sa'lahmade

วีฟ อาติซาน โซไซตี้

สานต่อความคิด ถักทอนักศิลป์ สู่สังคมแห่งความสร้างสรรค์

      วีฟ อาติซาน โซไซตี้ (Weave Artisan Society) คือพื้นที่สร้างสรรค์ ที่สามารถแลกเปลี่ยนความรู้ แบ่งปันความคิด ส่งเสริมงานคราฟต์ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ด้วยการนำเสนอคุณค่าที่แอบแฝงในทุกแง่มุม ผ่านกระบวนการสร้างสรรค์ โดยมีเวิร์กช็อปจากหลากหลายสาขา เป็นสื่อกลางให้นักศิลป์หรือช่างฝีมือได้มาพบเจอกับผู้เสพงานคราฟต์ ก่อตั้งโดยจูเลี่ยน ฮวง อาจารย์พิเศษคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้เป็นสถาปนิกหลักของโครงการ ร่วมกับคุณนก – สุนัดดา ฮวง พาร์ทเนอร์ผู้รับหน้าที่เป็นผู้จัดการ และเพื่อนนักออกแบบอีก 3 คน

เริ่มถักทอ

      คุณนกเล่าถึงที่มาของวีฟ อาติซาน โซไซตี้ ว่าเกิดจากการรวมตัวของเพื่อน 5 คน ที่มีความสนใจเหมือนกัน ทุกคนมองว่างานคราฟต์ของเชียงใหม่น่าสนใจ โดยเฉพาะการทำเวิร์กช็อป โดยจูเลี่ยนเคยมีส่วนร่วมกับกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์มาหลายงาน อาทิ Tedx Chiang Mai, 

Chiang Mai Design Awards, Chiang Mai Design Week, Creative Chiang Mai พบว่ากลุ่มนักศิลป์และกลุ่มเวิร์กช็อปท้องถิ่นส่วนใหญ่อยู่นอกตัวเมือง ส่วนกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มาเชียงใหม่ก็มีเวลาจำกัด ไม่เพียงพอที่จะเดินทางไปทำเวิร์กช็อปตามชุมชนต่างๆ ได้ครบถ้วน จึงเกิดความคิดว่า อยากจะเชื่อมโยงคนทั้งสองกลุ่มให้เข้าถึงกัน โดยออกแบบให้คอมมูนิตี้สำหรับแลกเปลี่ยนและแบ่งปัน มาทำความรู้จักกับนักศิลป์ มาเรียนรู้งาน

คราฟต์ ผ่านสินค้าหัตถกรรมหรือเวิร์กช็อปที่วีฟ อาติซาน โซไซตี้ เลือกสรรมา 

      คุณนกและจูเลี่ยน ช่วยกันอธิบายถึงชื่อโครงการว่า วีฟ (Weave) หมายถึงการถักทอ แต่ละเส้นใยแทนด้วยนักศิลป์แต่ละสาขาวิชาชีพ นำมาเชื่อมต่อเข้าด้วยกันกลายเป็นผืนผ้าที่มีความแข็งแรง เหนียวแน่น แต่อ่อนนุ่มอยู่ในที เหมือนกับที่ วีฟ อาติซาน โซไซตี้ สานทุกฝ่ายเข้าด้วยกันอยากลงตัว

เมื่อผืนผ้าเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง

      เมื่อถามถึงสถานที่ตั้งโครงการ ทั้งคู่ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “สถานที่ตรงนี้เลือกเรา”

      คุณนกเล่าว่า วีฟ อาติซาน โซไซตี้ ตั้งอยู่ใจกลางชุมชนวัฒนธรรมของถนนวัวลาย อยู่ระหว่างวัดนันทาราม วัดหมื่นสาร และวัดศรีสุพรรณ ตอนแรกเราเลือกดูหลายที่ สถานที่ที่เลือกเอาไว้ก็ติดปัญหาหลายอย่าง จึงต้องกลับมาดูที่ตรงนี้อีกครั้ง คนส่วนใหญ่จะรู้จักถนนวัวลายว่าเป็นแค่ถนนคนเดิน แต่จริงๆ แล้ว ตรงนี้เป็นแหล่งชุมชนทำเครื่องเงิน ที่วัดมีการทำหัตถกรรม มีแหล่งอาหารอร่อยขึ้นชื่อ”

