ประวัติศาสตร์เครื่องประดับนับพันปี หนึ่งเดียวที่ยังคงเหลือในดินแดนล้านนา
Filligree คือเทคนิคระดับสูงของการทำเครื่องประดับ ที่มีอายุเก่าแก่มากว่า 5,000 ปี ในเมืองไทยจะเรียกว่างานยัดลาย ซึ่งมีความ
ละเอียดอ่อน และมีขั้นตอนการทำที่ยุ่งยากมากกว่า 35 ขั้นตอน จนทำให้งานเครื่องประดับยัดลายแทบจะสูญหายไปกับกาลเวลา แต่เมื่อ
50 ปีที่แล้ว มีครอบครัวชาวจีนที่ได้อพยพมาสู่ดินแดนล้านนา แล้วเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่อำเภอบ้านกาด จังหวัดเชียงใหม่ และได้ถ่ายทอดเทคนิคการทำเครื่องประดับยัดลายให้กับครอบครัวอุปนันท์ โดยมีคุณพ่อพงษ์มิต อุปนันท์ ครูช่างศิลปหัตถกรรม พ.ศ. 2559 และบุตรชายคือ
คุณอังคาร อุปนันท์ ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ปี พ.ศ. 2558 ที่มองเห็นคุณค่าของหัตถศิลป์โบราณ จึงได้เรียนรู้ ฝึกฝนจนชำนาญ สร้างงาน
ที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชนบ้านกาดนับจากนั้นเป็นต้นมา


ความงามที่ไร้กาลเวลา คุณค่าที่ไม่เคยจางหาย
คุณพ่อพงษ์มิต ได้สร้างงานเครื่องประดับยัดลาย ด้วยรูปแบบและแรงบันดาลใจที่มาจากธรรมชาติรอบตัวอย่างลายนกยูง ลายแมลงปอ
ลายดอกกุหลาบหิน ดอกโบตั๋น ดอกชบา หรอดอกทานตะวัน โดยเลือกเอาแต่สิ่งที่มีความหมายดี ทั้งงานประเพณีและวัฒนธรรมของเชียงใหม่ มาสร้างเป็นงานที่อ่อนช้อยและมีเอกลักษณ์ เช่น เครื่องประดับลายแมงปอ ที่หมายถึงฤดูกาลแห่งการเริ่มต้น รูปมะยม หมายถึงการได้รับความนิยมชมชอบ และได้ส่งต่อความรู้ให้กับคุณอังคาร อุปนันท์ ผู้เป็นลูกชายได้เล่าให้ฟังว่า
“งานยัดลายกับชุมชนบ้านกาดเป็นสิ่งที่ผูกพันกันมานาน ตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ ตั้งแต่ผมยังไม่เกิด ผมถือเป็นรุ่นที่สาม แต่พอยุคสมัยเปลี่ยน
มีเทคโนโลยีเข้ามา ชาวบ้านก็เปลี่ยนไปทำอย่างอื่น เพราะได้เงินมากกว่า เร็วกว่า แล้ววัสดุที่ใช้ทำงานก็แพงด้วย ชาวบ้านไม่สามารถลงทุนได้
ก็เลยไม่ค่อยมีคนสืบทอด เหลือบ้านผมที่ยังสามารถทำได้ และสานต่อมาจนทุกวันนี้”

ออกตามหาความฝัน ก่อนกลับบ้านมาสานต่องานที่คุ้นเคย
อังคารออกเดินทางเพื่อตามหาความฝันของตัวเอง ก่อนที่จะพบว่าสิ่งที่มีคุณค่านั้นอยู่ใกล้ตัวมาทั้งชีวิต โดยที่ไม่เคยคิดว่าสิ่งนั้นคือ
ความพิเศษ เขาจึงกลับบ้านเพื่อมาใช้วิชายัดลายที่พ่อได้สอนไว้ตั้งแต่ครั้งยังไม่รู้ความ การได้คลุกคลีอยู่กับอุปกรณ์ คือการสร้างประสบการณ์โดยไม่รู้ตัว และเมื่อเขาได้กลับมารื้อฟื้นอีกครั้ง โดยที่มีพื้นฐานความรู้อยู่แล้ว จึงทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น
“ผมจบจิตรกรรม เคยทำงานเพ้นท์สีน้ำมันขายตามถนนคนเดินในตลาด ตามห้างก็ขายได้นะครับ แต่พอถึงยุคที่อุตสาหกรรมเข้ามา
งานศิลปะถูกสร้างให้เป็น Mass Product เลยขายแทบไม่ได้ หรือขายได้ในราคาที่ค่อนข้างถูกคุณหงษ์แฟนผมเลยแนะนำว่า ทำไมไม่กลับไป
ทำสิ่งใกล้ตัวที่ผูกพันกับเรามาตั้งแต่เด็ก ก็เลยชวนกันกลับบ้าน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์ Angsa Jewelry”

