sa'lahmade

พิพิธภัณฑ์ผ้าป้าดา บ้านไร่ไผ่งาม

    จากวัดพระธาตุศรีจอมทอง เดินทางไปบนเส้นทาง จอมทอง-ฮอด ประมาณ 10 กิโลเมตร ด้านซ้ายมือจะพบป้ายบอกทาง “บ้านไร่ไผ่งาม” เมื่อเลี้ยวซ้ายเข้าไปก็ต้องตื่นตาตื่นใจกับสองข้างทางที่เรียงรายไปด้วยต้นไผ่ ที่ปลายยอดไผ่โน้มเข้าหากันเป็นอุโมงค์ไม้ไผ่ที่สวยงาม ความรู้สึกเหมือนธรรมชาติกำลังดึงดูดเราเข้าไปยังสถานที่ที่รอเราอยู่ปลายทาง ยิ่งเข้าใกล้ยิ่งรู้สึกร่มเย็น เมื่อเข้ามาจนสุดทางของอุโมงค์ต้นไผ่ ทางด้านซ้ายเมื่อมองต่ำลงไปด้านล่างจะเห็นทัศนียภาพที่สวยงามของคุ้งแม่น้ำปิง ด้านขวาเป็นเรือนไม้แบบชนบทตั้งตระหง่าน ดูสง่างามท่ามกลางต้นไม้น้อยใหญ่ที่รายรอบ ซึ่งเรือนหลังนี้ปัจจุบันคือ พิพิธภัณฑ์ผ้าป้าดา-บ้านไร่ไผ่งาม

    เราได้พบกับ คุณเนาวรัตน์ บันสิทธ์ หรือคุณต้อม หลานสาวคนเดียวของป้าดาหรือคุณยายแสงดา บันสิทธิ์ คุณต้อมเล่าว่าเรือนหลังนี้อายุ 114 ปีแล้ว ในอดีตเคยเป็นเรือนพักฤดูร้อน หรือคุ้มของเจ้าแก้วนวรัฐ ต่อมาท่านได้ยกคุ้มแห่งนี้ให้กับลูกชาย ซึ่งลูกชายท่านสนิทสนมกับคุณตาคือนายดาบมาลัย บันสิทธิ์ และได้ขายบ้านหลังนี้ให้เมื่อทราบว่าคุณตาอยากตั้งหลักปักฐานที่นี่ คุณยายออกเรือนและใช้ชีวิตที่เรือนหลังนี้ โดยชั้นบนเป็นที่อยู่อาศัย ส่วนใต้ถุนเรือนเป็นที่ตั้งหูกหรือกี่ทอผ้า ด้วยคุณยายเป็นผู้ที่รักในการทอผ้าเป็นชีวิตจิตใจ เริ่มจับกระสวยหัดลองทอผ้าตั้งแต่อายุเพียง 5 ขวบ  ทุกวันจากเช้าจรดเย็น คุณยายจะง่วนอยู่กับการย้อมสีและทอผ้า ทั้งทอไว้ใช้ ทอให้สมาชิกในครอบครัว ต่อมาก็เริ่มทอเพื่อจำหน่าย ผ้าของคุณยายแสงดาขึ้นชื่อในเรื่องของลวดลายที่ละเอียด และการให้สีสันที่สวยงาม ซึ่งสีทั้งหมดเป็นสีธรรมชาติที่ได้จากการนำพืชพรรณไม้รอบๆ บริเวณบ้านมาย้อม มีการผสมสีจนให้เฉดสีที่เป็นเอกลักษณ์ของผ้าจากบ้านไร่ไผ่งามที่ไม่เหมือนใคร มีการตั้งกลุ่มทอผ้าและสร้างรายได้ให้คนในพื้นที่ จากความมานะและมุ่งมั่นและความรักในงานทอผ้าเป็นชีวิตจิตใจ ท่านจึงได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์(การทอผ้า) ในปี 2529

   ครอบครัวบันสิทธ์ เป็นครอบครัวเล็ก มีลูกสาวคนเดียวคือคุณแม่เสาวนีย์และหลานสาวก็คือคุณต้อม ที่ตอนเด็กๆ ติดคุณยายมาก  คุณต้อมบอกว่า ด้วยความที่เรารักยายมาก อยากอยู่ใกล้ๆ อยากให้อุ้ม ให้เล่นด้วย  แต่คุณยายก็ยุ่งอยู่กับการทอผ้าทั้งวัน เพราะความต้องการความรักจากคุณยายจึงพาตัวไปคลุกคลี อยู่ใกล้ชิดกับท่าน เห็นในสิ่งที่ท่านทำจึงเป็นช่วงที่เรียนรู้สิ่งต่างๆ จากคุณยายไปโดยธรรมชาติ เป็นการส่งต่อภูมิปัญญาด้วยความรักจากคุณยายและเป็นการรับด้วยความรักของคุณต้อมที่มีต่อคุณยายด้วยเช่นเดียวกัน ทั้งจากเรื่องสี เรื่องทอ คุณยายเคยบอกว่า “สิ่งที่ลูกต้องเรียนรู้ก่อนเลยคือเรื่องสี ถ้าลูกเก่งเรื่องสีลูกจะทำอะไรก็ได้ทุกอย่าง ซึ่งมันสำคัญมาก มันเป็นเทสต์หรือรสนิยมส่วนตัวที่ใครก็ลอกเลียนไม่ได้”

