sa'lahmade

วิชัยกุลเครื่องเขิน

เครื่องเขิน สมบัติล้ำค่าของแผ่นดิน ที่ถูกรักษาไว้ด้วยตระกูลวิชัยกุล

“จะมีใครรักอาชีพของบรรพบุรุษเรา...เหมือนกับเรา”

      คุณแม่พัชรา ศิริจันทร์ชื่น ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปีพ.ศ. 2557 ได้เปิดบ้านซึ่งเป็นทั้งสำนักงานและโชว์รูมบนถนน นันทารามในเวียงเชียงใหม่เป็นครั้งแรก หลังจากปิดมานานเพราะสถานการณ์โควิด-19 ที่นี่เป็นสถานที่รวบรวมการทำงานเครื่องเขินในบริเวณนี้ทั้งหมด แม่พัชเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเครื่องเขินให้ฟังว่า

      ‘วิชัยกุล’ มีความเป็นมาตั้งแต่ยุคสร้างบ้านแปงเมือง ช่วงนั้นมีการรบกันและได้กวาดต้อนผู้คนจากเชียงตุง มาไว้ทางทิศใต้ของประตูเชียงใหม่ ตระกูลเราก็เป็นหนึ่งในช่างสิบหมู่ของชุมชนวัวลาย มีชุมชนช่างฝีมือทำเครื่องเงิน ส่วนบรรพบุรุษของเรา คือ อุ๊ยทวด – จันทร์เป็ง 

วิชัยกุล ทำหัตถกรรมเครื่องเขิน ก็เลยเอานามสกุลมาตั้งเป็นชื่อแบรนด์ อย่างแม่พัชเองก็เป็นรุ่นที่หกแล้ว ที่มีการสืบสานการทำเครื่องเขิน

มาตลอด”

      ความภาคภูมิใจฉายออกทางแววตาของแม่พัช เพราะการสืบทอดการทำงานด้านนี้แทบจะหาไม่ได้แล้ว วิชัยกุลยังคงดำรงองค์ความรู้ ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่ยืนหยัดมานับร้อยปีแล้ว

     “งานเครื่องเขินเป็นสมบัติของเรา สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น จะมีใครรักอาชีพของบรรพบุรุษเราเหมือนกับเรา มันเป็นงานที่มีเสน่ห์ ทุกอย่างต้องทำด้วยงานมือทั้งหมด ไม่ได้ใช้เครื่องจักรเลย”

ยุครุ่งเรื่องแห่งงานหัตถกรรม

      ปีพ.ศ. 2518 ถือเป็นยุครุ่งเรืองของงานหัตถกรรม เพราะถ้ามีทัวร์มาเที่ยวที่เชียงใหม่ จะต้องแวะมาดูงานเครื่องเขินวิชัยกุล งานเครื่องเงินลายไทย ก่อนที่จะขึ้นไปสักการะพระธาตุดอยสุเทพ จนเมื่อมีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ได้มีการสร้างถนนสายวัฒนธรรมที่สันกำแพง เครื่องเขินวิชัยกุลก็ได้ย้ายไปอยู่โซนนั้นด้วย ต่อมาเมื่อเศรษฐกิจซบเซาจึงได้ย้ายกลับมาอยู่ที่เดิมคือตรงถนนนันทาราม จนกระทั่งปีพ.ศ. 2545 เจ้าอาวาสวัดนันทาราม ได้รวบรวมเอาบรรดาครูช่างให้มารวมกันอยู่ที่วัดนี้ และจัดให้มีพิพิธภัณฑ์เครื่องเขิน เพราะไม่อยากให้งานหัตถกรรมสูญหายไป 

     “ตระกูลวิชัยกุล เป็นเหมือนฝ่ายที่รวบรวมงานฝีมือด้านเครื่องเขินของสล่าในละแวกวัดนันทาราม เป็นการช่วยสร้างงานให้ชาวบ้าน โดยเราลงทุนวัสดุทุกอย่าง เช่น พวกยางรัก พวกไม้ต่างๆ จะสั่งมาให้ชาวบ้านทั้งหมด อาศัยฝีมือแรงงานอย่างเดียว คืองานเครื่องเขินชิ้นหนึ่ง ไม่ได้จบที่คนเดียว มีทั้งคนทำงานสานไม้ไผ่ งานลงรัก งานวาดลวดลาย สมัยก่อนเขาจะปั่นจักรยานมาทำงานที่บ้านเรา แต่เดี๋ยวนี้เราต้องไปส่งงานที่บ้านเขาแทน ซึ่งอยู่คนละที่กัน กระจายกันไป ไม่ได้ทำอยู่จุดเดียว”

 

