หลักคิดและการทำงานที่ส่งต่อจากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูก ผ่านไม้กวาดที่เป็นดั่งงานศิลปะ
บ้านบูรณ์ คือแบรนด์ไม้กวาดสัญชาติไทยหน้าตาเป็นสากล ที่แตกยอดมาจากธุรกิจครอบครัวของ ตูน – บูรณิตา วิวัฒนานุกูล ทายาทรุ่นที่ 2 ของ ‘สมบูรณ์ผล คราฟท์’ ที่ผลิตและส่งออกไม้กวาดหญ้าข้าวฟ่างมากว่า 35 ปี ในขณะที่แบรนด์บ้านบูรณ์เพิ่งเริ่มต้นในช่วงโควิด

การเดินทางของไม้กวาดไทย...ที่บินลัดฟ้าไปทำความสะอาดไกลถึงญี่ปุ่น
ตูนเติบโตมาท่ามกลางไม้กวาดหญ้าข้าวฟ่าง ซึ่งเป็นธุรกิจของคุณพ่อ ที่เป็นผู้จัดหาแหล่งวัตถุดิบ ปลูกหญ้าข้าวฟ่างในจังหวัดเชียงราย
ส่งให้ลูกค้าชาวไต้หวัน ด้วยความไม่หยุดนิ่ง กอปรกับมีความคิดสร้างสรรค์เป็นทุนเดิม ก่อนพัฒนาหญ้าที่มีอยู่ให้เป็นสินค้า เริ่มจากไม้กวาด
รุ่นง่ายๆ สู่ไม้กวาดหน้าตาดีส่งออกขายต่างประเทศ และได้รับการันตีฝีมือการออกแบบเชิงสร้างสรรค์และคุณภาพในระดับสากล ด้วยรางวัล
Seal of Excellence for Handicrafts 2007 South-East Asia Programme จาก UNESCO ร่วมกับ AHPADA เพราะเหตุนี้ไม้กวาดของ
สมบูรณ์ผล คราฟท์ จึงเป็นที่ต้องการในตลาดต่างชาติจนมีไม่เพียงพอจะขายในประเทศ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมคนไทยถึงไม่เคยได้เห็น
ไม้กวาดหน้าตาเก๋และร่วมสมัยแบบนี้ในบ้านเรา
ตูนเป็นลูกสาวคนโต ที่เลือกเรียนในสาขาที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของที่บ้าน เธอเดินทางไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในต่างแดนอย่างคุ้มค่า
โดยคิดเอาไว้ว่าวันหนึ่งจะต้องกลับมาช่วยงานที่บ้านอย่างแน่นอน ครอบครัววิวัฒนานุกูล มีมุมมองด้านการศึกษาที่เปิดกว้าง ให้อิสระในการเรียนรู้ของลูกๆ ด้วยความที่คุณแม่เป็นอาจารย์ มองว่าการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยช่วยในเรื่องตรรกะและกระบวนการคิด ไม่สำคัญว่าจะเรียนสาขาอะไร ขอแค่มีความรู้ติดตัว เมื่อถึงเวลากลับมาเรียนรู้งาน ตูนเริ่มจากการดูแลฝ่ายการผลิต โดยมีน้องชายดูเรื่องติดต่อลูกค้าและเอกสาร
ส่งออก ส่วนน้องสาวจะไม่ยุ่งกับธุรกิจส่งออกไม้กวาด แต่จะมาช่วยดูแลเพจ Boon’s Hobby ซึ่งเป็นเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่เป็นงานส่งออกของคุณพ่อ

โควิดคือจุดเปลี่ยน
ตูนเล่าว่าได้เข้ามาช่วยงานที่บ้านหนึ่งปีก่อนโควิดระบาด แม้ว่ายังเรียนรู้ไม่มากนัก ก็พอจะเข้าใจและมองเห็นปัญหาในธุรกิจของคุณพ่อ