    คุณต้อมเรียนรู้งานจากคุณยายและคุณแม่มาเรื่อยๆ จนวันหนึ่งช่วยกันฮ้วนและสืบเส้นฝ้าย(กระบวนการทำเส้นยืน) อยู่คนละฝั่งกัน สืบเสร็จก็จะจ่าม คือการลองเอาเส้นด้ายสอดเข้าไปในเส้นยืนเพื่อดูว่าสีไหนจะจมหรือสีไหนจะขึ้นสีสวย วันนั้น เราก็มองผ้าไป พูดไป หนูว่าตรงนี้ สีนี้ดีไหม  ก็ให้แปลกใจว่าวันนี้คุณยายเป็นอะไรเงียบจัง ไม่พูดอะไร เมื่อเหลือบไปมองคุณยาย ท่านเดินเข้ามากอดแล้วพูดว่า “ลูกเรียนจบแล้ว ลูกรู้แม้แต่ความคิดของยายว่าจะใช้สีอะไร ใส่ตรงไหน วิธีมองของลูกกับยายเหมือนกันนั่นคือลูกเรียนจบละ”   คุณต้อมบอกว่าตอนนั้นได้แต่กอดคุณยายน้ำตาไหล

    นั่นคือความผูกพันทั้งในสายเลือดและเรื่องราวที่สวยงามในเรือน “บ้านไร่ไผ่งาม” หลังนี้ เมื่อคุณยายเสียชีวิตในปี 2534  ก่อนคุณยายจะจากไปได้จับมือกันสามคน ให้สัญญากันว่าจะไม่ทิ้งงานทอผ้า ด้วยความรัก ความผูกพันกันของสามเจนเนเรอชั่น หลังจากที่คุณยายเสียชีวิตไป 1 ปี จึงตัดสินใจที่จะรักษาทุกอย่างบนเรือนให้เหมือนสมัยที่ท่านยังอยู่ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวและงานที่ท่านทำ ประวัติศาสตร์ของเรือน และที่สำคัญต้องการให้เป็นแหล่งเรียนรู้นอกตำรา และส่งต่อแรงบันดาลใจ ตั้งใจทำที่นี่ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต ด้วยการนำบรรยายเองทุกครั้ง เนื้อหาแต่ละครั้งก็ไม่ตายตัว แต่ละรอบก็ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่าผู้มาเยี่ยมชมจะอยากทราบหรือชวนคุยเรื่องอะไร แต่สิ่งที่เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลงคือความภาคภูมิใจในตัวคุณยายและความสุขของตัวเองที่ได้ถ่ายทอด ได้ส่งต่อเรื่องราวของท่านให้ผู้อื่นได้ศึกษา

    พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไม่ได้เก็บค่าเข้าชม ขึ้นอยู่กับว่าผู้ที่ไปเยี่ยมชมจะร่วมสนับสนุนค่าบำรุงรักษาตามแต่ศรัทธา คุณต้อมบอกว่าการทำพิพิธภัณฑ์ถ้าคิดเรื่องตัวเงินหรือรายได้ไม่คุ้มเลย เพราะงบในการรักษาพิพิธภัณฑ์สูงมาก หลายครั้งเวลาขึ้นไปบนเรือนจะบอกท่านว่า “ต้อมจะทำเท่าที่ทำได้นะคุณยาย ทำเต็มที่ หากอะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด ถ้ามันจะไปต่อไม่ได้ก็ต้องยอมรับ เพราะเราไม่ได้มีหัวโขนอะไร”

    ช่วงท้ายของการสนทนาคุณต้อมบอกว่าพิพิธภัณฑ์เป็นที่ที่จะบอกเล่ารากเหง้าของท้องถิ่น ถ้าพิพิธภัณฑ์ถูกทิ้งนั่นก็หมายถึงเราได้ทิ้งเรื่องราวที่เป็นรากเหง้าของเรา คนที่จะทำตรงนี้ต้องใจรักมากๆ อยากให้มีหน่วยงานที่ดูแลด้านพิพิธภัณฑ์โดยเฉพาะ เพื่อคอยประสานงานหรือเชื่อมโยงคนที่ทำพิพิธภัณฑ์ด้วยกัน และช่วยกันทำให้พิพิธภัณฑ์อยู่ได้อย่างยั่งยืน

แกลลอรี่

พิพิธภัณฑ์ผ้าป้าดา-บ้านไร่ไผ่งาม

ที่ตั้ง : 105 หมู่ 8 เชียงใหม่-ฮอด ตำบลสบเตี๊ยะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ 50160

Facebook : พิพิธภัณฑ์ผ้าฝ้ายป้าดา บ้านไร่ไผ่งาม
Tel: 062 192 8242