sa'lahmade

Studio Mueja

เฟอร์นิเจอร์ทำมือ ที่ไร้กฎเกณฑ์ และเรียนรู้ทุกอย่างจากยูทูป

        มือจา คือชื่อสตูดิโอทำเฟอร์นิเจอร์แฮนด์เมด จากไม้เก่าที่ออกแบบและลงมือทำด้วยตัวเองทุกกระบวนการของ ปูน – ระพีพัฒน์ แก้วทิพย์ 

หนุ่มเชียงใหม่ผู้ไปร่ำเรียนไกลถึงเมืองกรุง หลังเรียนจบทางด้านการออกแบบในสาขาสถาปัตยกรรมไทยก็พบว่า ตัวเองไม่ได้ชอบสายงานด้านนี้ 

จึงกลับมาอยู่บ้านซึ่งตรงกับช่วงโควิดพอดี สิ่งที่ทำได้คือนั่งดูยูทูปไปเรื่อยๆ จากความชอบงานไม้เป็นทุนเดิม ยิ่งดูก็ยิ่งดำดิ่งลงไปในโลกของงานไม้ มารู้ตัวอีกที โรงรถของที่บ้านก็กลายเป็นเวิร์กช็อปขนาดย่อมที่มีอุปกรณ์พร้อมสรรพไปเสียแล้ว

      “ตอนกลับมาอยู่บ้าน ก็มองหาอะไรทำ อยากทำเป็นธุรกิจของตัวเอง จึงเริ่มจากสิ่งที่ตัวเองทำได้ เราชอบงานไม้ ชอบในเรื่องของงาน

แฮนด์เมด เห็นว่าแถวบ้านมีไม้เก่าซึ่งถูกรื้อมาจากบ้านไม้เก่าเยอะมาก เลยลองเอามาทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ งานชิ้นแรกๆ ก็จะทำเป็นโต๊ะเล็กๆ เก้าอี้ ทำเสร็จแล้วก็ลองโพสต์ขายทางออนไลน์ ปรากฏว่ามีคนสนใจ เลยเป็นจุดเริ่มต้นให้ทำต่อมาเรื่อยๆ”

เพิ่มสกิลด้วยการเรียนรู้ไร้ขีดจำกัด

      ‘มือจา เป็นภาษาเหนือ แปลว่า มือสาก ปูนบอกว่ามือของช่างไม้ที่มากประสบการณ์ จะมีร่องรอยที่เกิดจากการทำงานให้เห็น สำหรับทักษะงานไม้ที่เขามีนั้น ไม่ได้ร่ำเรียนมาจากที่ไหน และทางครอบครัวก็ไม่ได้มีพื้นฐานทางด้านนี้ด้วย หากแต่เป็นความสนใจเฉพาะตัว สิ่งที่

อยากรู้ล้วนอยู่บนโลกอินเตอร์เน็ต ครูที่เก่งที่สุดของเขาก็อยู่ในยูทูปเช่นกัน เมื่อมีความรู้ในสิ่งที่อยากทำแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็แค่ลงมือทำ 

และเมื่อเกิดคำถาม ทุกคนในโลกออนไลน์พร้อมที่จะให้คำตอบเสมอ นับเป็นการเรียนรู้ที่ไร้ขีดจำกัดของคนยุคนี้จริงๆ

ช่างไม้ ก็เหมือนช่างตัดเสื้อ

      “จุดเด่นของสตูดิโอ มือจา ก็คือเรื่องของการออกแบบที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทุกชิ้นทำแบบแฮนด์เมด ไม่ได้ทำเป็นระบบโรงงาน แต่เราทำงานเหมือนช่างตัดเสื้อ ที่ทำงานแบบ Tailor made ให้กับลูกค้าแต่ละคน เราจะให้ลูกค้าเป็นคนบอกว่า อยากได้อะไร ขนาดไหนและเอาไป