      จูเลี่ยนเล่าเสริมว่า “แต่เดิมที่นี่เป็นโรงน้ำแข็งเก่าแก่ อายุประมาณ 45 ปี แต่ถูกปล่อยให้รกร้าง ใช้เวลาก่อสร้างนานเกือบปี โดยพยายามเก็บของเก่าไว้ อย่าง พื้นหินขัด แท่นวางเครื่องทำน้ำแข็ง ฯลฯ แล้วเพิ่มเติมของใหม่เข้าไปบางส่วน ชุมชนวัวลายมีเรื่องราวน่าสนใจ เป็นหนึ่งในชุมชน

คราฟต์ที่มีชื่อเสียงของเชียงใหม่ โดดเด่นเรื่องการทำเครื่องเงิน เครื่องเขิน งานลงรัก เครื่องประดับ ที่นี่มีสตอรี่อยู่แล้ว และวีฟ อาติซาน โซไซตี้ อยากจะเชื่อมโยงกับสตอรี่นี้เข้าด้วยกันกับอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ผ่านความคิดสร้างสรรค์ อดีตหมายถึงประวัติศาสตร์ ปัจจุบันคืออาคารแห่งนี้ และอนาคตคือเมืองเชียงใหม่”

 

      จูเลี่ยนเล่าถึงแนวคิดหลักของ วีฟ อาติซาน โซไซตี้ คือ ‘Process driven design’ ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับตัวชิ้นงาน แต่สนใจในเรื่องของกระบวนการมากกว่า เพราะเบื้องหลังของชิ้นงานที่สวยงามนั้น ต้องผ่านกระบวนการคิด และกระบวนการทำงานมากมาย การทำให้คนภายนอกได้รับรู้ถึงเรื่องราวที่มาที่ไปนั้น จะเกิดเป็นความเข้าใจ กลายเป็นคุณค่าของงานคราฟต์

      คุณนกบอกว่า “เราอยากทำให้ วีฟ อาติซาน โซไซตี้ เป็นจุดหมายปลายทางของนักเดินทาง และในขณะเดียวกันที่นี่ก็เป็นเหมือนเวทีที่เปิดโอกาสให้กับนักศิลป์ เข้ามามีส่วนร่วมกับพื้นที่ของเรา วีฟ อาติซาน โซไซตี้ เปิดดำเนินการมาแล้ว 3 ปี โดยในปีแรก เราจัดเวิร์กช็อปหลากหลายคอร์ส ดึงคนมาทำกิจกรรม ครั้งหนึ่งเราทำกิจกรรมโชว์เครื่องเงิน เครื่องเขิน กับทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คนที่เข้ามาสามารถเข้าใจและเรียนรู้ได้ว่า ตรงนี้เป็นชุมชนที่ทำเครื่องเงิน เครื่องเขิน ตอนนี้เขาก็ยังขายอยู่ และยังมีการทำเวิร์กช็อปอยู่ด้วย อีกงานก็คือ เป็นการออกแบบเส้นทางเดินเที่ยวในชุมชุนวัวลาย เป็นการเดินเข้าไปในซอยของหมู่บ้าน ที่เป็นแหล่งทำเครื่องเงิน เครื่องเขิน งานแกะสลัก แต่พอโควิดก็ต้องหยุดไปก่อน”

แกะเส้นด้ายที่ขมวดปม

      คุณนกเล่าถึงปีที่ 2 ของการดำเนินงาน ได้ประสบปัญหาจากสถานการณ์โควิด ไม่สามารถจัดกิจกรรมต่างๆ ได้ตามที่ตั้งใจ ทั้งที่เป้าหมายแรกของการทำวีฟ อาติซาน โซไซตี้ คือการดึงให้คนเข้ามาทำเวิร์กช็อป ดึงนักศิลป์ให้เข้ามานำเสนองาน

      “เมื่อทุกอย่างถูกยกเลิก เราก็เลยคิดถึงความตั้งใจที่เคยอยากจะผลิตผลงานร่วมกับนักศิลป์ เราโชคดีที่มีทีมนักออกแบบต่างชาติที่เป็นพาร์ทเนอร์ มีทีมนักออกแบบคนรุ่นใหม่และนักศิลป์ท้องถิ่นที่ทำงานด้วยกัน เลยเกิดเป็นแรงผลักดันให้เกิดการพัฒนาสินค้าขึ้นมา มีการวางแนวคิดเอาไว้ว่า ต้องเป็นสินค้าสำหรับตอบสนองชีวิตร่วมสมัย ผสานความดั้งเดิมเข้ากับรูปแบบสมัยใหม่ ซึ่งสินค้าที่ผลิตขึ้นมา ได้มีจำหน่ายในช่องทางออนไลน์และออฟไลน์”

