้วจบ จำเป็นต้องมีความแตกต่างและคุณค่า
ต้องเล่าเรื่องได้ ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีการออกแบบที่ดี”

      ธนบดีเปลี่ยนแผนการตลาดใหม่ หยุดการออกงานแสดงสินค้าทั้งหมด แล้วสร้างโชว์รูมของตัวเอง เพื่อให้ลูกค้าได้แวะเวียนมาเยี่ยมชมและเลือกซื้อสินค้า โดยคุณพนาสินจะเป็นผู้พาชมพิพิธภัณฑ์ บอกเล่าความเป็นมาที่ไม่ไก่กาให้ลูกค้ารับรู้ถึงโปรไฟล์อันทรงคุณค่า ซึ่งร้อยทั้งร้อยลูกค้าจะติดใจ ตัดสินใจซื้อและยังกลับมาซื้อซ้ำอีก เขายังปฏิบัติตัวกับลูกค้าเหมือนเพื่อนหรือพาร์ทเนอร์มากกว่าเป็นแค่คู่ค้า เพราะเห็นว่าคนที่มาส่วนใหญ่จะเป็นฝ่ายจัดซื้อ มาทำงานจะไม่ค่อยรู้จักลำปาง เขาก็จะคอยให้ข้อมูล แนะนำเรื่องอาหาร ที่พัก วางแผนการเดินทาง บางครั้งยังจัดรายการนำเที่ยวให้ด้วย สร้างความประทับใจได้ไม่น้อย

     “ธนบดีไม่ได้ขายสินค้า แต่ขายความรู้สึก ผลิตภัณฑ์ของธนบดีไม่ใช่แค่สวย ดี แล้วจบ จำเป็นต้องมีความแตกต่างและคุณค่า สินค้ายังต้อง

เล่าเรื่องได้ ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีการออกแบบที่ดี ผมมองว่า ยิ่งมีคนเลียนแบบสินค้าของธนบดีมากเท่าไหร่ จะยิ่งทำให้ธนบดีโดดเด่นมากขึ้น

กว่าเดิม” 

      ในเรื่องของการออกแบบนั้น คุณพนาสินจะยึดหลัก Form follow function โดยดูจากใช้งานเป็นหลัก ว่าสินค้าใช้ทำอะไร เพื่ออะไร 

มีข้อกำหนดอย่างไร แตกต่างจากคู่แข่งขันอย่างไร เพื่อพิจารณาถึงความต้องการของลูกค้า สำหรับลูกค้าของธนบดี 80% จะเป็นลูกค้าต่างชาติ 

ส่วนใหญ่ คือ ยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย ส่งออกทั่วโลกถึง 72 ประเทศ และขายในประเทศอีก 20%  จะเป็นสินค้าเพื่อสังคม รายได้ให้กับโรงเรียนเด็กตาบอด บ้านพักคนชรา มีสินค้ากลุ่มช้าง ที่เป็นของที่ระลึกสำหรับช่วยโรงพยาบาลช้างที่จังหวัดลำปาง มีสินค้าบูชาพระ ผลิตไว้

เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา

ดูแลทุกคนให้เหมือนครอบครัว

“เราดูแลลูกค้าหลักของเราให้ดี ขณะเดียวกันก็ต้องดูแลคนที่สำคัญที่สุด
ก็คือพนักงานในองค์กรด้วย ให้เขามีความสุขที่สุด”

      เป็นนโยบายของธนบดี ที่จะเลือกพนักงานจากคนในพื้นที่ โดยจะประกาศหาคนทำงานจากในชุมชนก่อน และยังใช้ส่งเสริมให้พนักงานที่

เป็นคนในขุมชน ให้ผู้ชักชวนเพื่อนๆ หรือคนที่รู้จักในชุมชน ให้เข้ามาทำงานที่นี่ด้วยกัน โดยจะมีผลตอนแทนพิเศษให้ หากคนที่ชวนมาทำงานอยู่จนถึง 3 เดือน ซึ่งวิธีการนี้ช่วยลดปัญหาเรื่องการเปลี่ยนงานบ่อยๆ เพราะเกรงใจคนที่ชวนมา นอกจากนี้ยังส่งเสริมกิจกรรมของโรงเรียน หรือวัดในชุมชนที่พนักงานอาศัยอยู่ และทางบริษัทยังมีการจัดกิจกรรมสร้างความสุขให้พนักงาน ซึ่งมีทั้งรุ่นแม่และรุ่นลูก ซึ่งจะมีความแตกต่าง ทั้ง

