sa'lahmade

In Clay Studio

แปลงร่างก้อนดินอันไร้รูปทรงอย่างมีนัย
สู่การสรรค์สร้างงานศิลป์ เป็นงานปั้นดินที่เรียบง่ายแต่มากด้วยเรื่องราว

           In Clay Studio เป็นสตูดิโอเซรามิกแฮนด์เมดของ คุณชิ – จิรวงษ์ วงษ์ตระหง่าน ศิลปินผู้หลงใหลงานเซรามิกตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นนักศึกษา ในระหว่างเรียนได้ลองทำขายไปด้วย มีคนให้ความสนใจมากมาย เมื่อเรียนจบจึงขยับขยายพื้นที่หลังบ้านให้เป็นสตูดิโอท่ามกลางบรรยากาศร่มรื่นสำหรับทำงานส่วนตัวและต่อยอดความรู้จากที่เรียนมา กว่า 12 ปีแล้วที่ In Clay ได้ยืดหยัดและมุ่งมั่นบนถนนสายคราฟต์แห่งนี้

ความลับของก้อนดิน

"ดินแต่ละแหล่งจะให้สีที่ต่างกัน จึงออกแบบงานที่ใช้เทคนิคการผสมสีของดิน โดยเลือกดินที่จะให้ผลลัพท์ของสีต่างกัน"

        คุณชิเล่าว่า ชื่อ In Clay มาจาก ‘นัยย์ดิน’ คือนัยแฝงที่อยู่ในดิน ดินแต่ละท้องถิ่นจะมีคุณสมบัติแตกต่างกันทั้งสีของดิน ผิวสัมผัส 

ส่วนประกอบในเนื้อดิน ตลอดจนคุณสมบัติการทนความร้อน และการทำปฏิกิริยากับน้ำเคลือบ ทำให้ดินปั้นที่ผ่านกระบวนการแล้วมีผลลัพธ์

ต่างกันออกไปด้วย

      จุดเด่นของ In Clay คือการผสมดินและผสมน้ำเคลือบใช้เอง เป็นสูตรการผสมที่ผ่านการทดลอง พัฒนาจากวัสดุต้นทาง ผ่านนวัตกรรมและประสบการณ์ ให้ได้ลักษณะใหม่ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตัวเอง ดินที่ใช้หลักๆ ส่วนใหญ่จะมาจากในเชียงใหม่และลำปาง จะมีความเหมาะสมกับอุณหภูมิต่างกัน บางครั้งดินจากแหล่งเดียวไม่สามารถทนต่ออุณหภูมิที่ต้องการได้ แต่มีคุณสมบัติบางอย่างที่ต้องการ คุณชิก็จะทำการผสมดินเพื่อให้ได้ดินที่ทนต่ออุณหภูมิสูงและมีคุณสมบัติตามที่อยากได้ หรือบางครั้งดินจากแหล่งที่เคยใช้เริ่มมีไม่พอ ก็ต้องเอาดินจากแหล่งอื่นมาเพิ่มเติม คอยปรับและทดลอง ทำให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาต่อ เพราะเหตุนี้ In Clay จึงสามารถผลิตผลงานใหม่ๆ ที่ไม่จำเจอยู่เสมอ

      “ด้วยความที่เรารู้ว่าดินแต่ละแหล่งจะให้สีที่ต่างกัน จึงออกแบบงานที่ใช้เทคนิคการผสมสีของดิน โดยเลือกดินที่จะให้ผลลัพท์ของสีต่างกัน จัดเรียงตัวเป็นแพตเทิร์น ดินหลายชนิดก็หลายเฉดสี รวมกันเป็นชิ้นงาน ตอนนั้นยังไม่มีคนทำแบบนี้ ผมค่อยๆ ทดลอง ค่อยๆ ผสมดิน ลองดูว่าดินชนิดไหนเข้ากันได้บ้าง ผสมกันแล้วเชื่อมต่อกันได้ไหม เผาแล้วจะร้าวหรือไม่ พอทำผลงานชุดต่อมา ก็เอาข้อมูลที่เคยทดลองไว้ มาปรับผสม ไล่เฉดสี ทำเป็นแผ่นคล้ายจิ๊กซอว์จากดิน 2 ชนิดเรียงตัวเป็นลวดลาย โดยดินชุดหนึ่งผสมพิกเม้นท์สีและอีกชุดไม่ผสม ให้เป็นสีธรรมชาติ ตอนนวดดิน จะไม่นวดให้เข้ากัน ปล่อยให้ดินแยกชั้นกันอยู่ ความท้าทายและความสนุกอยู่ตรงที่ตอนทดลอง ตอนเริ่มเราจะเห็นดินสีหม่นๆ เป็นสีดินจริงๆ แม้แต่ลวดลายที่ทำก็ไม่สามารถกำหนดหรือควบคุมได้ ต้องคอยลุ้นตลอดเวลาจนกระทั่งตอนท้าย เปิดเตาเผาออกมาถึงจะเห็นผลลัพธ์”

