sa'lahmade

Cotton Farm

เอาความหลงใหลปั่นเป็นเส้นด้าย ทอความฝันด้วยกี่แห่งความรัก
อวดลวดลายบนผืนผ้าแห่งชีวิต ที่บอกเล่าเรื่องราวการเดินทาง ของ Cotton Farm

       Cotton Farm เป็นแบรนด์ผ้าฝ้ายทอมือของคุณกุ้ง – เปรมฤดี กุลสุ ผู้คลุกคลีอยู่กับงานผ้ามากว่า 25 ปี เริ่มจากจุดเล็กๆ เมื่อครั้งไปใช้ชีวิต

ที่ประเทศญี่ปุ่น แล้วได้เห็นงานคราฟต์จากประเทศไทยวางขายในห้างสรรพสินค้าที่นั่น ด้วยคุณค่าที่รู้สึกได้และราคาที่สูงเกินคาด ทำให้เกิดคำถามติดค้างภายในใจ เมื่อกลับมาอยู่เมืองไทย จึงได้นำความคิดนั้นมาบวกกับความชื่นชอบส่วนตัวเรื่องงานฝีมือ จากงานอดิเรกจึงกลาย

มาเป็นอาชีพในที่สุด

      “เริ่มต้นธุรกิจด้วยการซื้อมาขายไป เพราะเป็นคนที่หลงรักงานทอผ้ามาก ถึงกับตัดสินใจไปเรียนทอผ้าอย่างจริงจัง และเริ่มก่อตั้งแบรนด์ ‘Cotton Farm’ ขึ้นมา ซึ่งได้ไอเดียมาจาก ‘Cotton Time’ ก็คือชื่อของหนังสืองานฝีมือที่เราชอบ โดยส่วนตัวแล้วเป็นคนชอบผ้าฝ้าย เพราะ

มองว่าผ้าฝ้ายของแต่ละชุมชนก็มีเสน่ห์ที่แตกต่างกันไป Cotton Farm จึงเป็นที่ๆ นำเอาผ้าฝ้ายจากหลายๆ ที่มารวมกัน”

เส้นยืน…ที่มั่นคง

      คุณกุ้งเล่าว่า จากเดิมที่เคยซื้อผ้าทอจากชุมชนที่ทอไว้แล้ว ต่อมาก็มีความคิดที่อยากออกแบบลายผ้าด้วยตัวเอง แต่ติดปัญหาเรื่องการสื่อสาร เพราะยังไม่เข้าใจถ่องแท้ คุณกุ้งจึงตัดสินใจไปเรียนทอผ้าเพิ่มเติม จนเข้าใจถึงกระบวนการทั้งหมด ช่วยให้การทำงานกับช่างทอง่ายขึ้น

      “ความเข้าใจธรรมชาติของชุมชนและช่างศิลป์ที่ทอผ้า และการใช้ใจในการทำงานถือเป็นเรื่องที่สำคัญ ถ้าเคมีตรงกันงานก็จะลื่นไหล 

ขั้นตอนการทำงานก็คือ พอออกแบบเสร็จก็จะคุยกับกลุ่มช่างฝีมือที่ขึ้นเส้นยืน จากนั้นก็ส่งต่อให้ช่างฝีมืออีกคนที่จะเอามาสืบขึ้นเครือและทอ แล้วจบลงด้วยการออกแบบ เพื่อแปรรูปเป็นขั้นตอนสุดท้าย เราให้ความสำคัญเรื่องการใช้สี การจับคู่สี และการเลือกใช้เส้นใยซึ่งจะมีความหนาหลายระดับ แต่ของ Cotton Farm จะเน้นการผลิตผ้าที่มีเนื้อบางนุ่มเป็นพิเศษ จะใส่สบายเหมาะกับเมืองร้อนอย่างบ้านเรา ซึ่งที่อื่นจะไม่มี”

      นอกจากจะใช้เส้นใยฝ้ายแล้ว Cotton Farm ยังใช้เส้นใยกัญชง เรยอน เทนเซล ซึ่งล้วนแต่เป็นเส้นใยธรรมชาติทั้งหมด และนอกจากออกแบบลายผ้าเองแล้ว ยังมีการทำงานร่วมกับชุมชนอีกหลายแห่ง และได้สอดแทรกภูมิปัญญาของแต่ละชุมชนเอาไว้อย่างแนบเนียน 

เช่น กระเป๋าสะพายใบย่อม ที่ได้ออกแบบลายร่วมกับชาวปะกาเกอะญอ จังหวัดลำพูน ทั้งลวดลายและสีสันถูกลดทอนให้เหมาะกับ

