เริ่มจากฮักและผูกพัน
ฮัก คราฟท์ คือแบรนด์ที่เกิดจากความรักของ ฟลุก – ปุญชรัศมิ์ สาลี ที่ลงมือทำงานแฮนด์เมดทุกชิ้นด้วยความรักและความหลงใหล
“คนเหนือจะพูดว่า ‘ฮัก’ ก็คือ ‘รัก’ นั่นแหล่ะค่ะ จุดเริ่มต้นของ HUG CRAFT (ฮัก คราฟท์) คือฟลุกมีโอกาสได้เห็นงานหัตกรรมพวกนี้มาตั้งแต่เกิด ก็เลยมีความผูกพัน ยิ่งพอได้มาเรียนวิจิตรศิลป์ ได้ลงพื้นที่ ได้ทำวิจัย ได้โอกาสจากรุ่นพี่ๆ ที่เป็นเจ้าของแบรนด์ ใหญ่ๆ หลายๆ แบรนด์ชวนไปช่วยออกแบบก็เกิดความชอบ จบมาก็มีโอกาสแข่งขันเป็น Start up ภาคเหนือของอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STEP) ก็ได้รางวัลที่ 1 หลังจากนั้นก็เริ่มทำจริงจัง ด้วยการสร้างแบรนด์ HUG CRAFT (ฮัก คราฟท์) ขึ้นมาค่ะ“

ออกแบบด้วยความ...ฮัก
งานของฟลุกจะเริ่มทำจากความชอบ ทั้งงานออกแบบและการทำงานวิจัยร่วมกับชุมชน อย่างชุมชนที่บ้านปง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ก็เป็นหนึ่งในหลายๆ ชุมชนที่ฟลุกเลือกทำงานด้วย
“อย่างการย้อมเราก็ไม่ได้เก่งมาก คือรู้ทฤษฎีบ้าง แต่พอปฏิบัติจริง เราจะสู้แม่ๆ ที่นี่ไม่ได้เลย ก็ต้องมาลงมือทำ เรียนรู้ไปกับชุมชน
ส่วนแรงบันดาลใจ ก็ดึงต้นทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ใกล้ตัว มาสร้างเป็นสินค้าไลฟ์สไตล์ที่ตอบโจทย์กับคนรุ่นใหม่อย่างพวก เสื้อผ้า มวก กระเป๋า”
งานออกแบบหลักๆ ของฟลุก จะเป็นงานที่เต็มไปด้วยความใส่ใจ มีการเย็บปักอย่างละเอียด ละเมียดละไม และยังเพิ่มเสน่ห์ด้วยการย้อมสีธรรมชาติที่จะมีแค่ชิ้นเดียว ไม่ได้เป็นแนวอุตสาหกรรมที่ผลิตหลายๆ ชิ้น

“ผ้าเลือกเจ้าของค่ะ ถ้าลูกค้ารักงานของเรา เขาก็จะรอสินค้าของเราได้ เพราะว่าไม่ได้ผลิตมาก เราใช้กรรมวิธีหลายอย่าง แค่ย้อมสี
ก็หลายวันแล้ว สิ่งทอทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย หรือกระเป๋า หลักๆ จะเป็นสีธรรมชาติทั้งหมด ซึ่งลูกค้าที่รักงานแบบนี้
ก็จะเข้าใจในข้อเสีย ของเรื่องสีที่ย้อมว่าจะค่อยๆ จางลงไปตามเวลา ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม และวิธีการดูแลรักษาของแต่ละคน”
รางวัลที่เกิดจากความ...ฮัก
นอกจากผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์ HUG CRAFT (ฮัก คราฟท์) แล้ว ฟลุกยังทำโครงการวิจัยด้านการออกแบบ วิจัย และพัฒนา เป็นการสร้างสรรค์นวัตกรรมและภูมิปัญญาเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยไม่ทิ้งอัตลักษณ์แห่งวัฒนธรรม จนได้รับรางวัลด้านการออกแบบมากมาย
“เคยได้รางวัล SACIT AWARD 2021 ภายใต้แนวคิดที่ว่า ผ้าไทยใส่ได้ทุก GEN โดย ‘ชุด GEN B’ ตอนนั้นเราออกแบบเป็นชุดหยินหยาง
ลายปลาคู่ มีแรงบันดาลใจจากเครื่องถ้วยสันกำแพงค่ะ และ ‘ชุด GEN Y’ มีแรงบันดาลใจมาจากลายสักของลาวทุงดำ ก็ได้รางวัลที่ 1 จากอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STEP) ได้มีโอกาสไปออกแบบชุดให้กับมิสแกรนดฺ์ เชียงใหม่ ก็ได้รางวัลที่ 1
Young Designer 2019 แล้วก็มีรางวัลรางวัลส่งเสริมการท่องเที่ยวของชุมชน จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รางวัลที่ได้ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับแนวคิดพื้นถิ่น…ชอบงานแนวนี้อยู่แล้วค่ะ”


