sa'lahmade

LONGGOY

นิยามใหม่ความเป็นล้านนา ดัดแปลงให้ทันสมัยแต่ไม่ทิ้งรากเหง้า

        เพียงแค่ชื่อและโลโกของแบรนด์ ‘ลองกอย’ ทำให้รู้ว่ากล้า – ศุภกร สันคนาภรณ์ เป็นนักออกแบบที่ผูกพันกับความเป็นล้านนาอย่างมาก 

โดยนำเสนอผ่านการตีความใหม่ แต่ใส่ใจรายละเอียดดั้งเดิม เพิ่มเติมด้วยรูปแบบที่ทำให้คนเข้าถึงง่าย ถือเป็นหัวใจของแบรนด์  

“ลองกอย แปลว่า ลองดูหรือลองทำดู เหมือนตัวผมเอง ที่เป็นพวกชอบทดลอง อยากลองทำอย่างนี้ให้คนอื่นดู”

      “ลองกอย อีกความหมายหนึ่ง ก็เหมือนคำเชื้อเชิญให้มาดูสิ่งที่เราทำ แล้วก็ตอบตัวตนแบรนด์ด้วย คือการนำเสนอความเป็นล้านนา 

ที่ถูกตีความใหม่ในแบบของกล้า ส่วนโลโก้มาจากตัว ‘อ-อ่าง’ ที่เป็นภาษาเหนือ เขาเรียกตัว ‘อะ’ แต่ผมออกแบบฟอนต์ใหม่ ที่เลือกมานี่

ไม่มีอะไรเป็นความสวยงามล้วนๆ คือชอบฟอนต์ ชอบจังหวะมัน”

 

จังหวะแห่งลองกอย

“เราเป็นนักเล่าเรื่องล้านนาในรูปแบบใหม่ อยากทำให้โลกรู้จัก
อยากจะพัฒนาความน่าเชื่อถือของแบรนด์ไประดับประเทศหรือระดับโลกให้มากขึ้น
ถ้าเรามีคนรู้จักเยอะขึ้น หรือแบรนด์ใหญ่ขึ้น เรื่องราวของล้านนาก็จะดังไปเท่าที่ทุกคนรู้จัก”

      จากวัยเด็กที่ผูกพันกับงานผ้า กล้าเติบโตมาท่ามบรรยากาศของการตัดเย็บ ‘บัวเขียวผ้าฝ้าย’ คือกิจการเสื้อผ้าของแม่ ที่จะมีป้าๆ มานั่งตัด นั่งเย็บกันอยู่ใต้ถุนบ้าน เสียงฝีจักรคือจังหวะที่คุ้นเคย แม่คือต้นแบบในการทำงานผสมผสานกับวัฒนธรรมรอบกาย จึงกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กล้าทำวิทยานิพนธ์ปริญญาตรี สาขาการออกแบบผลิตภัณฑ์ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง ด้วยการหยิบยกความเป็นล้านนาผ่านงานสตรีทแฟชั่น  

      “เริ่มทำมาประมาณ 5 ปี ตั้งแต่ทำวิทยานิพนธ์ ลองกอยเป็นแบรนด์ที่เกี่ยวกับการทดลอง อยากจะทดลองความเป็นล้านนาในรูปแบบใหม่ ผ่านเทคนิคบ้าง ผ่านเนื้อผ้าอะไรต่างๆ ตอนสร้างแบรนด์ใหม่ๆ ผมเคยเข้าใจผิดว่าล้านนาเป็นสถานที่ ก็เลยหยิบเรื่องราวจากพื้นที่ทางภาคเหนือมาใช้ จนมีคนบอกผมว่าจริงๆ แล้วล้านนาไม่ใช่สถานที่ แต่เป็นผู้คน ผมก็เลยจับคำว่าผู้คนมาคิดใหม่ว่า การเล่าเรื่องราวของล้านนา มันคือการใช้ชีวิตของผู้คนกับสถานที่นั้นมากกว่า เช่น เราเป็นคนล้านนา พอไปอยู่ลอนดอนหรือปารีส เราก็ยังเป็นคนล้านนาอยู่ใช่ไหม เราก็เลยอยากหยิบจับเรื่องราวของคนมาเล่าผ่านเสื้อผ้าแฟชั่น”

