หัตถกรรมแห่งศรัทธา สู่สินค้าร่วมสมัย
ภูมิปัญญาของแสงสว่าง โกม หรือ โคม คือเครื่องใช้ในบ้านที่มีความสำคัญจากอดีตจนปัจจุบัน รูปลักษณ์ที่เปลี่ยนไปตามสมัย แต่ประโยชน์ใช้สอยยังคงเดิม ด้วยความคุ้นชินตั้งแต่วัยเยาว์ของ ป่าน – วีรศิษฎ์ ภู่สุวรรณ์ ทำให้หยิบรูปลักษณ์ของโคมล้านนา มาออกแบบใหม่ ในโปรเจคส์ก่อนจบการศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาชา ศิลปะอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า วิทยาเขตลาดกระบัง
“ผมอยากพัฒนาความเป็นล้านนาให้ร่วมสมัย ใช้วัสดุพื้นถิ่นโดยเทคนิคที่หลากหลาย”
ป่านเลือกใช้วัสดุในท้องถิ่น การออกแบบและสร้างผลงานจึงค่อนข้างลงตัวสะดวกทั้งเวลาและการจัดการ เมื่อใช้วัสดุเป็นที่ตั้ง รูปแบบและแรงบันดาลใจจะตามมาเอง
“จุดเริ่มต้นของการทำงานออกแบบ คือตอนที่ได้หัวข้อธีสิสมา แล้วมาผสมกับแรงบันดาลใจ ผมเลือกใช้วัสดุพื้นถิ่นเป็นหลัก เป็นของที่อยู่ใกล้ตัว ก็คือไม้ไผ่ที่ใช้ทำข้าวหลาม เรียกว่า ‘ไม้ป้าง’ เป็นพันธุ์ภาคเหนือของลำปาง คนละพันธุ์กับไม้ซาง เวลาที่เขาเผาข้าวหลามจะมีหอมกลิ่นเฉพาะตัวออกมา ไม้ป้างจะต่างจากไม้ซาง ก็คือเส้นใยมันเหนียวกว่า เนื้อมีความมัน เวลาเราดัดโค้ง ไม่ต้องใช้ความร้อนก็ได้ มีความเหนียวแน่นมากกว่าด้วย เวลาทำงานก็จะง่ายประหยัดเวลาขึ้นมานิดนึง”


วัสดุท้องถิ่น กับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติ
ป่านเลือกใช้ไม้ไผ่พันธุ์ที่เรียกว่า ไม้ป้าง ซึ่งเป็นวัสดุท้องถิ่นใกล้ตัวและมีข้อดีมากมาย เช่น การสะดวกในการขนส่ง ยกเป็นต้นมาตัดแบ่งเองได้ ความยาวที่มากกว่าไม้ไผ่ชนิดอื่น ข้อไผ่น้อยกว่าไม้ซาง เพราะป่านเรียนรู้จากพ่อครูว่า ถ้าใช้ไม้ทำโคมที่มีข้อเยอะ เวลาหักโดนข้อโครงสร้างจะไม่แข็งแรง ส่วนแรงบันดาลใจมาจากวัฒนธรรมรอบตัว และเทคนิคที่เกิดขึ้นจากการทดลอง
“ผมจะเอาวัสดุไปแมตช์กับสิ่งที่อยากจะทำ แรงบันดาลใจก็จะล้อกับธรรมชาติ อย่างลวดลายของโคม จะใช้ลวดลายที่แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ของลำปาง เช่น ลวดลายดอกกระถิน จะเป็นเรื่องราวของวัดใกล้บ้าน ซึ่งอิงจากประวัติศาสตร์ของวัด แต่ละวัดก็ใช้ลวดลายหนึ่ง
แพตเทิร์นหนึ่ง แตกต่างออกไปเป็นร้อยลาย แล้วเอามาออกแบบให้ร่วมสมัยขึ้น ลดทอนบางรายละเอียดและเพิ่มเติมในบางส่วน เป็นสไตล์
ของเรา บางทีนึกอะไรไม่ออก ก็หยิบวัสดุที่มีอยู่มาทดลองทำเลย บางครั้งก็ได้เทคนิคใหม่ เป็นงานดีไซน์ใหม่ ที่เกิดขึ้นกับวัสดุในมือของเราในเวลานั้น อีกอย่างคือตัวไม้ไผ่เองค่อนข้างกว้าง ทำได้หลายอย่าง เช่น เอามาสาน ดัดโค้ง เป่าไฟ ลนไฟ ทำให้มีเทคนิคใหม่ๆ เกิดไอเดียที่แปลกๆ”
จากแนวคิดการออกแบบ แตกยอดด้วยฝีมือตัวเอง ผ่านการเรียนรู้จากพ่อครูแม่ครู การขึ้นรูปไม้ไผ่ตามจินตนาการจึงไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่ต้องใช้ความพยายาม ฝึกฝนจนคล่องแล้วนำไปดัดแปลงต่อด้วยจินตนาการแต่บางงานก็ใช้เวลานานเพราะยังไม่คุ้นมือ
“แต่ละแบบต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง ขึ้นอยู่กับความละเอียด ความยาก อย่างล่าสุดมีแบรนด์ NOVA จิวเวอรี่ที่เชียงใหม่ชวนผมไปร่วมงานด้วย เป็นงานที่ละเอียดมาก ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง ก็ยังไม่เสร็จ เพราะต้องใช้ทักษะผสมผสาน ด้วยการใช้เส้นลวดค่อยๆ เชื่อมเข้ากับตัวเส้นไผ่ ซึ่งผมทำคนเดียวก็จะใช้เวลามากหน่อย หรือบางครั้งเวลาอยากลองอะไรใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำ ก็จะค่อนข้างนาน มันขึ้นอยู่กับว่างานนั้นจะเป็นงานที่เราทำบ่อยหรือไม่ ”


