sa'lahmade

Creative Economy Agency (CEA)

ทุกการสร้างสรรค์ เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่ระดับสากล

      ตลอดสิบปีที่ผ่านมาหลายคนคงจะคุ้นเคยกับชื่อของ TCDC หรือศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบกันเป็นอย่างดี แต่ในระยะหลัง เริ่มจะมีชื่อของ CEA ปรากฏควบคู่กับชื่อของ TCDC ให้ได้ยินบ่อยครั้ง จนเกิดเป็นคำถามว่าแล้ว CEA คืออะไร มีความเกี่ยวข้องกับ TCDC อย่างไร มาฟัง

คุณ อิ่ม – อิ่มหทัย กันจินะ ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาธุรกิจและนวัตกรรม ซึ่งประจำอยู่ที่ CEA เชียงใหม่ จะมาไขข้อข้องใจให้เราได้เข้าใจ

ยกระดับความสร้างสรรค์

     “TCDC หรือ Thailand Creative and Design Center คือศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ และแหล่งค้นคว้าข้อมูลด้านการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ ให้ประชาชนได้เข้าถึงความรู้ที่จะสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ปัจจุบัน TCDC ได้รับการยกระดับขึ้นเป็น CEA หรือ Creative Economy Agency (Public Organization) คือสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) (สศส.) สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี CEA เชียงใหม่ มีภารกิจทำงานกับภูมิภาคภาคเหนือทั้งหมด เพื่อขับเคลื่อน ส่งเสริม สนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในภูมิภาค ซึ่งประกอบไปด้วยปัจจัยหลัก ได้แก่ ส่วนแรก เรื่องการพัฒนาคนหรือการให้องค์ความรู้ ทั้งพัฒนาทักษะเดิมและเพิ่มเติมทักษะใหม่ในด้านต่างๆ กับคนในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ส่วนที่สอง เป็นเรื่องการพัฒนาต่อยอด พัฒนาคุณภาพของธุรกิจและบริการ โดยสองส่วนแรกนี้เป็นส่วนงานที่เราทำตั้งแต่เป็น TCDC แล้ว เมื่อปรับขยับขยายมาเป็น CEA จึงมีงานส่วนที่สามเพิ่มขึ้นมาใหม่ คือการพัฒนาย่านสร้างสรรค์ หรือ Thailand Creative District Network (TCDN) ซึ่งเป็นการสนับสนุนย่านเล็กๆ ในแต่ละเมือง ไปสู่การเป็นเมืองสร้างสรรค์ เกิดเป็นระบบนิเวศในการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในแต่ละพื้นที่ต่อไป

ต่อยอดสู่การสร้างสรรค์รอบด้าน

      คุณอิ่มเล่าถึงเป้าหมายที่มีการหวังผลมากยิ่งขึ้นว่า เพื่อให้เกิดผลลัพธ์และผลสัมฤทธิ์ ทั้ง Input และ Output ที่มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น เช่น ตัวพื้นที่ของสาขา TCDC เชียงใหม่ เดิมเราวางกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มนักศึกษาเป็นต้นไปจนถึงมืออาชีพ แต่ปัจจุบันพบว่าผู้มาใช้บริการอายุเริ่มน้อยลงเรื่อยๆ โดยก่อนหน้านี้เป็นกลุ่มนักเรียนระดับมัธยมศึกษา แต่พอช่วงโควิดจะเป็นกลุ่มครอบครัวที่มีลูกระดับปฐมวัย เป็นคุณพ่อคุณแม่พาลูกมาสอนศิลปะโดยใช้หนังสือที่เรามี ทำให้เริ่มมีการปรับเปลี่ยนกติกาการเข้าใช้พื้นที่ ถ้ามองในมิติการเป็นห้องสมุด เป็นพื้นที่ที่รอให้คนเข้ามาหาความรู้ เรามีหน้าที่เตรียมความรู้ไว้ให้ เรามีหนังสือที่หลากหลาย วีดิทัศน์ ตัวอย่างวัสดุที่สามารถนำไปใช้ในการผลิต และฐานข้อมูลที่เราซื้อ license มา ทั้งข้อมูลการออกแบบ WGSN และฐานข้อมูลด้านการตลาด GMID  ตลอดจนเทรนด์บุ๊คต่างๆ ปรับเปลี่ยนมาเป็นการออกไปทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดอบรมโดยใช้ฐานข้อมูลที่เรามี ส่งเจ้าหน้าที่ออกไปให้ความรู้ ให้คนได้เข้าใจในการใช้ฐานข้อมูลต่างๆ ซึ่งรัฐบาลสนับสนุนให้ในแต่ละปี ในธุรกิจที่เป็นแบรนด์เล็กๆ เราสามารถสนับสนุนด้านข้อมูลตั้งแต่ Macro-data ไปจนถึง Micro-data เพื่อนำไปพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์หรือบริการ ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ CEA ทำงานได้ครอบคลุมมากกว่าการเป็นเพียง Resource center แต่ยังจะดูแลไปจนถึงการเป็น Creative Business Center อีกด้วย