      ผลงานปีแรกที่กล้าทำ ก็คือการต่อยอดจากธีสิส จะเป็นคอลเลกชันที่ First  Collection The Story Of Lanna โดยกล้าได้รวบรวมความเป็นล้านนาทั้งหมดที่ทุกคนสนใจ เอามาเล่าผ่านลวดลายแบบใหม่นำเสนอให้ทุกคนได้เห็น 

ทุกจังหวะที่...กล้าเดิน

      คอลเลกชันต่อๆ ไปของลองกอย เป็นการขยายลวดลายหรือเรื่องราวผ่านมุมมองของกล้า เช่น คอลเลกชันที่มีการเน้นดอกไม้เป็นหลัก หรือคอลเลกชันที่นำเอาสิงห์ที่ยืนอยู่หน้าวัดของเชียงใหม่หรือในล้านนามาใช้ โดยใส่ลูกเล่นใหม่ๆ เข้าไป 

      “สิงห์ยืนอยู่เฉยๆ ท่าเดิมเหมือนกันทุกวัดเลย ผมว่ามันน่าเบื่อ สงสารน้อง (หัวเราะ) เลยนำสิงห์ที่ยืนมาจัดใหม่ ให้อยู่ในท่าของเสือแบบที่อยู่ตามจิตรกรรมฝาผนังญี่ปุ่น จะได้น่าสนใจขึ้น”

      มิติความเป็นล้านนาในสายตาของกล้า ยังมองผ่านความเป็นสล่าหรือช่างในงานศิลป์ทุกแขนง รวมถึงช่างฝีมือในปัจจุบัน 

      “สำหรับผมเรื่องของสล่าหรือช่างฝีมือของทางล้านนาก็น่าสนใจ ผมไปแถวถนนช้างเผือก ที่ทำป้ายกันเยอะๆ ผมคิดว่าเค้าก็เป็นสล่า

เหมือนกัน เป็นสล่าทีมีความรู้ด้านเลเซอร์คัตอยู่กันเป็นชุมชน เหมือนสล่าช่างไม้ ช่างเหล็ก ช่างปูนในสมัยก่อน ก็เลยตั้งเป็นสล่าเลเซอร์คัต ซึ่งจะมีเทคนิคต่างๆ ที่วิจิตรมาก ต้องมีความชำนาญระดับหนึ่งถึงจะทำงานระดับนี้ได้”

      เมื่อมองเห็นเห็นในสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็น กล้าจึงได้แรงบันดาลใจจากสล่าเลเซอร์คัต จนเกิดเป็นเสื้อผ้าคอลเลกชันใหม่ ที่มีความเท่ ไม่ซ้ำใคร มีความเป็นแนวช่างมากขึ้น โดยมีลวดลายต่างๆ ที่เกิดจากการนำเศษวัสดุหรือบล็อกอะคริลิกที่เหลือ นำมาใช้ใหม่กับงานของตน 

      “เนื้อหาในบล็อกอะคริลิก ก็ถือเป็นการเล่าเรื่องเชียงใหม่ได้อีกเหมือนกัน เพราะการเติบโตของเมือง มีทั้ง คาเฟ่ โรงแรมเปิดใหม่ ซึ่งทุกคนจะต้องไปทำป้ายชื่อร้านใหม่ ผมก็เลยหยิบเอาป้ายร้านต่างๆ ที่เค้าเอาตัวหนังสือไปแล้ว เหลือแค่กรอบทิ้งไว้ ผมก็เอากรอบพวกนั้นมาทำลวดลายต่างๆ เป็นการบอกว่า ล้านนาปัจจุบัน มันก็เติบโตไปเรื่อยๆ ผ่านมุมมองของช่างเลเซอร์คัต”