เมื่อปัญหาเกิดจากธรรมชาติ ก็ใช้ธรรมชาติแก้ปัญหา
ข้อด้อยของไม้ไผ่ทุกชนิด คือเรื่องของความชื้นและไม่ทนต่อมด มอดและแมลงที่ชอบความหวานของไม้สด การป้องกันด้วยภูมิปัญญาที่มาจากธรรมชาติจึงเป็นสิ่งที่ป่านให้ความสําคัญ เพราะต้องการให้ผลิตภัณฑ์ปลอดลอดภัยจากสารเคมี 100%
“ผมพูดได้เต็มปากว่างานของผมทุกชิ้น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไร้สารเคมี ลูกค้าที่ซื้อไปเพราะชอบที่ปลอดสารอันตราย เราทําได้เพราะความอุดมสมบูรณ์ในภาคเหนือ คือมีทรัพยากรตามธรรมชาติมากมาย เรามีภูมิปัญญาที่แก้ปัญหามาตั้งแต่โบราณ เช่น เราใช้นํ้าส้มควันไม้แช่ป้องกันมดและแมลง แต่ไม่เป็นพิษต่อสุขภาพ หรือใช้ประโยชน์จากต้นสะเดาสมุนไพรพื้นบ้าน ในช่วงหน้าหนาว ซึ่งจะมีความขมกว่าหน้าอื่น
ผลและใบสะเดาเมื่อเอามาผสมกันกับนํ้าส้มควันไม้แล้วเอาไม้ไผ่มาแช่ก่อนนํามาทํางาน ก็จะช่วยป้องกันมด ปลวกและแมลงต่างๆ ได้เช่นกัน
ผมชอบใช้วิธีจากธรรมชาติ เพราะมันทําให้มีความคราฟต์ในทุกกระบวนการทําด้วย”

ปรับเปลี่ยน เพื่อใกล้ชิด
“กองคร้าฟต์ เป็นเหมือนแหล่งนําเสนอสินค้า ให้ชาวลําปางที่กลับบ้านมาทําอะไรที่บ้าน
เราก็เลยมีงานออเดอร์เข้ามาด้วย เพราะลูกค้าเห็นงานเรา ก็จะมีพวกเครื่องประดับ
และรับงานสินค้าตกแต่งบ้าน หรือโรงแรมด้วย”
เมื่ออยากจะใกล้ชิดลูกค้าให้มากขึ้น จากงานชิ้นใหญ่ๆ ป่านจึงย่อส่วนให้เล็กลง แต่ยังคงใช้วัสดุเดิมคือไม้ไผ่ทําเป็นเครื่องประดับ
กระจุกกระจิก อย่าง ต่างหู ที่ขายดีจนทําแทบไม่ทัน หน้าร้านเดียวที่ป่านนําสินค้าไปวางขาย คือที่กองคร้าฟต์ ในบริเวณถนนคนเดินกาดกองต้า

ทักษะที่พร้อมถ่ายทอด หวังต่อยอดให้เป็นมรดกภูมิปัญญาสืบไป
แม้ตอนนี้ โกมล้านนาเป็นเหมือนหัตถกรรมในครัวเรือน แต่ถ้ามีคนรุ่นใหม่หรือน้องๆ สนใจ ป่านก็พร้อมจะถ่ายทอดให้เช่นกัน
“อยากได้แรงงานคนมาช่วยทํา เราชอบงานออกแบบ อยากจะทํางานที่มันแปลกใหม่ แต่บางทีเราติดงานออเดอร์ที่ใช้เวลานาน ตอนนี้
ผมทําอยู่กับแม่สองคน คือผมจะนั่งทําทั้งวัน ตั้งแต่งานแยกไม้ไผ่ ไม่รู้ว่ามีคนสนเรื่องนี้มากแค่ไหน เลยหาคนช่วยทํายาก จริงๆ แล้ว อยากเพิ่มแรงงานคนก่อน แต่ก็อยากผูก Story กับคนในพื้นที่ด้วย อาจจะเป็นเด็กที่สนใจ อย่างล่าสุดมีเด็กมัธยมติดต่อมา อยากมาลองฝึกดัดลาย
หรือถ้ามีใครสนใจ ก็สอบถามได้เลยครับ”
ป่านคือนักออกแบบรุ่นใหม่ ที่ใช้ช่องทางขายผ่านออนไลน์เป็นหลัก โดยใช้ Instagram และFacebook รวมทั้งช่องทางโปรโมทใน
Google SEO (Search Engine Optimize) นอกจากหน้าร้านใน Google และกําลังมองช่องทางTik-tok เพิ่มขึ้นด้วย
“ผมว่าน่าสนใจดี แต่ตอนนี้ยังไม่ค่อยมีเวลา เสาร์อาทิตย์ก็ต้องไปเปิดหน้าร้านที่กองคร้าฟต์ เพราะช่วงหลังโควิดก็เริ่มมีนักท่องเที่ยวมากขึ้น ส่วนวันธรรมดาก็ทํางานทุกวัน ผมอาจจะมือใหม่ ยังไม่เก่งเรื่องของเทคนิคต่างๆ ในธุรกิจ ตรงนี้อาจจะต้องมีการเสริมกําลังเข้ามาในอนาคต เพราะอีกหน่อยพื้นที่นี้ ก็อยากให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนต่อไป”
แกลลอรี่
Ghom Lanna
ที่ตั้ง : 8 ซ.1 ถนนท่ามะโอ ต.เวียงเหนือ อ.เมือง ลําปาง 520000
โทรศัพท์ : 094 616299
Facebook : GHOMLANNA
Instagram: @ghom_lanna
Email: [email protected]