      จากการปรับจาก TCDC มาเป็น CEA มีความเปลี่ยนแปลงในส่วนของบุคลากรภายในเป็นอันดับแรก คุณอิ่มเล่าให้ฟังว่า แม้จะเป็นทีมงานเดิม แต่ก็ยังมีส่วนใหม่ที่ต้องปรับความเข้าใจอยู่ ด้วยจุดแข็งผสานกับภารกิจใหม่ของการเป็น CEA ที่ต้องทำงานร่วมกับเครือข่าย รวมทั้งพื้นที่และคนในพื้นที่ด้วย โดยเฉพาะส่วนงานพัฒนาพื้นที่ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นส่วนที่ต้องดูแลเพิ่มขึ้นมานั้น ยังสามารถนำความเชี่ยวชาญและองค์ความรู้เดิมจากการทำ TCDC เป็นระยะเวลายาวนานมาใช้ได้อีกด้วย เช่นเครื่องมือกระจายความรู้ หรือเครือข่ายเดิมที่เคยทำงานกับนักสร้างสรรค์ สามารถเชื่อมต่อให้เกิดการทำงานร่วมกับชุมชน หรือการใช้เครื่องมือเพื่อให้คนในชุมชนสามารถปรับตัวได้ เนื่องจากมองเห็นว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ไม่ใช่การทำงานกับคนหรือพื้นที่ แล้วมุ่งหวังแต่ให้เศรษฐกิจเติบโต เพียงอย่างเดียว หากแต่ความสร้างสรรค์คือปัจจัยที่จะทำให้สิ่งที่ดีอยู่แล้ว ให้ดีขึ้นไปอีก รวมทั้งความสมดุลด้านคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม สำหรับภูมิภาคภาคเหนืออาจมีโจทย์ที่เฉพาะเจาะจงมากกว่าที่อื่น ด้วยภาคเหนือจะเป็นภูมิภาคแรก ของประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงให้ความสำคัญกับการทำงาน โดยเปิดโอกาสให้คน 2-3 เจเนอเรชั่น ได้ใช้ความรู้ในการทำงานร่วมกัน เป็นต้น

สร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง

      ในส่วนมิติของคนทำงานสร้างสรรค์ คงไม่มีใครที่ไม่รู้จัก CEA เนื่องจากการทำงานที่ต่อเนื่องของ TCDC นับตั้งแต่เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ หรือ Chiang Mai Design Week ที่จัดเป็นประจำในช่วงต้นเดือนธันวาคมของทุกปี นอกจากคนในพื้นที่จะรู้จักเป็นอย่างดีแล้ว ในกลุ่มคนที่ไม่เกี่ยงข้องกับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์โดยตรง เทศกาลนี้ก็เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางเช่นกัน

     “เราค่อนข้างได้รับความร่วมมืออย่างเติบโตและหลากหลายมากขึ้นจากคนในพื้นที่ ในช่วง 3 ปีแรกที่มาตั้งศูนย์อยู่ที่นี่ เรามุ่งเน้นการทำงานกับพื้นที่เชียงใหม่เป็นหลัก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีมากในพื้นที่ ได้แก่งานหัตถอุตสาหกรรมเพื่อเชื่อมโยงกับการออกแบบ แต่ในระยะ 3-4 ปีหลังมานี่ เราเริ่มขยายการทำงานเพิ่มเติมไปในส่วนของอุตสาหกรรมอาหาร วงการศิลปะ วงการดนตรี รวมถึงการทำงานขับเคลื่อนย่านและชุมชน สุดท้ายแล้วจะเกิดเป็นแรงกระเพื่อมไปในเรื่องของการท่องเที่ยว การเข้าไปมีส่วนร่วมของเราขยายไปในกลุ่มพื้นที่อื่นๆ ในภูมิภาคอีกด้วย เช่นในจังหวัดแพร่ น่าน ลำปาง ลำพูน เชียงราย พะเยา

      เมื่องานหัตถอุตสาหกรรมถูกมุ่งให้ความสนใจเป็นอันดับต้นๆ ของ CEA ด้วยมองเห็นถึงศักยภาพในพื้นที่อันมีทั้งบุคลากร องค์ความรู้ ตลอดจนวัสดุที่พรั่งพร้อม ทำให้เกิดการทำงานเกี่ยวข้องกับงานหัตถกรรมหรืองานคราฟต์มาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 17 ปีแล้ว