ทำอะไร แล้วก็จะออกแบบให้เข้ากับความต้องของเขา หรือจะเลือกแบบจากที่เรามีก็ได้ ปรับรายละเอียดได้ หรืออยากให้ออกแบบใหม่ก็ได้ 

เพียงแต่ต้องคุยรายละเอียดที่ต้องการกันก่อน”

      ชิ้นงานของสตูดิโอ มือจา จะได้แรงบันดาลใจมาจากหลายอย่าง ทั้งจากงานสถาปัตยกรรม จากธรรมชาติหรือแม้แต่ของใช้ต่างๆ ใกล้ตัว 

ซึ่งในช่วงแรกที่ทำ มักจะเริ่มจากตัวของวัสดุที่มีอยู่ก่อนแล้วจึงออกแบบให้เข้ากัน 

      “เราเห็นว่าลายไม้ชิ้นนี้สวย ก็ออกแบบใช้ไม้ทั้งชิ้น พยายามโชว์เนื้อไม้ให้ได้มากที่สุด สุดท้ายออกมาเป็นโต๊ะที่มีหลายขา เพราะอยากให้

แตกต่างจากโต๊ะทั่วไป ซึ่งกลายเป็นภาพจำของแบรนด์ไปแล้ว เราจะเลือกใช้ไม้เก่าเป็นหลัก ข้อดีก็คือเรื่องราคาที่ไม่สูงมากนักและปัญหา

การบิดงอมีน้อย เสน่ห์ของไม้เก่าอยู่ตรงที่ร่องรอยของตะปูและอะไรต่อมิอะไร พอเอามาซ่อมก็เกิดเป็นรอยอีก มันเป็นความงามรูปแบบหนึ่ง 

ที่ไม่ต้องสมบูรณ์แบบเสมอไป”

 

ออกแบบการทำงานให้เข้ากับตัวเอง

      ปูนเล่าถึงอุปสรรคในการทำงานว่ามีหลายส่วน เนื่องจากเขาทำงานคนเดียว ไม่มีลูกมือ ทำให้การทำงานอาจมีความล่าช้า แต่ลูกค้าก็เข้าใจและรอได้ ยังมีเรื่องความยุ่งยากในการขนส่ง เพราะสินค้ามีขนาดใหญ่และต้องเดินทางไกล จึงต้องใส่ใจและห่อหุ้มให้ดี ในส่วนของความท้าทาย ก็คือความต้องการของลูกค้าแต่ละคน ที่ต้องตอบโจทย์เรื่องการออกแบบให้เหมาะกับแต่ละสถานที่ รวมถึงระยะเวลาในการผลิตอีกด้วย

      สตูดิโอ มือจา เกิดขึ้นมาในช่วงสถานการณ์โควิด การมีตัวตนของแบรนด์ล้วนแล้วแต่อยู่บนโลกออนไลน์ทั้งสิ้น การประชาสัมพันธ์และ

ช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าบนอินสตาแกรมและเฟสบุ๊ก ถือเป็นเรื่องง่ายสำหรับคนรุ่นใหม่อย่างปูน และมองว่ายังไม่จำเป็นที่ต้องมีหน้าร้าน

ในตอนนี้ หากแต่ในอนาคตที่วางไว้ เขาอยากมีโชว์รูมและขยายไลน์สินค้ารวมถึงทำเรื่องการส่งออกด้วย

ความแตกต่าง คือความลงตัว

       สตูดิโอ มือจา ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับ In Clay Studio โดยทำเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้งานไม้มาผสมผสานกับงานเซรามิก เพื่อให้เกิดความ

แปลกใหม่ในเรื่องการใช้วัสดุ ออกมาเป็น (WE) Low table โดยใช้ไม้สักเก่ามาออกแบบเป็นโต๊ะรูปทรงเรขาคณิต ที่มีจำนวนขามากกว่าโต๊ะทั่วไป

ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของสตูดิโอ แล้วเพิ่มความน่าสนใจให้กับชิ้นงาน ด้วยการคว้านเนื้อไม้ด้านบนออกไปเป็นหลุม ก่อนนำถ้วยเซรามิกจาก In Clay Studio ใส่ลงไปใส่ในหลุมนั้นได้อย่างพอดี ผิวสัมผัสที่เรียบเงาของเซรามิกเมื่อตัดกับผิวไม้ ให้ความรู้สึกเหมือนแอ่งน้ำลึกที่มีเสน่ห์ชวนมอง 

      อีกหนึ่งชิ้นงานเกิดจากการผสมผสานวัสดุที่ต่างชนิดกันคือ เก้าอี้สาวจี๋ (Sao Gee Stool) เก้าอี้สตูลที่ได้แรงบันดาลใจมาจากรูปทรงของดอกไม้  ใช้แกนหมุนเป็นเหล็ก สามารถปรับขึ้นลงได้ตามต้องการ สีย้อมไม้มาจากน้ำสนิมที่เกิดจากการทำปฏิกิริยาทางเคมี และยังคงปล่อยให้เห็นลวดลายบนเนื้อไม้อย่างตั้งใจ อีกหนึ่งตัว คือเก้าอี้สาวสันทราย (Sao Sansai Stool) เก้าอี้ที่มีชื่อเดียวกับที่ตั้งของสตูดิโอ ออกแบบขาเก้าอี้

ให้เรียวเล็กเหมือนขาของหญิงสาวชาวเหนือ ทำจากไม้ประดู่ที่มีความแข็งแรงในการใช้งาน โดยใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมของการเข้าไม้ด้วยสลักเดือย ในส่วนของที่นั่งใช้เชือก Danish Cord มาสานกันไปมา

      “คราฟต์ หมายถึงสิ่งที่เราทำขึ้นมา คิดอะไรก็ทำออกมาแบบนั้น ซึ่งสะท้อนทั้งฝีมือ ความคิดและตัวตนของเรา อย่างเรามีไม้ท่อนนึง ก็ต้องคิดแล้วก็คราฟต์ออกมาเป็นชิ้นงาน ผมอยากเห็นคนรุ่นเดียวกัน คนรุ่นใหม่ๆ ออกมาทำงานด้านนี้กันมากขึ้น เพื่อพัฒนาให้เกิดสิ่งใหม่และ

มีความร่วมสมัยมากขึ้นด้วย”

      ถึงแม้ตอนนี้มือของปูนอาจจะยังไม่ ‘จา’ ตามที่ตั้งใจ แต่ด้วยความมุ่งมั่นที่มองเห็นได้อย่างชัดเจน และความตั้งใจที่จะสร้างชิ้นงานที่

แปลกใหม่อยู่เสมอ เราเชื่อว่าคงอีกไม่นานเกินรอ

แกลลอรี่

Studio Mueja (สตูดิโอมือจา)

โทรศัพท์ : 085 529 5529

Facebook : studiomueja

Instagram: studiomueja

Email: [email protected]

ผลิตภัณฑ์แนะนำ

Recommended products

(WE) Low table

เป็นชิ้นงานที่ทำร่วมกับ In Clay studio รูปทรงเรขาคณิต มีจำนวนขามากกว่าโต๊ะทั่วไป ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของสตูดิโอมือจา มีหลุมเล็กๆ เป็นงานเซรามิกสีเขียว เอาไว้ใส่ของ มีผิวสัมผัสเรียบเงาตัดกับผิวไม้

เก้าอี้สาวจี๋ (Sao Gee Stool)

มีรูปทรงเป็นดอกไม้ เพราะได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติ มีรูเพื่อสะดวกต่อการ
จับหมุนหรือเคลื่อนย้าย สีย้อมไม้จากน้ำสนิม เกิดจากการทำปฏิกิริยาทางเคมี และยังคงเห็นลวดลายบนเนื้อไม้