กว่าจะเป็นเครื่องเขิน

      เครื่องเขิน เป็นงานฝีมือของชาวไทยเขินที่อพยพมาอยู่ในเมืองไทย มีโครงสร้างที่ทำจากไม้ไผ่สานเพราะมีน้ำหนักเบา นำมาทาด้วยยางไม้

สีดำที่เรียกว่า ‘ยางรัก’ ทาซ้ำๆ จนยางรักมันเงาได้รูปสวยงาม แล้ววาดลวดลายด้วยมือ เมื่อวาดเสร็จแล้วก็จะนำแผ่นทองคำแท้มาติด แล้วจึง

ล้างออก ลวดลายต่างๆ ก็จะกลายเป็นสีทองส่งประกายสว่างตัดกับสีดำของยางรัก สวยงามล้ำค่ามีเอกลักษณ์สวยงาม นอกจากลายรดน้ำปิดทองแล้ว ยังมีลายขูดโบราณ ลายเพ้นท์สีอะคริลิก หรือลายเปลือกไข่ เป็นต้น

      แม่พัชได้เล่าเรื่องของ ‘ยางรัก’  ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการทำเครื่องเขินให้ฟังว่า เมื่อครั้งที่กรุงเทพมหานคร มีการเฉลิมฉลอง ครบรอบ 200 ปี ได้มีการบูรณะวัดและเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ซึ่งมีสมเด็จพระเทพฯ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ทรงเป็นองค์ที่ปรึกษาด้านการอนุรักษ์ แต่ยางรักซึ่งเป็นวัสดุสำคัญที่ต้องใช้ในการบูรณะกลับขาดแคลน จึงทรงให้หน่วยงานราชการ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงป่าไม้ หลายหน่วยงาน ช่วยกันหายางรักจากที่ต่างๆ จากนั้นจึงเริ่มมีการส่งเสริมให้มีการปลูกต้นรัก และใช้ประโยชน์จากยางรักมากขึ้น โดยเฉพาะในอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีศูนย์วิสาหกิจชุมชนยางรัก โดยมีกลุ่มปกากะญอ เป็นคนทำยางรักขึ้นมา นับว่าเป็นพระกรุณาธิคุณที่ทรงเห็นความสำคัญของภูมิปัญญาไทย “บางครั้งเราก็ใช้ยางรักจากอมก๋อย แต่ถ้าไม่พอก็จะมีคนขายยางรักจากพม่า นำยางรักข้ามส่งมาให้วิชัยกุล แต่ต้องมีการแจ้งจำนวนนำเข้าให้ถูกต้อง” 

      แม่พัชเล่าให้ฟังว่าการที่จะทำเครื่องเขินให้ออกมาสวยงามนั้น ฤดูกาลและอากาศก็มีส่วนสำคัญ 

     “ยางรัก ที่ใช้ทาเครื่องเขิน จะชอบอากาศร้อนชื้นของฤดูฝน ถ้าได้อากาศจากธรรมชาติแบบนี้ ชิ้นงานก็จะออกมาสวยงาม ส่วนงานที่มีสีแดง อย่างพวกหีบผ้าไหม จะใช้ ‘ชาด’ พวกงานไม้ไผ่ที่ทาด้วยยางรักแล้วเขียนลายด้วยชาด ก็เรียกว่าเป็นงานเครื่องเขินเชียงใหม่อีกแบบ ที่ใช้เทคนิคงานขูดให้เป็นลายแบบโบราณเหมือนกัน”

วิจิตรศิลป์แห่งลวดลาย ที่ไม่อาจลอกเลียนแบบ

      ลวดลายที่อยู่บนเครื่องเขิน จะมีเสน่ห์แตกต่างกันไปตามน้ำหนักมือ และลายเส้นที่แตกต่างของช่างแต่ละคน ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวต่างชาติชื่นชอบและให้ความสนใจ และลวดลายที่อยู่บนเครื่องเขินวิชัยกุลนั้น ก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใครเช่นกัน จนได้รับสิทธิบัตรจากกระทรวงพาณิชย์ในปีพ.ศ. 2558-2559 ด้านศิลปกรรม ที่ทำให้แม่พัชภูมิใจ

     “ลายที่ได้รับรางวัล ได้แรงบันดาลใจมาจากเหรียญโบราณที่มีรูตรงกลาง เราใส่ลายกนกลงไป แล้วเพิ่มลายประจำยามที่เรียกลายเหรียญ 

ซึ่งถือว่าเป็นสิริมงคล ให้ความมั่งคั่งรุ่งเรือง เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือถ้าเห็นลวดลายแบบนี้ จะรู้เลยว่าเป็นผลงานของวิชัยกุล”