กล้าที่จะไม่หยุดก้าว

      จากสถานการณ์โควิด – 19 ที่ทำให้โลกหยุดชะงัก แต่กล้าไม่เคยหยุด ก้าวแรกของกล้าคือใช้เวลาไปเรียนเรื่องการทำแพตเทิร์นและ

การตัดเย็บจาก Bunka Fashion School โรงเรียนแฟชั่นอันดับโลกของญี่ปุ่น ที่กรุงเทพฯ เพราะมองว่าการออกแบบที่ดีจะต้องควบคู่ไปกับการตัดเย็บที่ได้มาตรฐาน เป็นการใช้เวลาว่างจากสถานการณ์โรคระบาดได้อย่างคุ้มค่าและเพิ่มศักยภาพให้กับตัวเองที่จะสร้างสรรค์งานต่อไป 

      “คอลเลกชันจบของบุนกะ ( Bunka Fashion School) ผมเล่าเรื่องรถไฟฟ้าในเชียงใหม่ ซึ่งยังไม่มี แต่ก็มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น ก็เลยตั้งโจทย์ว่า ถ้าหากเชียงใหม่มีรถไฟฟ้าจะเป็นอย่างไร คงมีการขยายการค้าหรือมีการลงทุนตามหัวเมืองต่างๆ ผมลองเอาไปเทียบกับเกียวโตที่เหมือนเชียงใหม่มาก เพราะมีทั้งวัดวาอาราม มีความเป็นวัฒนธรรมสูง ผมก็ศึกษาว่าตอนที่ญี่ปุ่นมีรถไฟฟ้าใต้ดินตั้งแต่ปี 1980 นั้น วัฒนธรรมและมี

วิถีชีวิตของเขาเป็นอย่างไร แล้วก็หยิบจับเรื่องราวพวกนั้นมาเล่า เหมือนเป็น what if ว่า (ถ้า) ล้านนามีเหมือนเขา จะเป็นอย่างไง ถ่ายทอด

ด้วยการทำเป็นเสื้อผ้าของคนทำงาน เพราะเราคิดว่าคนทำงาน คือคนที่ขับเคลื่อนเมือง แล้วใส่ Gimmick ที่เกี่ยวข้องกับรถไฟใต้ดินลงไป 

เช่น ลายหนังสือพิมพ์ที่เป็นล้านนาของลองกอยเอง มีการเล่าเรื่องราวผ่านเทคนิคป้ายโฆษณาในรถไฟฟ้าใต้ดินบ้าง”

รูปแบบอาจจะเปลี่ยน แต่เนื้อหายังคงเดิม

      “เราไม่อยากบอกว่าลองกอยเป็นแบรนด์ผ้าคราม แต่เราเป็นแบรนด์ที่เล่าเรื่องล้านนาในรูปแบบใหม่มากกว่า
ซึ่งเราใช้วัสดุที่มาจากพื้นถิ่น แรงงานที่ใช้เย็บผ้าก็เป็นคนแถวนี้ แล้วก็ใช้ผ้าทอมือจากในพื้นที่ทั้งหมด
เราอยากสนับสนุนวัตถุดิบ Material ของล้านนาให้มันโกอินเตอร์ได้”

       ลายเซ็นของลองกอย คือเรื่องของลวดลายความเป็นล้านนาที่โดดเด่น ที่กล้าคิดขึ้นมาใหม่ทั้งหมด ผ่านเทคนิคที่สร้างเพื่อลวดลายนั้นๆ 

โดยเฉพาะ ผ่านทรงเสื้อผ้า เพื่อจะได้เสื้อผ้าที่ดูทันสมัยแล้ว ก็ตรง Concept มากขึ้น

3 ขั้นตอน ก่อนจะเป็นลองกอย

“ผมเคยสงสัยนะว่านักร้องดังๆ ที่ร้องเพลงเดิมๆ มา 20-30 ปี เขาไม่เบื่อเหรอ
เขาก็ฟังเพลงของเขาตลอด แต่คนที่มาฟังต่างหากที่มันไม่เหมือนเดิม”

