วันนี้เราหลบลมร้อน ไปพูดคุยกับ รศ.วาสนา สายมา หรือ อ.วาด ในบ้านที่ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ใหญ่ และเมื่อได้เข้าไปในห้องทำงานของอาจารย์ ได้เห็นงานฝีมือจากไม้ไผ่ที่หลากหลาย ทุกชิ้นเป็นงานฝีมือที่ละเอียดอย่างน่าทึ่งและงานบางชิ้นทำให้เรานึกย้อนไปถึงบรรยากาศบ้านและวัดในชนบทตอนเด็กๆ ต่างกันแค่งานที่เราเคยเห็นเป็นดอกไม้สด แต่ของอาจารย์วาดเป็นดอกไม้ที่ทำมาจากไม้ไผ่หรือตอก ข้างฝาเต็มไปด้วยแผงตัวอย่างชิ้นงานไม้ไผ่ที่สานออกมาเป็นดอกไม้ในขนาดต่างๆ เรียงจากเล็กไปใหญ่ บางอย่างมีถึง 18 ขนาด มีกล่องบรรจุชิ้นงานแยกประเภทไว้อย่างเป็นระเบียบ มีทั้ง นก เต่า ปู ปลาตะเพียน กุ้ง กบ เพื่อรอการนำมาประกอบกันเป็นชิ้นงานต่างๆ

อาจารย์เล่าให้ฟังว่างานเหล่านี้เริ่มต้นมาจากงานวิจัย ในช่วงที่สอนหลักสูตรออกแบบอุตสาหกรรม คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ซึ่งขณะนั้นมหาวิทยาลัยมียุทธศาสตร์การนำงานวิจัยสู่ชุมชน จากการลงพื้นที่ก็พบว่าการทำงานด้านจักสานไม้ไผ่ยังมีอยู่มาก ด้วยเป็นคนที่ชอบงานไม้ไผ่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และตอนเด็กๆ เคยสานเสื่อใช้เองด้วย จึงเลือกที่จะทำงานวิจัยเกี่ยวกับงานไม้ไผ่ ในแต่ละที่ที่ไปเก็บข้อมูล มีงานไม้ไผ่ที่เราพบเห็น ทั่วๆ ไป คือนำไผ่มาจักเป็นเส้นที่เรียกว่าตอก แล้วนำตอกไปสานทำข้าวของเครื่องใช้บ้าง สานเปียแล้วเอาไปทำหมวก ทำกระเป๋าขายบ้าง เวลาไปงานพิธีก็จะเห็นชาวบ้านทำเป็นช่อดอกประดับประดาหรือทำเครื่องสักการะที่เกี่ยวกับพิธีกรรม และบางที่อาจารย์ก็เห็นการนำเศษตอกที่เหลือนำมาทำของเล่นให้เด็กๆ ด้วยการสานเป็นรูปสัตว์ต่างๆ เช่นปลาตะเพียน กบ กุ้ง ขนาดต่างๆ แต่ไม่มีวางขาย ด้วยเป็นคนที่เสียดายของ อาจารย์จึงเกิดความคิดที่จะนำผลงานจากเศษตอกเหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และอีกโจทย์ก็คือ อาจารย์คิดว่า ช่างฝีมือน่าจะมีรายได้มากกว่านั้น “ตอนนั้นคิดแค่นั้นจริงๆ ค่ะ ไม่ได้คิดว่าจะกลายมาเป็นแบรนด์วาสนาที่มีคนสนใจในวันนี้”