จึงพยายามเข้าไปแก้ไขสิ่งที่มันเป็นเส้นเลือดใหญ่ของบริษัท แต่ยังไม่ทันจะสำเร็จทั้งหมด โควิดก็ระบาดเสียก่อน ผลกระทบมีต่อทุกฝ่าย กระทบยอดขาย 25-30% ลูกค้าชะลอการสั่งซื้อ ต่างฝ่ายต่างตั้งหลักรอดูสถานการณ์ จึงเป็นจังหวะที่เหมาะแก่การดึงแบรนด์บ้านบูรณ์ขึ้นมาสานต่อ
“บ้านบูรณ์ คือชื่อที่คุณพ่อตั้ง มาจากชื่อเล่นของคุณพ่อและลูกชาย ลูกสาว ทั้ง 3 คน ก็มีชื่อจริงนำด้วยคำว่า บูร ทั้งหมด ประมาณ 2 ปีก่อนที่ตูนจะเข้ามาช่วยงาน คุณพ่อทำบ้านบูรณ์มาก่อน จัดการเอง ขายแบบเล็กๆ น้อยๆ ฝากขายตามร้านแถวบ้านที่กรุงเทพฯ ติดสติ๊กเกอร์ง่ายๆ ไม่มีการประชาสัมพันธ์ พอโควิดระบาดไม่สามารถเดินทางไปโรงงานได้ ทำให้มีเวลาคิดว่าจะทำอย่างไรกับไม้กวาดที่เหลือจากการทำเกินออร์เดอร์ส่งออกของคุณพ่อ แล้วเพื่อนที่ Woot Woot Store ก็ชวนให้เอามาวางขาย เราวางแบบเล็กๆ ไม่มีอะไรมาก วันหนึ่งบรรณาธิการออนไลน์ของนิตยสาร aday ซื้อของเราไป กลายเป็นมีบทความ ทำให้บ้านบูรณ์เป็นที่รู้จักภายในเดือนแรกที่วางขาย”

“ไม้กวาดของบ้านบูรณ์เป็นมากกว่าไม้กวาดที่มีสีแล้วจบ เรามองว่ามันคืองานฝีมือ มันเป็นศิลปะ
เป็นสิ่งสะท้อนถึงประสบการณ์ที่สั่งสมมาตลอดหลายสิบปี ต้องอาศัยเทคนิคและความชำนาญมากๆ
กว่าที่เราจะสามารถโชว์การเย็บการถัก การมัด ในรูปแบบนี้ได้"
ตูนเล่าย้อนกลับไปถึงไม้กวาดที่คุณพ่อออกแบบไว้มากกว่า 1,000 แบบ เริ่มจากรูปแบบดั้งเดิมตามประเพณีนิยมที่ลูกค้าญี่ปุ่นนิยมใช้
แล้วค่อยๆ พัฒนาเพิ่มตัวตนของแบรนด์เข้าไป โดยยืนอยู่บนพื้นฐานขององค์ความรู้ที่มี แต่ในขณะเดียวกันก็ฟังความต้องการของลูกค้าด้วย หลังจากได้มีการออกงานแฟร์ต่างๆ แล้วมีลูกค้าถามถึงสีอื่นๆ จึงเริ่มมีการทดลองทำสีใหม่ๆ เริ่มจากสีธรรมชาติ จนปัจจุบันมีมากถึง 15 เฉดสี
มีการปรับ mood & tone เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า
“ไม้กวาดของบ้านบูรณ์เป็นมากกว่าไม้กวาดที่มีสีแล้วจบ เรามองว่ามันคืองานฝีมือ มันเป็นศิลปะ เป็นสิ่งสะท้อนถึงประสบการณ์ที่สั่งสมมาตลอดหลายสิบปี ต้องอาศัยเทคนิคและความชำนาญมากๆ กว่าที่เราจะสามารถโชว์การเย็บการถัก การมัด ในรูปแบบนี้ได้ ไม้กวาดของบ้านบูรณ์ ก้าวข้ามข้อจำกัดของการที่เป็นแค่ของใช้ กล้าเล่นกับสีสัน นอกจากจะใช้งานได้จริงแล้ว ยังใช้ตกแต่งได้อีกด้วย สามารถแขวนตรงไหนของบ้านก็ได้ โดยไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ เป็นการตีความไม้กวาดในรูปแบบใหม่ ให้คนได้สนุกกับการแต่งบ้านและได้ใช้งานของดีมีคุณภาพไปด้วย”