3 (1) (1)

ศาสตร์และศิลป์แห่งการสร้างสรรค์

      ดินทั้งหมดจะถูกเก็บในโรงดิน เมื่อเตรียมดินเรียบร้อยแล้ว จะนำมานวดให้เข้ากัน แล้วนำไปปั้นขึ้นรูป ซึ่งทำได้หลายวิธี ได้แก่ การปั้นอิสระด้วยมือ การปั้นด้วยแป้นหมุน หรือการหล่อพิมพ์ ขึ้นอยู่กับการออกแบบและความถนัด เสร็จแล้วจะนำมาปรับแต่งในขณะที่ยังหมาดอยู่ เช่น

การแต่งฐาน การฉลุ การใส่ผิวสัมผัส เป็นต้น จากนั้นรอให้แห้ง โดยการผึ่งลมในที่ร่ม เพื่อไม่ให้ชิ้นงานแห้งเร็วจนเกินไป ใช้เวลาประมาณ 2-3 วันแล้วแต่สภาพอากาศ ยิ่งอุณหภูมิสูง ชิ้นงานแห้งเร็ว จะทำให้เนื้อดินมีการหดตัวเร็ว เกิดการแตกร้าวได้ง่าย

       “ที่นี่มีเตาเผา 3 เตา แบ่งเป็นเตาเผาด้วยฟืน และเผาด้วยแก๊ส ขั้นตอนการเผานี้ จะเผา 2 รอบ โดยรอบแรกใช้อุณหภูมิ 800 องศาเซลเซียส ใช้เวลาประมาณ 6-8 ชั่วโมง ชิ้นงานที่ได้จะมีความแกร่ง คงรูปร่าง ดูดซับน้ำได้ สีจะออกส้มเหมือนงานอิฐ งานกระถาง งานที่จบตรงนี้เรียกว่า เครื่องปั้นดินเผา ส่วนขั้นตอนการทำเซรามิกถัดจากนี้เรียกว่า เครื่องเคลือบดินเผา”

      ชิ้นงานที่เผาแล้ว จะนำไปเคลือบในน้ำเคลือบที่ผสมรอไว้ วิธีการเคลือบสามารถทำได้โดยการชุบ หรือจุ่มชิ้นงานลงไปในน้ำเคลือบทั้งชิ้น การลาด หรือการวาดด้วยแปรงก็ทำได้ แล้วแต่จะออกแบบ น้ำเคลือบประกอบด้วย แร่หินสกัดในสัดส่วนที่เหมาะสม เรียกว่า ซิลิก้า ลักษณะ

จะเป็นเหมือนแก้วที่ถูกบดเป็นผงละเอียด เมื่อตัวแก้วอยู่ภายใต้ความร้อนในการเผาครั้งที่ 2 ที่อุณหภูมิ 1,260 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 

10-12 ชั่วโมง จะหลอมเคลือบตัวดินไว้เป็นเนื้อเดียวกัน ผิวสัมผัสจะเงาวาว สามารถออกแบบให้เงามากน้อย หรือกึ่งเงากึ่งด้านก็ทำได้ 

ขึ้นอยู่กับอัตราส่วนของส่วนผสมน้ำเคลือบ

 

      “สูตรน้ำเคลือบของ In Clay ผมผสมเอง แต่ละสีจะถูกทดลอง ถูกผสมออกมาอย่างหลากหลาย ส่วนผสมที่ทำให้เกิดสี มีทั้งสีจากดิน 

สีจากธรรมชาติ เช่น ขี้เถ้าจะให้สีเขียวศิลาดล และส่วนผสมจากสีสังเคราะห์ บางครั้งก็ได้สีแปลกๆ จากการความบังเอิญในการทดลองผสม

น้ำเคลือบก็มี หลังผ่านขั้นตอนการเผาสุดท้ายแล้ว ก็จะได้ชิ้นงานเซรามิกที่มีความแกร่งยิ่งขึ้น ไม่ดูดซับน้ำ ส่วนที่ถูกน้ำเคลือบจะมีความเงาวาว ส่วนที่ไม่ถูกน้ำเคลือบ จะมีผิวสัมผัสตามแบบฉบับของดินเผา เป็นชิ้นงานที่สามารถนำไปใช้งานได้เลย”