ทางความคิด ความอดทนและการแสดงออก เพื่อลดช่องว่างระหว่างสองวัย นอกจากนี้ยังมีสวัสดิการเกี่ยวกับสุขภาพ ทั้งสุขภาพการทำงาน และสุขภาพการเงิน มีชมรมออมทรัพย์ สอนวิธีการใช้ชีวิต และสอนวิธีการวางแผนด้านการเงิน  

     “ในช่วงโควิด ธนบดี ก็ช็อคไปประมาณเดือนครึ่งเท่านั้น เพราะทุกคนกลัวกันหมด การค้าชะงัก ออร์เดอร์ทั้งหมดขอหยุดก่อน ตอนนั้นเราก็ลำบากเหมือนกัน สิ่งที่ทำได้คือ ให้กำลังใจกันกับลูกค้า เอาเวลาช่วงที่ค้าขายไม่ได้ มาพัฒนาสินค้า มาวิเคราะห์ เริ่มวางแผน ปรากฏว่าฝรั่ง

หายตกใจก่อน ลูกค้าเก่าเกือบทั้งหมดกลับมาซื้อเราเหมือนเดิม และก็มีลูกค้าใหม่เพิ่มมาด้วย ยอดขายของเราก็เติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่พอเราทำงานกันหนักมาก มีความโลภ แม้ยอดขายเพิ่ม แต่กลับรู้สึกไม่มีความสุข เพราะทำอะไรเกินตัว พนักงานส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย หลายคนเริ่มล้า เราก็ต้องกลับมาบาลานซ์ ชีวิตกันใหม่ ก็เริ่มเลือกลูกค้า เริ่มวางแผน คุยกับลูกค้าถึงกำลังการผลิตที่สามารถทำได้ เราดูแลลูกค้าหลักของเราให้ดี ขณะเดียวกันก็ต้องดูแลคนที่สำคัญที่สุด ก็คือพนักงานในองค์กรด้วย ให้เขามีความสุขที่สุด”

หลักวิถีพุทธ คือหลักของการดำเนินชีวิต

      คุณพนาสินใช้หลักการคิดในวิถีพุทธ เป็นแนวทางในการบริหารงานและดำเนินชีวิตมาโดยตลอด 

     “ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน ที่บอกว่ายั่งยืนมันไม่มีอะไรยั่งยืนในโลกนี้ คือหลักการที่เราใช้บริหาร ให้เกิดความเข้าใจชีวิต หาความทุกข์ให้เจอแล้วเข้าใจมัน แต่อย่าไปทุกข์กับมัน นี่คือหลักคิด ในแง่ธุรกิจ ก็ต้องเข้าใจว่าอะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด เป้าหมายคือความสุข ถ้าทำงานหนักแล้วเครียด แสดงว่ามันไม่ใช่ทางเรา เงินไม่ใช่คำตอบ ก็ต้องมาจัดสมดุลชีวิตให้ได้ ผมทำตรงนี้ให้ดีที่สุดแล้ว ทำหน้าที่เป็นอภิชาตบุตรแล้ว ได้มีโอกาสดูแลพ่อแม่ สร้างชื่อเสียงให้กับครอบครัว เท่านี้ก็ถือว่าได้ตอบแทนบุญคุณพวกท่านแล้ว”

แกลลอรี่

บริษัท ธนบดีเดคอร์ เซรามิก จำกัด  

ที่ตั้ง : 543 หมู่ 1 ต.กล้วยแพะ อ.เมือง จ.ลำปาง 52000

เวลาทำการ : 09.00 – 17.30 น. หยุดทุกวันอาทิตย์ 

โทรศัพท์ : 054 354 011 – 12

Website :  www.dhanabadee.com

Facebook : Dhanabadee

Email: [email protected]

ผลิตภัณฑ์แนะนำ

Recommended products

ชามตราไก่ สีน้ำเงิน

มีสีสันสดใสในโทนสีน้ำเงิน วาดมือเป็นลายไก่ตัวเดิมแต่เพิ่มเติมด้วยสมาชิกที่มากันครบทั้งครอบครัว และยังคงมีอัตลักษณ์ของธนบดี แต่มีความร่วมสมัยมากขึ้น

แจกันเซรามิกและของแต่งบ้าน

หนึ่งในสินค้าที่เป็นอัตลักษณ์ของธนบดี ทำเลียนแบบงานไม้ เพื่อแก้ปัญหาของไม้จริงที่ไม่สามารถใส่น้ำได้ดีเท่าเซรามิก รูปทรงและลวดลายได้รับแรงบันดาลใจมาจากใบปาล์ม