ในส่วนของเนื้อหางานวิจัยมีทั้งเรื่องชนิดของไผ่ ความยาวของไผ่ที่เหมาะกับงานจักสาน,คุณภาพ,ลวดลายตามธรรมชาติ,ภูมิปัญญาการจักให้เป็นเส้นหรือการจักตอก,การรักษาคุณภาพของไผ่ให้ใช้งานได้นาน รวมไปถึงการเก็บบันทึกลวดลายต่างๆ เมื่อจบงานวิจัย อาจารย์วาสนาได้ต่อยอดสิ่งที่คิดไว้ในใจคือการสร้างรายได้ จึงนำลายต่างๆ มาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ เริ่มจากเอาลายโบราณพื้นฐานมาประยุกต์ เช่น บางลายใช้ 8 เส้น 10 เส้น เราก็ลองทำโครงสร้างใหม่โดยการใช้ 4 เส้นเพื่อให้งานขดตัวซ้อนกันเป็นชั้นๆ ได้ง่ายเป็นต้น งานชิ้นแรกคือ “โคมไฟรังนก” ที่ทำจากตอกสานเป็นริ้ว ขดเป็นวงเหมือนงวงช้าง และนำเศษที่เหลือนำมาตีเกลียวแล้วนำมาใช้เป็นแกนหรือก้านดอก ช่วงนั้นมีการประกวด Innovative Craft Award 2012 ของสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (SACIT) จึงลองส่งผลงานเข้าประกวด ผลงานได้รับรางวัลผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือ Eco Design ซึ่งก็เป็นความภาคภูมิใจและดีใจมากๆ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้แบรนด์วาสนาเริ่มเป็นที่รู้จัก ทำให้คนสนใจว่าไม้ไผ่ทำอะไรได้มากกว่ากระบุง ตะกร้า และหลังจากนั้นก็ได้รับการสนับสนุน ส่งเสริมด้านการตลาดและการพัฒนาอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย


ต่อมาเกิดแรงบันดาลใจที่จะทำสินค้าที่มีเรื่องราวทางวัฒนธรรม จึงนึกถึงเครื่องแขวนไทยที่เป็นงานหัตถศิลป์ไทยที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา มีทั้งที่ทำจากดอกไม้สด ดอกไม้แห้ง อาจารย์ลองเอางานไม้ไผ่รูปทรงต่างๆ มาประกอบเป็นเครื่องแขวนไทย ซึ่งก็สวยงามดูเป็นธรรมชาติและมีข้อดีคือเก็บรักษาไว้ได้นานหลายปีเลยทีเดียว งานเครื่องแขวนเหล่านี้ใช้ในการประดับตกแต่งสถานที่ ประตู หน้าต่างและสิ่งเคารพบูชา แต่ละชิ้นงานก็มีชื่อต่างๆ กัน เช่น วิมานพระอินทร์ ประจำยามย่อมุม บันไดแก้ว กลิ่นตะแคงดาว พัดจามร พู่กลิ่น ฯลฯ ทำให้ได้ส่งต่อเรื่องราว ความหมาย และวัตถุประสงค์การใช้งาน ให้คนทั่วไปได้เรียนรู้เรื่องของศิลปะ วัฒนธรรมไทยมากขึ้น นอกจากนี้อาจารย์ยังได้สร้างสรรค์งานอื่นๆ ขึ้นมาอีกมากมาย ทั้งพวงมาลัย โคมไฟ กระเป๋า ได้ลูกชายที่เป็นผู้สืบสานงาน มาช่วยเรื่องการออกแบบให้ร่วมสมัย การย้อมสีให้สวยงาม ฯลฯ ทำให้งานของ “วาสนา” ได้รับการตอบรับดีขึ้นเรื่อยๆ มีโอกาสได้ไปจัดแสดงทั้งในและต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการจัด Workshop ให้ผู้คนมาทดลองทำเป็นการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยไปในตัว


ปัจจุบันอาจารย์ทำงานร่วมกับชุมชนต่างๆ มากกว่า 20 ชุมชน รวมถึงรับเป็นวิทยากรบรรยาย มุ่งหวังเรื่องการสร้างรายได้ให้ชุมชนและเผยแพร่แก่คนรุ่นใหม่ สุดท้ายของบทสนทนาอาจารย์วาสนาบอกกับเราว่า “อาจารย์วาดดีใจที่เราสามารถดึงเอาสิ่งเก่าๆ ให้กลับมา ได้เผยแพร่วัฒนธรรม ได้สร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างรายได้ให้ชุมชนและผู้สูงอายุ เป็นการสานต่อลมหายใจจากไม้ไผ่สู่เส้นตอก ตามที่มุ่งหวังไว้แต่แรก”

แกลลอรี่
วาสนา
ที่ตั้ง : 291 หมู่ 7 ต.หนองควาย อ.หางดง จ.เชียงใหม่ 50230
โทรศัพท์ : 081-1239520 , 0902953544
Facebook : VASSANAdesign