ฮัก...อย่างเข้าใจ และไม่เป็นทำร้ายสิ่งแวดล้อม
นอกจากจะเป็นนักออกแบบที่ดี ฟลุกยังให้ความสำคัญกับการดูแลธรรมชาติไปพร้อมๆ กัน
“ได้แนวคิดนี้มาจากอินเดีย คือต้องสนใจปัญหาที่เกิดในพื้นที่ด้วย อย่างเราก็เอาดอกดาวเรืองที่ถูกทิ้งมาจากสถานที่ต่างๆ ทั่วเมืองเชียงใหม่ ซึ่งในตัวดอกจะมีสารฟอร์มาลีนซึ่งส่งผลกระทบให้กับคนในพื้นที่ ก็นำมาผ่านกระบวนการอัพไซเคิลทำให้เกิดเป็นโมเดล Zero Waste เพื่อใช้เป็นสีย้อมผ้า ส่วนกากที่แห้งแล้ว เราจะตากแห้งแล้วส่งต่อให้บ้านต้นเปา สันกำแพง ใช้ทำเป็นกระดาษสา และอีกส่วนนึง
ก็เอาไปบดเป็นผงทำเป็นธูป กลายเป็นผลิตภัณฑ์ Rare Item ที่มีส่วนช่วยในเรื่องของมลภาวะที่เกิดขึ้นในเชียงใหม่”

ออกแบบและสร้างงานให้กับชุมชน
งานวิจัยของฟลุกเป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์ให้หน่วยงานหรือชุมชน สามารถนำไปต่อยอดเรื่องการทำให้ต้นทุนวัตถุดิบลดลง อีกทั้งยังช่วยลดมลภาวะ ช่วยจัดการขยะ ซึ่งส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ฟลุกมีวิธีเลือกชุมชนที่มาผลิตงาน โดยดูจากความพร้อมเป็นหลัก
“ฟลุกเลือกชุมชนที่มาผลิตงานให้ อย่างถ้าเป็น คอลเลกชันฤดูร้อน (Summer Collection) ที่ต้องการสีเหลืองของดอกดาวเรือง ก็จะเป็นชุมชนป่าปง สันกำแพง หรือถ้าเป็นฤดูหนาว ก็จะเลือกที่อยู่บนดอยอย่าง ขุนช่างเคี่ยน ดอยปุย แม่สา ซึ่งเป็นกลุ่มเครือข่ายชุมชนภาคเหนือ
เป็นหลัก การทำงานก็จะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลช่วยเหลือกัน อย่างการนำกลุ่มชุมชนขุนช่างเคี่ยนที่ชำนาญงานปัก แต่ไม่ถนัดงานย้อม มาเรียนรู้กรรมวิธีย้อมกับชุมชนป่าปงของสันกำแพง เพราะแต่ละที่มีความถนัดหรือจุดเด่นที่แตกต่างกัน”

ปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติ ทำตลาดให้เข้ากับธุรกิจ
“จริงๆ ฟลุก อยากให้ทุกงานของฮักคราฟท์ มาจากวัตถุดิบ (Material) จากธรรมชาติ แต่ด้วยข้อจำกัดบางอย่าง เราก็ต้องทำเพื่อตอบโจทย์ด้านธุรกิจด้วย บางครั้งเราก็ต้องใช้ฝ้ายโรงงาน ซึ่งกรรมวิธีของทำฝ้าย มีสองวิธี คือ ปั่นมือ กับปั่นโรงงานซึ่งคุณภาพใกล้เคียงกัน ตัวโรงงานคือช่วยเรื่องระยะเวลา แต่การทำมือก็จะนิ่มกว่า สิ้นเปลืองพลังงานมากกว่า และต้องใช้หลายขั้นตอนกว่าจะมาเป็นฝ้ายทำมือ ซึ่งราคาก็จะสูง ก่อนการทำงาน เราต้องแยกก่อนว่าเลือกใช้แบบไหน เป็นการคำนวณต้นทุนและระยะเวลา รวมถึงการตั้งราคาขาย เพื่อที่ให้มันเหมาะสมกับเราและสิ่งที่ลูกค้าต้องการ”

วิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพชุมชน
นอกจากเป็นนักออกแบบของ HUG CRAFT (ฮัก คราฟท์) ฟลุกยังรับทำงานวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพชุมชนให้กับมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านภูมิปัญญา หรือการออกแบบต่อยอดผลิตภัณฑ์ของชุมชน เพื่อนำไปเป็นสินค้าของฝาก ของที่ระลึกที่มีอัตลักษณ์ หรือ
การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชุมชน
“ฟลุกจะดูวัตถุประสงค์ของโครงการว่าต้องการพื้นที่แบบไหน เราทำตั้งแต่กระบวนการคัดเลือกชุมชน ที่ต้องมีความพร้อมจริงๆ อย่างตอนนี้เราทำงานออกแบบเสื้อผ้าร่วมกับ 6 ชุมชน มี ชุมชนโป่งห้วยลาน ชุมชนขุนช่างเคี่ยน ชนเผ่าม้ง ชุมชนดอยปุยอีก 2 ชุมชน จะเป็นเรื่องของ
Zero Waste คือ ชุมชนวัดพระธาตุดอยคำ จะเป็นเรื่องของการนำเอาดอกมะลิมาทำผลิตภัณฑ์ ทำผงธูป นำดอกมะลิมาหมัก และชุมชนพระธาตุดอยสุเทพ คือการนำดอกดาวเรืองมาทำเป็นธูป ซึ่งเราจะจ้างงานผู้สูงอายุในการทำกำยาน ชุมชนก็จะได้เงินจากการทำงานด้วย และก็จะมีผลิตภัณฑ์ของชุมชนเองออกจำหน่าย”

ฮัก นั้นจุดประกายให้โลกงาม ในสไตล์ ‘ต๊ะต่อนยอน’
งานของฮัก คราฟท์ ไม่ใช่งานอุตสาหกรรม อีกทั้งยังเป็นงานที่ทำร่วมกับผู้คน จึงต้องมีการวางแผนล่วงหน้า เพราะงานหลักของชาวบ้าน
ส่วนใหญ่คือทำเกษตร ซึ่งการจะดึงเวลาว่างของพวกเขามาทำงานหัตถกรรมได้ ฟลุกก็ต้องขยับเวลาให้เหมาะสม เพื่อให้ชุมชนทำงานได้ภายใต้กรอบเวลาของตัวเอง
“นี่คือข้อจำกัดการทำงานคราฟต์ในมุมมองของฟลุก ยิ่งเป็นงานทำมือด้วย เราก็ยิ่งต้องเผื่อเวลา ต้องยืดหยุ่น สามารถขยับช่วงเวลาได้ ตอนนี้ก็พยายามพัฒนาความสามารถของตัวเองและคนอื่นๆ ในการช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเราให้ดีมีคุณภาพ ในอนาคตคิดว่าน่าจะมีเครือข่ายเพิ่มมากขึ้น โดยนักออกแบบคนอื่นๆ ก็ยังสามารถเข้ามาศึกษาดูงานผ่านชุมชนในเครือข่ายของฮัก คราฟท์ มาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กัน เราอยากเป็นพื้นที่เชื่อมระหว่างนักออกแบบกับชุมชน ที่ร่วมมือกันจุดประกายความคิด สร้างสรรค์งานคราฟต์ให้โลกนี้งดงาม และเต็มไปด้วยความรัก”
แกลลอรี่
HUG CRAFT (ฮัก คราฟท์)
โทรศัพท์ : 095 489 4556
Facebook : ฮักคราฟท์ HUG CRAFT
Email: [email protected]