ด้วยแนวคิด Circular Economy หรือระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน บ้านบูรณ์นำเศษวัสดุที่ได้จากการส่งออกมาดัดแปลงในแบบใหม่ เน้นฟังก์ชันการใช้งานเป็นหลัก ออกแบบให้แตกต่างจากของที่ต้องส่งออก เพื่อไม่เป็นการดึงลูกค้าและกระทบต่อธุรกิจหลัก โดยกำลังผลิตของบ้านบูรณ์มีเพียง 3 เปอร์เซ็นต์ของการผลิตทั้งหมดของโรงงาน จึงเน้นไปที่ตลาดขายปลีก ทำให้สินค้าที่วางขายมีแบบค่อนข้างจำกัด ไม่มีคลังสินค้ามากมาย บางแบบหมดแล้วหมดเลย ขึ้นอยู่กับเวลาว่างของสายการผลิตและวัตถุดิบที่มี



ไม้กวาด 1 ด้าม กับพี่ๆ ทั้ง 8
ตูนเล่าให้ฟังว่า พี่ๆ ทีมงานเป็นคนในชุมชนเกือบทั้งหมด อยู่กันมานานเหมือนเป็นบ้านอีกหลัง บางคนอยู่มาตั้งแต่ก่อนที่ตูนจะเกิด ช่วยอุ้มช่วยเลี้ยงกันมา เป็นความผูกพันที่ดูแลกันแบบครอบครัว บรรยากาศการทำงานจึงไม่เหมือนโรงงานอื่นๆ ที่ต้องเข้าออกตอกบัตรเป็นเวลา แต่เป็นเหมือนบ้านหลังที่สองที่ต่างพึ่งพาอาศัยและเติบโตไปด้วยกัน
ปัญหาในการทำงาน ที่เกิดจากปัจจัยภายนอกมืหลายข้อ ตั้งแต่วัตถุดิบ ดินฟ้าอากาศ ต้นทุน โควิด สงคราม ฯลฯ แต่เธอบอกว่าปัญหาที่
ยากที่สุดคือการทำงานธุรกิจครอบครัว ด้วยความต่างในระบบความคิดหรือความเห็น ต้องหาตรงกลางให้เจอ ต้องอาศัยการปรับจูน สำคัญที่สุดคือการสื่อสาร อย่างน้อยจุดร่วมกันคือทุกคนอยากให้มันออกมาดี
“องค์ความรู้ที่เรามีเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันเองในองค์กร เริ่มแรกคุณพ่อให้คนต่างชาติเข้ามาสอนงาน แล้วพัฒนากันภายใน พี่ๆ
จากรุ่นแรกส่งต่อความรู้กันมาเรื่อยๆ แต่ละคนนำไปพัฒนาตัวเองอีกที”
สิ่งที่หลายคนน่าจะคาดไม่ถึงว่า ในขั้นตอนการผลิตกว่าจะมาเป็นไม้กวาดหนึ่งด้าม ต้องผ่านมือพี่ๆ ผู้เชี่ยวชาญทั้งหมดอย่างน้อย 8 คน
เริ่มจาก เมื่อได้หญ้ามาแล้ว จะทำการคัดหญ้าเพื่อเลือกความยาว ความหนา ความสมบูรณ์ของพู่ ให้เหมาะสมกับไม้กวาดแต่ละแบบ จากนั้น
นำไปย้อมสีแล้วเอาไปตาก เมื่อแห้งดีแล้วจึงค่อยนำมาสู่กระบวนการผลิตหรือการสาน ประกอบด้าม หลังจากนั้นนำไปเก็บรายละเอียด ตกแต่งให้สวยงาม เพิ่มรายละเอียดอย่างอื่นเข้าไป นำไปตัดปลาย ใส่สายหนัง แล้วทำการบรรจุผลิตภัณฑ์เป็นลำดับสุดท้าย



ไม้กวาดที่โด่งดังบนโลกออนไลน์
ด้วยมุมมองของคนรุ่นใหม่ การตลาดออนไลน์ถือเป็นเรื่องใกล้ตัวสำหรับสายโซเชียลอย่างตูน บ้านบูรณ์ไม่มีหน้าร้านของตัวเอง
เน้นขายออนไลน์เป็นหลัก และฝากขายตามร้านต่างๆ อีกประมาณ 10 แห่ง
“บ้านบูรณ์เหมือนเป็น Comfort Zone ที่คุณพ่อคุณแม่เข้าไม่ถึง เราดูแลเองทั้งหมด เขามารู้อีกทีก็ตอนที่ต้องไปออกรายการสัมภาษณ์
ด้วยความที่มันเป็นออนไลน์ เค้าไม่รู้ว่าสิ่งที่เราทำอยู่ทำอย่างไร การตั้งราคาของเราเป็นเรื่องที่ทำให้เขาประหลาดใจ ตอนแรกคิดว่าถ้าขายไม่ได้ก็ไม่เป็นไร แต่เราไม่สามารถขายราคาต่ำกว่านี้ได้ เพราะเราคำนวนต้นทุนจากที่เราเห็น จากต้นทุนราคาวัตถุดิบที่แตกต่างกัน เราเริ่มขาย