แบรนด์แห่งความรักและความผูกพัน
คุณหงษ์ – หงษ์ศรา จัทรพัฒน์ หุ้นส่วนชีวิตของคุณอังคาร คือผู้ชักชวนให้เขากลับมาทำในสิ่งที่เคยมองข้าม คุณหงษ์เล่าให้ฟังว่า Angsa
(อังซา) เกิดจากการนำชื่อของทั้งคู่มาผสมกัน แล้วกลายเป็นคำใหม่ ซึ่งไปตรงกับภาษามาลายูโบราณ ที่แปลว่า หงษ์ ซึ่งเป็นชื่อของเธอพอดี
“แบรนด์ Angsa Jewelryเข้าสู่ปีที่ 13 แล้วค่ะ เริ่มต้นเราทำแบบล้านนาดั้งเดิม ตั้งแต่สมัยรุ่นพ่อรุ่นแม่ ที่เน้นลวดลายจากธรรมชาติ ตอนนี้ลวดลายแบบเดิมก็ยังมีอยู่ และยังคงใช้วิธีทำทั้งหมด 35 ขั้นตอน เหมือนเดิมทุกอย่าง แต่เรามีการพัฒนาโดยเพิ่มเทคนิคบางอย่างเข้าไปด้วย เพื่อจะทำให้ชิ้นงานนั้นๆ อยู่ได้นานและใช้งานได้ดีขึ้นกว่าเดิม อย่างการชุบทองขาวเพื่อเพิ่มมูลค่าและอายุการใช้งาน เพราะเงินแท้ถ้าใช้ไปนานๆ จะดำหรือการใช้เทคนิคเขียนทองเข้าไปในลวดลายเพื่อเพิ่มมิติให้ชิ้นงาน หรือการใส่บานพับเข้าไปตรงจุดเชื่อมต่อของเครื่องประดับ
ก็ทำให้ใช้งานได้นานยิ่งขึ้น รวมทั้งการออกแบบเครื่องประดับให้มีความร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น”

ต่อยอดลมหายใจสุดท้ายด้วยการอนุรักษ์
คุณอังคารเล่าถึงการทำเครื่องประดับยัดลาย ที่มีวิธีการทำที่ค่อนข้างซับซัอน ใช้เวลานานและมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก จึงไม่น่าแปลกใจที่ใน
เมืองไทย จะเหลือเพียงตระกูลอุปนันท์ เป็นตระกูลสุดท้ายของบ้านกาด ที่ยังคงอนุรักษ์งานเครื่องประดับยัดลายเอาไว้ เพื่อไม่ให้หายไปจาก
เมืองไทย
“จริงๆ แล้วมีมากกว่า 35 ขั้นตอนด้วยซ้ำไป รวมๆ แล้วมี 60 ขั้นตอนได้ แต่เอาแค่หลักๆ คือ 35 กระบวนการอย่างอุปกรณ์ที่ใช้ทำก็ไม่มีขาย
ต้องสร้างขึ้นมาเอง ส่วนวัตถุดิบที่ใช้ ก็จะมีสองอย่าง คือ เงิน ก็ต้องเป็นเม็ดเงินบริสุทธิ์ กับทองคำ 99% ทองคำขาวจะทำไม่ได้ มันแข็ง ไม่สามารถดึงให้เส้นเล็กเท่ากับเส้นผมได้”