ความต้องการของตลาด แต่ยังคงกระบวนการที่เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมเอาไว้ เมื่อคนทำงานสนุก ก็เกิดความคิดสร้างสรรค์ ได้ลายใหม่ๆ 

ขึ้นมา ผนวกกับการออกแบบให้ร่วมสมัย มีฟังก์ชันการใช้งานที่เหมาะสม การตัดเย็บและวัสดุประกอบมีคุณภาพ ยิ่งทำให้สินค้าไปต่อได้

ในตลาดโลก

เส้นพุ่ง…ที่ท้าทาย

“เราปรับเปลี่ยน Cotton Farm ให้เป็นธุรกิจที่ควบคู่ไปกับงานอนุรักษ์
เพื่อให้ภูมิปัญญานี้ได้ส่งต่อไปยังคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นความท้าทายมากกว่างานขายเสียอีก””

      ที่ผ่านมา Cotton Farm เชื่อมโยงช่างศิลป์ผู้ทอผ้า กับผู้เสพงานคราฟต์ด้วยความเข้าใจ เมื่อปัญหาการสื่อสารกับชุมชนคลี่คลาย การสร้างความตระหนักรู้ถึงคุณค่าของงานคราฟต์ก็เป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้ 

      “ต้องทำให้ผู้บริโภคเข้าใจและเห็นคุณค่าในงานหัตถกรรมด้วย เพราะเราไม่ใช่แค่เอาผ้ามาแปรรูปแล้วขาย ช่วง 10 ปีแรก เราเน้นรับจ้างผลิต มีความเป็นธุรกิจเต็มตัว แต่พอได้เข้าไปทำงานกับชุมชน พบว่าช่างทอลดน้อยถอยลงทุกวัน บางครอบครัวไม่มีใครสานต่อ ลูกๆ หลานๆ หันไปสนใจงานในสาขาอื่น ส่วนหนึ่งเขามองว่างานภูมิปัญญาไม่ตอบโจทย์เรื่องรายได้ เวลาได้ยินเรื่องนี้บ่อยเข้า เกิดความเสียดายและเกรงว่าภูมิปัญญาจะสูญหายไปเรื่อยๆ จึงปรับเปลี่ยน Cotton Farm ให้เป็นธุรกิจที่ควบคู่ไปกับงานอนุรักษ์ เพื่อให้ภูมิปัญญานี้ได้ส่งต่อไปยังคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นความท้าทายมากกว่างานขายเสียอีก”

เรื่องราวระหว่างเส้นด้าย

      ด้านการออกแบบคุณกุ้งเล่าให้ฟังด้วยรอยยิ้มว่า ช่วงแรกจะเป็นผู้ออกแบบเองทั้งหมด งานก็จะเป็นแนวผู้ใหญ่หน่อย แต่ช่วงหลังจะมีลูกสาวเข้ามาช่วยทำคอลเลกชันสำหรับวัยรุ่น ซึ่งการปรับเปลี่ยนในครั้งนั้น เริ่มมาจากบทสนทนาระหว่างแม่ลูกที่ว่า ทำไมคนรุ่นใหม่ไม่ชอบใส่เสื้อผ้าทอมือ ซึ่งคุณกุ้งได้รับคำตอบที่เรียบง่าย แต่กระทบใจว่า “ไม่ใช่ว่าไม่ชอบ เนื้อผ้าใส่สบาย แต่ไม่มีแบบที่เหมาะกับพวกหนู” สิ่งนี้ทำให้รับรู้ถึง

ช่องว่างระหว่างคนสองรุ่น ที่มีความเหมือนและความต่างในเวลาเดียวกัน คุณกุ้งจึงพาลูกสาวไปทำงานร่วมกับชุมชนด้วยกันบ่อยๆ ให้ซึมซับ

และเข้าใจในกระบวนการผลิต เพื่อที่จะได้ผลิตสินค้าให้เหมาะกับวัยของเธอ

      ล่าสุด Cotton Farm ได้พาผ้าฝ้ายทอมือ ไปอวดโฉมบนเวทีระดับโลก โดยได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 7 ผู้ประกอบการ เข้าร่วมโครงการพัฒนามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมผ้าไทยสู่สากล (Taproot Thai Textile) ที่จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรม ให้ทำงานร่วมกับดีไซเนอร์ระดับประเทศ อย่าง แบรนด์วิชระวิชญ์ นำผลงานไปเดินแบบที่ Tokyo Fashion Week ทำให้คนรู้จัก Cotton Farm มากขึ้นด้วย