ในช่องทางเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม เพราะเข้าถึงง่าย ลูกค้าเข้าใจง่าย 90 เปอร์เซ็นต์เป็นคนไทย และอีก 10 เปอร์เซ็นต์เป็นชาวต่างชาติ
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนญี่ปุ่น อาจเป็นเพราะวัฒนธรรมของเขาบอกต่อปากต่อปาก”

เสน่ห์ของความไม่สมบูรณ์
"เสน่ห์ของบ้านบูรณ์ คือความไม่สมบูรณ์
สะท้อนให้เห็นในทุกส่วนที่เราทำ งานทุกชิ้นไม่มีความเหมือนกัน 100 เปอร์เซ็นต์"
“วิธีการสื่อสารกับลูกค้า เราอยากให้มันมีความคราฟต์ ไม่ได้อยากสื่อสารกับลูกค้าด้วยความเป๊ะ เราไม่ได้ทำการตลาดตามแบบพิมพ์นิยม
เราต้องการให้รู้สึกถึงงานทำมือที่มีความเป็นมนุษย์ร่วมอยู่ มีความจริงแท้อยู่ด้วย บางครั้งวัตถุดิบมีไม่พอ ทำไม่ทัน ลูกค้าก็เข้าใจและยินดีรอ
ทุกวันนี้ไอเดียหลายอย่างมาจากคำแนะนำของลูกค้า บางคนซื้อหลายสีด้วยความรักพี่เสียดายน้อง บางคนเก็บเป็นของสะสม เราเชื่อในสิ่งที่เราทำ สำคัญที่สุดคือเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์จริงๆ เชื่อว่าของเราดี ลูกค้าก็จะรับรู้ได้จากสิ่งที่เราสื่อออกไป โดยไม่จำเป็นต้องโปรโมชั่นเพื่อให้ลูกค้าอยากได้ แต่เราอยากให้เขาซื้อเพราะมองเห็นคุณค่าของมัน…รู้สึกว่าอยากมีไม้กวาดบ้านบูรณ์ติดบ้านไว้สักชิ้น”
“ถ้าไม่มีคราฟต์ ก็ไม่มีบ้านบูรณ์”
คือคำพูดหลักที่ตูนใช้ยึดถือในทุกอย่างที่ทำ ตูนบอกว่าเสน่ห์ของงานคราฟต์ คืองานที่ไม่ใช่ใครก็ทำได้ เป็นงานที่ต้องอาศัยความอดทน ความเข้าใจตั้งแต่วัตถุดิบ กระบวนการทำ ต้องมีใจรักในระดับหนึ่ง สำหรับภาคเหนือคิดว่าเป็นภาคที่เหมาะต่อการทำงานคราฟต์ ทั้งเรื่องของอากาศและความใจเย็นของคนทำงาน และด้วยกระบวนการทำไม้กวาดของบ้านบูรณ์เหมาะที่จะอยู่ทางภาคเหนือมากที่สุด
“เราจะไม่เปรียบเทียบไม้กวาดของบ้านบูรณ์กับของคนอื่น เราไม่เคยพูดว่าของเราดีกว่า มันขึ้นอยู่กับความถนัด เหมือนรสชาติอาหารที่
คนชอบกิน ไม้กวาดก็เหมือนกัน คนไหนชินแบบไหนเราก็เคารพ แค่อยากให้ลองเปิดใจ ไม้กวาดดอกหญ้าบ้านเราก็เป็นอาหารหลักของบ้านเรา มันเข้าถึงได้ด้วยวัตถุดิบที่หาง่าย จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงเป็นที่นิยมมากกว่าไม้กวาดหญ้าข้าวฟ่าง แต่ไม้กวาดทุกที่ต่างก็มีจุดประสงค์ในการใช้งาน ในการทำความสะอาด ประสิทธิภาพมันไม่ได้ด้อยไปกว่ากัน ขึ้นอยู่กับว่าลูกค้าอยากเลือกใช้แบบไหน”
แกลลอรี่
บ้านบูรณ์
Website : www.baanboonbrooms.com
Facebook : brooms.baanboon
Instagram: brooms.baanboon
Email: [email protected]