ประณีตศิลป์ที่ไม่แข่งขันกับกาลเวลา
“อังซาเป็นงานศิลปะ ลูกค้าต้องได้เห็นความละเอียด ได้สัมผัส
ได้เห็นความตั้งใจ และอะไรอีกหลายอย่าง ที่โลกออนไลน์ไม่สามารถสื่อสารตรงนี้ได้”
เมื่องานทุกชิ้นต้องใช้เวลา อังคารจะวางแผนการทำงานเอาไว้ล่วงหน้า เช่น ถ้าทำดอกโบตั๋น จะทำคร้้งละ 20 ดอก ใช้เวลาประมาณ
หนึ่งเดือน ซึ่งแต่ละดอกก็จะใช้เวลาไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับความยากง่าย แต่ถ้าเป็นชิ้นงานที่เป็นมาสเตอร์ ก็ต้องใช้เวลาอย่างน้อยครึ่งปี ซึ่งลูกค้า
ก็จะรอได้เพราะเข้าใจ
“งานที่ขายดีมีอยู่สองแบบ แบบแรก เป็นเครื่องประดับ 5 ดอกไม้ประจำตระกูล มีดอกทานตะวัน ดอกโบตั๋น ดอกกาสะลอง กลีบลำดวน
ดอกจักรพรรดิ ขายดีมาตั้งแต่รุ่นพ่อ เป็นงานเก่าแล้วนำมาประยุกต์ เพิ่ม 5 กระบวนการใหม่เข้าไป ทำให้ยังขายได้ในปัจจุบัน ส่วนแบบที่สอง
คืองานที่เป็นนามธรรม ที่ไม่มีรูปแบบตายตัว แต่เป็นการนำเทคนิคยัดลายมาใช้ในชิ้นงาน ซึ่งจะทำไปตามความรู้สึกของคนทำ งานแต่ละคนก็
จะไม่เหมือนกัน เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ต้องทำคนเดียวให้จบเพราะสไตล์จะไม่เหมือนกัน”
อังคารมองว่าแหล่งแพลตฟอร์มออนไลน์ ไม่ได้ตอบโจทย์ในทุกสินค้า โดยเฉพาะงานที่มีคุณค่าอย่างอังซา
“ต่อให้เวลาจะเปลี่ยนไปแค่ไหน คุณค่าของงานเครื่องประดับก็จะเพิ่มขึ้นทุกวัน ผมชอบช่องทางออฟไลน์มากกว่า อย่างการไปออกงานแฟร์เฉพาะทาง งานของศูนย์ศิลปาชีพ งาน OTOP หรืองานหัตถกรรม งานอัตลักษณ์สยาม เพราะอังซาเป็นงานศิลปะ ลูกค้าต้องได้เห็นความละเอียด ได้สัมผัส ได้เห็นความตั้งใจ และอะไรอีกหลายอย่าง ที่โลกออนไลน์ไม่สามารถสื่อสารตรงนี้ได้”

ฝันช้าช้า…อย่างมั่นคง
อังคารได้รับรางวัลสุดยอดดีไซเนอร์แห่งปี พ.ศ. 2558 แผนกการออกแบบสินค้า ในงานการออกแบบของเชียงใหม่ (Chiang Mai Design Awards) รางวัลจากศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (SACICT Concept) ผลงานคอลเลกชันงานที่ได้รางวัล เป็น นามธรรมในปี 2015 รางวัลจากกรมส่งเสริมกการส่งออก ทั้งหมด 4 ปี และกำลังจะได้รับรางวัลครูศิลป์จากศูนย์ศิลปาชีพในปี 2565 นี้ ความฝันสูงสุดของเขา
คือการได้เป็นศิลปินแห่งชาติ และอยากให้งานของอังซาได้เข้าไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ เพื่อให้เป็นมรดกของชาติ ที่ใครๆ ก็สามารถมาเรียนรู้ได้
“ผมทำแบรนด์อังซามาเกือบ 25 ปี แล้ว ทุกวันนี้ก็ยังต้องเรียนรู้อยู่ มันไม่เคยถึงเพดาน ไม่เคยสุดเลย เป็นความท้าทายของการทำงานยัดลาย มันมีอะไรใหม่ๆ เข้ามาให้เรียนรู้ตลอด เพราะกระบวนการมันยาก แค่ความพยายามไม่พอ ต้องมีความอดทน และต้องมีความรักก่อนเลยเป็น
สิ่งแรกที่สำคัญ รักจนมันกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต เราถึงจะไปต่อกับมันได้”

อังคารตั้งเป้าหมายในชีวิตเอาไว้ 3 อย่าง หนึ่งคือการสร้างแบรนด์ สองการทำสตูดิโอซึ่งได้ทำเสร็จเรียบร้อยแล้วตามที่ตั้งใจเอาไว้ ข้อสุดท้ายคือการทำพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้งานยัดลายที่บ้านกาด ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นชีวิตการทำงานของเขาเอง เพื่อเปิดให้คนที่สนใจ ได้เข้ามาเรียนรู้
“ผมเก็บสะสมงานทุกชิ้นมาสิบกว่าปีแล้ว เลยอยากสร้างพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ ให้คนที่สนใจได้เข้ามาดู หรือถ้าอยากเข้ามาสัมผัสชีวิตการทำงานของช่าง อยากเห็นในสิ่งที่เขาทำ ก็มีที่พักให้ด้วย ผมมีพื้นที่อยู่แล้ว ก็เริ่มสร้างไปไม่รีบร้อน ตอนนี้ทำได้ 20 เปอร์เซ็นต์แล้ว คิดว่ากว่าจะเสร็จก็คงเกษียณพอดี”
แกลลอรี่
Angsa Jewelry (อังซา จิวเวอรี่)
ที่ตั้ง : 90/19 อิน เนเจอร์ ม.5 สุขสำราญ ต.หนองควาย อ.หางดง จ.เชียงใหม่ 50230
โทรศัพท์ : 081 854 7336
Facebook : Angsa Jewelry
Email: [email protected]