      กว่าจะได้ผลงานสักชิ้น ต้องเริ่มจากหาข้อมูลก่อนว่าจะทำเรื่องราวอะไร  จะเอามาเล่าแบบไหน บางคอลเลกชันใช้เวลาหาข้อมูลไม่นาน 

แต่บางทีก็หลายอาทิตย์ ถ้าไม่มีความเครียดก็จะคิดได้ไว ส่วนใหญ่จะอิงกับ Keyword แล้วนำเทคนิคมาผสานเข้าด้วยกัน เมื่อลงรายละเอียด

ทุกอย่างจาก Keyword นั้นๆ มันจะครอบคลุมทั้งคอลเลกชันไม่ให้แตกแถว ขั้นต่อมา เป็นขั้นทดลองเทคนิคที่เหมาะสมกับลวดลาย เรื่องราวที่

จะนำเสนอ แล้วออกแบบเป็นลวดลายต่างๆ ขั้นตอนสุดท้าย เป็นการนำลงมาในเสื้อผ้าจริง ซึ่งถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด

      “ความท้าทายก็จะเป็นการเล่าเรื่องราวใหม่ๆ นั่นแหล่ะ การโฟกัสไปที่เรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก บางทีเราก็ชอบไปหมด 

อยากจะเล่าให้หมดเลย แต่ก็ต้องเลือกว่าเรื่องนี้เข้ากับเทรนด์ปัจจุบันไหม บางครั้งอยากจะเล่าเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่ถ้า Material ตัวนี้หมด ก็ไม่ได้ยึดติด แต่จะไปเสาะหาสิ่งที่มันมี เอามาเล่าต่อได้ หรือใช้วัตถุดิบจากตลาดจาก 50% หรือจากชุมชนอีก 50% เพื่อสร้างสมดุลในการทำงาน และทางด้านธุรกิจด้วย”

      นอกจากจะเป็นคนที่หลงใหลในความเป็นล้านนาแล้ว กล้ายังให้ความสำคัญกับเรื่องของการออกแบบ ซึ่งสตูดิโอและโชว์รูมสินค้า

ของลองกอยที่ออกแบบในบริเวณพื้นที่บ้านในแถบสันป่าตอง ที่คาดว่าจะเสร็จในช่วงเดือนตุลาคมของปีนี้ ก็มีมุมมองของสถาปัตยกรรมที่

น่าสนใจไม่แพ้กัน นอกจากเป็นการขยับขยายพื้นที่ทำงานให้กว้างขวางขึ้นแล้ว ยังมีโซนคาเฟ่ ให้ผู้คนได้มานั่งเล่นนั่งคุยกัน และมี Showroom สำหรับโชว์และขายสินค้า เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกค้าได้เข้าไปสัมผัสใกล้ชิดและรู้จักลองกอยได้มากขึ้น จังหวะของกล้ายังไม่จบเท่านี้ มันเป็นแค่

จุดเริ่มต้นของความสนุก ที่คนฟังทั้งหลายกำลังรอฟังอย่างตั้งใจ

แกลลอรี่

LONGGOY (ลองกอย)  

ที่ตั้ง :120 หมู่ 1 ต.สันกลาง อ.สันป่าตอง เชียงใหม่ 50120

โทรศัพท์    : 089 850 5334

Facebook : Longgoy

Instagram: Longgoy

Email: [email protected]

ผลิตภัณฑ์แนะนำ

Recommended products

สูทหรือแจ๊คเก็ต

ใช้ผ้าทอที่มาจากชุมชนในพื้นที่ข้างเคียง พิมพ์เป็นลวดลายธรรมชาติจากแผ่นอะครีลิคเหลือใช้จากการทำป้าย จัดวางให้มีความร่วมสมัย กลายเป็นเสื้อผ้าแฟชั่นที่สวมใส่ได้ในทุกโอกาส

กระโปรงอัดพลีท

มีการนำอัตลักษณ์ของล้านนามาตีความใหม่ จนกลายเป็นลวดลายที่ทันสมัยผสม ผสานกับความเป็นญี่ปุ่น ตัดเย็บแบบพลีท เพิ่มมิติของมุมมองที่แตกต่างจากขนบเดิม