      นอกจากผลิตภัณฑ์ของ Cotton Farm จะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามแนวคิดหลักเรื่องรักษ์โลกแล้ว ยังคำนึงถึงขั้นตอนการตัดเย็บแบบ Zero Waste Concept คือการใช้ผ้าให้เหลือน้อยที่สุด ถ้าเหลือเศษผ้าชิ้นใหญ่ ก็จะนำไปทำกระเป๋าก่อน และเมื่อเหลือเศษผ้าอีก ก็จะทำเป็นสินค้าชิ้นเล็กๆ แบบอื่นต่อไป เช่น ที่รองแก้ว พวงกุญแจ ฯลฯ ทำให้ผลิตภัณฑ์ของ Cotton Farm มีความหลากหลาย น่าสนใจยิ่งขึ้น

      ที่ผ่านมาคุณกุ้งจะออกงานแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเป็นช่องทางพบเจอลูกค้า โดยหลักๆ ส่งออกไป ญี่ปุ่น สิงคโปร์ อังกฤษนอกจากส่งออกยังมีโชว์รูมที่ถนนท่าแพ เพื่อรองรับลูกค้าประจำชาวไทยและนักท่องเที่ยว

ลวดลายแห่งการเปลี่ยนแปลง

“ตอนนี้พี่มองว่าธุรกิจกับภูมิปัญญา สองสิ่งนี้ต้องไปด้วยกัน
เพราะถ้าไม่มีภูมิปัญญา เราก็จะทำธุรกิจนี้ไม่ได้
คุณค่าและมูลค่าต้องไปด้วยกัน””

      ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 คุณกุ้งได้ปรับมาใช้ช่องทางออนไลน์และทำการตลาดผ่านทางโซเชียลมีเดียมากขึ้น และได้คิดแพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับงานคราฟต์ เพื่อรวบรวมงานคราฟต์จากหลายคนมาจำหน่ายและทำการตลาดร่วมกัน นอกจากนี้ยังได้เพิ่มไลน์สินค้าเด็ก โดยใช้เส้นใยจากผ้าฝ้ายออร์แกนิก เพราะมองว่าผู้ปกครองจะคำนึงถึงคุณภาพและความปลอดภัยสำหรับลูกๆ เป็นสำคัญ 

      “มีหลายเรื่องที่เคยคิดไว้ว่าจะทำแต่ไม่มีเวลา ช่วงโควิดก็เป็นช่วงเวลาที่ดี ที่ได้ดึงหลายเรื่องออกมาทำเสียที โดยเฉพาะเรื่องการหาวัตถุดิบหรือเส้นใยใหม่ๆ พัฒนาสินค้าให้แตกต่างไปจากเดิม ได้ทดลองทอ เส้นใยข่า ตะไคร้ ใบเตย โดยใช้กระบวนการง่ายๆ แบบชาวบ้าน ตากแห้ง

ด้วยแสงแดด นำมาทอร่วมกับฝ้าย ได้ผิวสัมผัสแปลกใหม่ นำมาทำเป็นสินค้าตกแต่งบ้าน ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี” 

      ที่ร้าน Cotton Farm บนถนนท่าแพ ย่านเก่าแก่แห่งเมืองเชียงใหม่ ได้มีการจัดทำเวิร์กช็อปให้กับผู้ที่สนใจ โดยเวิร์กช็อปนั้นเกิดจากโครงการ Sa’lahmade ที่ส่งเสริมผู้ประกอบการ ให้นำเอากระบวนการการผลิตออกมาแชร์เพื่อเป็นประสบการณ์ให้กับผู้ที่สนใจ ซึ่งสามารถสร้างรายได้เป็นสินค้าอีกหมวดได้เลย

      “คิดว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีสำหรับนักท่องเที่ยว เราเลยออกแบบเวิร์กช็อป มัดย้อม ย้อมสีธรรมชาติ และทอผ้า ซึ่งทำเราให้สามารถสื่อสารกับลูกค้าได้โดยตรง ทำให้เขาเห็นคุณค่า เข้าใจในกระบวนการ เข้าถึงภูมิปัญญาของชาวบ้าน เข้าใจชุมชนและคุณค่าของงานคราฟต์ ตอนนี้