     “เราพยายามมองในเรื่องของการขับเคลื่อน ให้เกิดช่องทางหรือตลาดในมิติของธุรกิจใหม่ๆ รวมไปถึงการยกระดับโดยการ cross over ระหว่างอุตสาหกรรมมากขึ้น ตลอดจนการ cross over ระหว่างเจเนอเรชั่นมากขึ้นด้วย เราคาดหวังการสร้างโอกาสและเครือข่ายใหม่ๆ เพื่อให้อุตสาหกรรมหัตถกรรมบ้านเรามี Critical Thinking เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดการกับวัสดุ และเทคนิคซึ่งมีความหลากหลายในภูมิภาค รวมไปถึงการรับรู้กับตลาดในมิติของคุณค่าของการทำงานหัตถกรรมในระดับสากล ให้แบรนด์เล็กๆ ได้เข้าถึงเครือข่ายที่มีคุณภาพหรือช่องทางการตลาดที่มีความเฉพาะแต่มากด้วยศักยภาพ

ร่วมด้วยช่วยกัน

     “แรงสนับสนุนที่ CEA ต้องการอย่างยิ่ง คือคนในอุตสาหกรรม ซึ่งมีความเข้าใจที่ดีขึ้นเรื่อยๆ เพิ่มเติมในกลุ่มคนทำงานในอุตสาหกรรมสามารถทำงานได้อย่างสะดวกมากขึ้น ส่วนใหญ่คนในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ค่อนข้างรักอิสระ เป็นคนตัวเล็กๆ เพราะฉะนั้นผู้กำหนดนโยบายในพื้นที่ ในท้องถิ่น หรือส่วนราชการในท้องถิ่นก็ดี มีความเข้าใจแล้วอำนวยในเรื่องของนโยบายต่างๆ เพื่อให้การทำงานของเขาราบรื่น หรือแม้กระทั่งเรื่องของกลไกภาษีต่างๆ ทำให้ถูกรองรับและสนับสนุน จะสามารถช่วยให้คนเหล่านี้สามารถพัฒนาตัวเอง แล้วเคลื่อนไปได้ไวขึ้น ส่งผลให้ CEA สามารถทำงานร่วมกันได้ดีขึ้นตามไปด้วย สำหรับงานด้านขับเคลื่อนย่านต่างๆ ยังคงต้องการหลายองค์ประกอบปัจจัย ซึ่งกลุ่มที่เป็นผู้กำหนดนโยบายของแต่ละพื้นที่ ถ้ามีวิสัยทัศน์ไปในแนวทางเดียวกัน มองเห็นว่าความคิดสร้างสรรค์จะเปิดโอกาสในการพัฒนาพื้นที่ที่เขาดูแลอยู่ อันนี้จะทำให้การทำงานขับเคลื่อนต่างๆ ในภูมิภาคดีขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น เรายังคงอยากได้การลงทุนใหม่ๆ เข้ามาในพื้นที่ เพื่อให้ระบบนิเวศหมุนจริงๆ อาจมีองค์ความรู้ใหม่จากส่วนงานอื่นๆ เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อมหรือเรื่องวิทยาศาสตร์เข้ามาเสริมคนที่ทำงานในพื้นที่ก็น่าจะดี และสุดท้ายคืองบประมาณที่อยากให้เข้ามาอย่างสม่ำเสมอและเพิ่มเติมขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้ภูมิภาคเกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง

      เราสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารของ CEA ได้ทางเว็บไซต์หลักของ CEA และเพจเฟซบุ๊กซึ่งยังคงใช้ชื่อเดิมคือ TCDC Chiang Mai กับ

เว็บไซต์และเฟซบุ๊กของ Chiang Mai Design Week นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อผ่านทางภาคีเครือข่ายที่ CEA ได้มีกิจกรรมร่วมกัน ทั้งหมดนี้คงจะพอทำให้เราได้เข้าถึง CEA ได้มากขึ้นเช่นกัน

แกลลอรี่

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชนเชียงใหม่

ที่ตั้ง : 1/1 .เมืองสมุทร ต.ช้างม่อย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50300

โทรศัพท์       : 052 080500

Website :   www.cea.or.th

Website :  www.chiangmaidesignweek.com

Facebook: CreativeEconomyAgency

Facebook 2 : TCDCChiangMai

Facebook 3 :  chiangmaidesignweek

Email: [email protected]

ผลิตภัณฑ์แนะนำ

Recommended products