      ‘วีฟ อาติซาน โซไซตี้’ ประกอบไปด้วย ร้านคาเฟ่ Taste Atelier, Weave Selected Store จำหน่ายสินค้าของ Weave Artisan Society ที่ออกแบบและทำงานร่วมกับนักศิลป์, บาร์เครื่องดื่ม Yellow Pug, Hair House by Adam Chan ร้านตัดผมโดยช่างชาวไทย ที่ไปเติบโตที่ฮ่องกงที่ต้องจองล่วงหน้า, กรีนสโมค (Green Smoked) ร้านอาหารสไตล์โซลฟู้ด และ กิจกรรมอื่น ๆ ที่จะมีเพิ่มเติมในเร็ว ๆ นี้  

สานต่อความสร้างสรรค์

      คุณนกอธิบายเสริมว่าพื้นที่สร้างสรรค์นั้น ไม่ใช่เป็นเพียงการนำงานศิลปะมาแสดงแต่อย่างเดียว หรือเกิดจากความคิดของคนๆ เดียว แต่มันคือการที่หลายๆ คนนำความคิดมาแบ่งปันกันแล้วทำให้เกิดสิ่งใหม่ขึ้น 

      จูเลี่ยนยังเพิ่มเติมอีกว่า พื้นที่สร้างสรรค์เป็นเรื่องของ Mind Set การเปิดใจรับสิ่งต่างๆ กล้าคิดที่จะทดลองเพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ มันจึงจะเกิดเป็นความคิดสร้างสรรค์ ความคิดสร้างสรรค์คือการคิดนอกกรอบ มีความยืดหยุ่นและมีอิสระ เช่นเดียวกับที่ วีฟ อาติซาน โซไซตี้ ที่ให้อิสระกับนักศิลป์ที่มาร่วมงานอย่างเต็มที่เพื่อที่จะสนับสนุน และผลักดันให้เกิดการคิดสร้างสรรค์สูงสุด

      คุณนกและจูเลี่ยนเล่าถึงกิจกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจาก British Council Thailand ในนิทรรศการชื่อ Woven Forest จัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมร่วมกันระหว่างนักศิลป์ชาวไทยและนักศิลป์ชาวสก็อตแลนด์ โดยการเชิญช่างทอผ้าจากสันกำแพง มานั่งทอผ้าให้เห็นถึงกระบวนการทำงาน กว่าจะออกมาเป็นผ้าผืนหนึ่ง เกิดการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างนักศิลป์และผู้ที่สนใจ ซึ่งสร้างแรงบันดาลใจให้กับทั้งสองฝ่ายเป็นอย่างมาก อีกงานที่จัดก่อนหน้านี้ชื่อ The Living Room Project จัดขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด โดยนำแบรนด์ผ้าทอของเชียงใหม่เข้ามาจัดแสดง เป็นการสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงที่คนต้อง Work from Home ปรับบ้านให้กลายที่นั่งทำงาน งานเป็นกิจกรรมเสวนาและเวิร์กช็อปเพื่อต่อยอดองค์ความรู้แก่ผู้ที่สนใจ

      คราฟต์ ในมุมมองของจูเลี่ยนนั้น มองว่าคราฟต์เป็นอะไรก็ได้ ที่ไม่ใช่เป็นเพียงชิ้นงาน 

    “คราฟต์เป็นเรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรม เกี่ยวกับรูปแบบการดำเนินชีวิต เกี่ยวกับเรื่องราวเบื้องหลังของชิ้นงาน และคราฟต์คือชีวิต” 

      สำหรับคุณนก คราฟต์อาจจะเป็นงานประดิษฐ์จากการทำมือ 

    “ถ้าเราอยากให้คราฟต์มีคุณค่ามากขึ้นไปอีก เราต้องเพิ่มมูลค่าเข้าไป โดยบอกเล่าในเรื่องของความหมายและตัวตนที่นักศิลป์แต่ละคนสอดแทรกอยู่ในชิ้นงาน”

แกลลอรี่

วีฟ อาร์ติซาน โซไซตี้

ที่ตั้ง : 12/8 ถนนวัวลาย ซอย 3 ตำบล หายยา อำเภอเมืองเชียงใหม่ เชียงใหม่ 50100

โทรศัพท์ : 062 046 3338

เปิดบริการ : ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00 น.

Website : www.weaveartisansociety.com

Facebook : Weave Artisan Society

Instagram : weaveartisansociety

Email: [email protected]

ผลิตภัณฑ์แนะนำ

Recommended products