คนที่มาเรียนส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติ บางคนก็อยากให้ทำ Textile Tour เพราะงานบางอย่างในบ้านเขาได้สูญหายไปแล้ว ตอนนี้พี่มองว่าธุรกิจกับภูมิปัญญา สองสิ่งนี้ต้องไปด้วยกัน เพราะถ้าไม่มีภูมิปัญญา เราก็จะทำธุรกิจนี้ไม่ได้ คุณค่าและมูลค่าต้องไปด้วยกัน โดยเฉพาะเรื่องคุณค่า ต้องช่วยกันรักษาและอนุรักษ์ไว้ เพื่อให้คนรุ่นหลังๆ ได้นำมาต่อยอดได้ ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไป ความดั้งเดิมกับความร่วมสมัยก็จะยัง

คู่ขนานกันไป เพียงแต่ต้องออกแบบให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์จริงๆ”

ผ้าทอผืนงามกับลมหายใจแห่งภูมิปัญญา

“ยิ่งงานคราฟต์เข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คน
เป็น Daily Life มากเท่าไหร่ ก็จะทำให้มีคนเห็น มีคนเสพ มีคนใช้
แล้วงานคราฟต์จะคงอยู่ เป็น Daily Craft ไปได้อีกนาน”

      “บางคนมองว่า งานคราฟต์ คืองานทำมือ แต่พี่ว่ามันมาจากข้างใน ทำมาจากใจ ใส่ความประณีตและความตั้งใจ ส่งต่อความรู้ของคนรุ่นเก่า

ที่สั่งสมมาช้านาน เหมือนเป็นขุมทรัพย์มากด้วยมูลค่า อยู่ที่ว่าใครจะนำไปใช้ประโยชน์ แตกหน่อต่อยอดได้อย่างไร งานคราฟต์เป็นงานที่มาจากรากเหง้าของศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะสิ่งทอ ลวดลายบนผืนผ้า สามารถบ่งบอกเอกลักษณ์ของแต่ละชุมชนได้ บางชิ้นมีเรื่องราวของประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณีให้ได้ศึกษาต่อไปอีก งานคราฟต์บางชิ้นเห็นแล้วเรียกความรู้สึกหรือความทรงจำในอดีตกลับมาได้ ในขณะที่งานอุตสาหกรรมไม่มี”

      การอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นเป้าหมายหนึ่งที่คุณกุ้งพยายามทำอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด และมองไปที่การสร้างช่างฝีมือรุ่นใหม่ ทั้งคนในชุมชนผู้เป็นลูกหลานสืบทอดมรดกทางภูมิปัญญา และคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจ โดยมุ่งเน้นให้เห็นคุณค่าของงาน เปิดโอกาส

ให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าถึงชุมชนและช่างฝีมือได้ง่ายขึ้น ช่วยจับคู่คนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์แต่ขาดความรู้และประสบการณ์ ได้ทำงานกับ

ช่างฝีมือที่ไม่ถนัดด้านการตลาดและการออกแบบ มาช่วยเติมเต็มซึ่งกันและกัน ต่อยอดงานคราฟต์ไม่ให้สูญหาย ในขณะเดียวกันยังสามารถ

ดึงศักยภาพของภูมิปัญญาออกมาใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น สร้างมูลค่าได้อีกมากมาย 

แกลลอรี่

Cotton Farm  

ที่ตั้ง : 158, 162 ถ. ท่าแพ ตำบล ช้างม่อย อำเภอเมืองเชียงใหม่ เชียงใหม่ 50300 

เวลาทำการ  : 9.00 – 17.30 น. หยุดทุกวันอาทิตย์ 

โทรศัพท์      : 081 884 6484 

Website      :  www.cottonfarm.co.th 

Facebook   : cottonfarmthai

Instagram  : cottonfarmthai 

Email: [email protected]

ผลิตภัณฑ์แนะนำ

Recommended products

กระเป๋าผ้า

ทำจากผ้าทอกี่เอวของชาวปกาเกอะญอ ลดทอนจากลวดลายโบราณและจับคู่สีใหม่
ให้เหมาะกับเทรนด์ปัจจุบัน ดีไซน์แบบ Zero Waste Concept ใช้ผ้าให้เกิดประโยชน์สูงสุด แม้แต่ชายผ้าที่เหลือก็นำมาฟั่นเป็นเกลียวเพิ่มความเก๋ให้กับกระเป๋า

เสื้อผ้าสำหรับเด็ก

ทำจากผ้าฝ้ายทอมือสไตล์ของ Cotton Farm เนื้อบาง นิ่ม เหมาะกับผิวที่อ่อนโยน ระบายอากาศได้ดี เหมาะกับสภาพอากาศเมืองไทย เพิ่มความน่ารักด้วยลูกเล่นตรงกระดุม กระเป๋าและงานปักมือ