ปรับตัวเข้ากับยุคสมัย แต่ไม่ทิ้งอัตลักษณ์แห่งล้านนา

      งานเครื่องเขินของวิชัยกุลได้รับรางวัลมากมาย โดยเฉพาะงานร่วมสมัย อย่าง กระเป๋า หรือเคสโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นงานไลฟ์สไตล์ที่ปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยจนโดนใจลูกค้า

     “ตอนนี้วิชัยกุลจะมีสินค้าสองแบบ คือ งานแบบอนุรักษ์นิยม เพื่อสืบต่องานโบราณ เพราะว่ามีมานานแล้ว สินค้าพวกนี้จะมีกลุ่มลูกค้าเฉพาะ ที่จะเอาไปใช้ตามงานพระราชพิธีต่างๆ ตามวัด ตามวัง หรืองานเกี่ยวกับพิธีทางศาสนา เช่น พระพุทธรูปลงรักปิดทอง ส่วนอีกกลุ่มก็จะเป็นสินค้าร่วมสมัยหน่อย แต่เราก็ไม่ได้ทิ้งอัตลักษณ์ของล้านนานะ เป็นของที่ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน อย่างพวก Gadget ต่างๆ เช่น Wireless Charger พวงกุญแจ กล่องนามบัตร อย่างกระเป๋าถือก็ทำให้ร่วมสมัยหน่อย ก็พยายามปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เอางานหัตถกรรมโบราณมาผสมกับงานวิทยาศาสตร์ เราได้ไปเข้าร่วมโครงการกับสวทช. เพื่อคิดค้นตัวน้ำยาเคลือบพื้นผิว ป้องกันไม่ให้ลวดลายมันเลือนหายไป ถือว่าเป็นจุดเด่น

อีกหนึ่งเรื่องของเครื่องเขินวิชัยกุลก็ว่าได้ ”

มากกว่าความงาม คือต้องขายได้ด้วย

“ถ้าเราจะอนุรักษ์อย่างเดียว แต่แปรเป็นเงินไม่ได้ มันก็ไม่มีประโยชน์
แต่ถ้าสวยแล้วขายได้ด้วย ก็ช่วยกระตุ้นให้เกิดชิ้นงานชิ้นใหม่ขึ้นมา”

      เมื่อมีสัญญาณของการเปิดประเทศ จึงมีนักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติ กลับมาให้ความสนใจงานของเครื่องเขินวิชัยกุลอีกครั้ง กลุ่มสล่า

หรือช่างจึงรวมตัวกันเพื่อฟื้นเสน่ห์ของงานทำมือขึ้น เพื่อให้ตอบรับกับความต้องการ ซึ่งแม่พัชได้ให้มุมมองไว้อย่างน่าสนใจ 

     “ถ้าเราจะอนุรักษ์อย่างเดียว แต่แปรเป็นเงินไม่ได้ มันก็ไม่มีประโยชน์ แต่ถ้าสวยแล้วขายได้ด้วย ก็ช่วยกระตุ้นให้เกิดชิ้นงานชิ้นใหม่ขึ้นมา 

ถ้างานสวยๆ เราเคยขายได้หลักหมื่น ก็จะเกิดแรงบันดาลใจ อยากทำชิ้นต่อไปให้ขายได้หลักแสน สำหรับวิชัยกุลเรื่องฝีมือไม่ต้องห่วง เรามีช่างมากฝีมืออยู่แล้ว งานก็มีเอกลักษณ์ชัดเจน ไม่ได้แค่สวยงาม แต่แม่เรียกว่า ‘วิจิตรบรรจง’ ซึ่งมากกว่าคำว่า ‘สวย’ อีกนะ” แม่พัชกล่าวอย่างภูมิใจ

แกลลอรี่

วิชัยกุลเครื่องเขิน  

ที่ตั้ง : 86 บ้านชุมชนวัดนันทาราม ถ.นันทาราม ต.หายยา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50100 

โทรศัพท์    : 086 0657 4237 , 086 9161424

Facebook : วิชัยกุลเครื่องเขิน (งานภูมิปัญญา)

Email: [email protected]

ผลิตภัณฑ์แนะนำ

Recommended products

กระเป๋าถือ

ความเป็นล้านนาที่ถูกนำมาใช้เป็นลวดลายบนกระเป๋ารูปทรงทันสมัย สีทองสุกสว่างบนพื้นแดงชาด เพิ่มความหรูหราแต่มีสไตล์

ขาร์ตแบบไร้สาย Wireless Charger

เป็นการนำงานหัตกรรมโบราณของการทำเครื่องเขิน มาออกแบบให้ร่วมสมัย ทำให้เป็นสินค้าที่ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน และยังคงไว้ด้วยอัตลักษณ์แห่งล้านนา