คุณค่าเป็นที่ประจักษ์

       ผลงานของ In Clay แบ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของสตูดิโอ กับส่วนที่เป็นงานสั่งทำ In Clay เริ่มเป็นที่รู้จักจากการออกร้าน ออกงานแสดงสินค้า และขายประจำที่ถนนคนเดิน ในช่วงที่การท่องเที่ยวคึกคัก มากด้วยนักท่องเที่ยวทั้งชาวต่างชาติและคนไทย เมื่อผลงานเป็นที่ถูกใจ ลูกค้าก็ขอตามไปเยี่ยมชมสตูดิโอและขอเรียน จึงเป็นที่มาของการเปิดเวิร์กช็อป

      “ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ ทั้งที่มาท่องเที่ยวและพักอยู่อาศัยในเมืองไทย มีประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ รู้จักกันแบบบอกต่อ ปากต่อปาก บางครั้งลูกค้าเห็นผลงานของเราจากที่อื่นก็แนะนำกันมา งานส่วนมากเป็นภาชนะบนโต๊ะอาหาร ทำให้งานของเราไปอยู่ในร้านอาหารที่ต้องการมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง เราจะเริ่มจากคุยคอนเซ็ปต์และธีมงานกันก่อนว่าอยากได้ mood & tone แบบไหน แล้วเขาจะให้เวลาเราออกแบบ ทดลองสร้างสรรค์ชิ้นงานได้ตามใจเรา ผลงานจึงไม่ค่อยซ้ำเดิม เมื่องานมีความหลากหลาย คนก็สนใจและติดตาม”  

       งานของ In Clay มีความร่วมสมัย มีสีสันและดีไซน์ที่เรียบง่าย แม้ไม่ได้แสดงออกถึงความเป็นล้านนาตามขนบ แต่ทุกสิ่งที่เผยออกมา

ล้วนแฝงไปด้วยความเป็นล้านนา ไม่ว่าจะเป็นวัสดุที่ใช้ ดินจากภาคเหนือ ภูมิปัญญาในการทำเครื่องเคลือบ และการออกแบบด้วยรูปทรงที่มี

แรงบันดาลใจมาจากธรรมชาติ

“ผลงานชุดหนึ่งที่ทำให้ร้านอาหารไทย ลูกค้าต้องการคอนเซ็ปต์เน้นความเป็นไทย ผมออกแบบให้ภาชนะ
มีรูปทรงอิสระเป็นธรรมชาติคล้ายใบบัว ใช้เทคนิคเคลือบมีลวดลายคล้ายใบไม้ ใช้สีเคลือบศิลาดล และให้ผิวสัมผัสเหมือนดินทราย”

        In Clay วางแผนออกคอลเลกชันผลงานอย่างน้อยปีละครั้ง จะเป็นงานที่คุณชิให้เวลากับตัวเองเพื่อสร้างสรรค์ผลงาน แรงบันดาลใจ

ส่วนใหญ่จะมาจากวัสดุ คือได้วัสดุมาก่อนแล้วจึงคิดงาน หรือบางครั้งมีความคิดก่อนแล้วจึงต่อยอด ทำการทดลอง ทำการผสมสี สร้างผิวสัมผัสให้กับผลงาน ซึ่งการคิดงานแบบนี้ ต้องใช้เวลามุ่งเน้นไปที่ความคิดเป็นอย่างมาก ในขณะที่ช่วงหลังสตูดิโอรับงานเพิ่มขึ้น คุณชิต้องแบ่งเวลาไปดูแลงานผลิตในส่วนนั้นด้วย เพราะงานแฮนด์เมดต้องทำทีละชิ้น และทุกชิ้นต้องได้คุณภาพใกล้เคียงกับที่คุณชิทำเอง ทำให้ต้องใช้เวลาในการฝึกและสอนงานมากขึ้นตามไปด้วย ถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายในการทำงานเซรามิกที่ต้องใส่ใจเรื่องคุณภาพเป็นพิเศษ

       คุณชิเล่าว่า ในช่วงสถานการณ์ควบคุมโรคระบาดโควิด-19  In Clay ได้รับผลกระทบในช่วงแรกที่ประกาศงดการรวมกลุ่มทำกิจกรรม 

สตูดิโอจึงหันมาใช้ช่องทางออนไลน์มากขึ้น โดยวางแผนไปที่ลูกค้ากลุ่มใหม่ จากเดิมที่ลูกค้าเป็นชาวต่างชาติและนักท่องเที่ยว มาเป็นกลุ่มนักศึกษา และกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในเชียงใหม่ โดยเข้าไปประชาสัมพันธ์ในเพจที่นักศึกษาและวัยรุ่นนิยมใช้งาน ทั้งใน Facebook, YouTube และ Instagram ของทางสตูดิโอ ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดี โดยเฉพาะเวิร์กช็อปจะเป็นกลุ่มนักศึกษามากที่สุด เมื่อมาตรการผ่อนคลายลงแล้ว เริ่มมีการเดินทางมากขึ้น คนที่มาทำเวิร์กช็อปก็จะเป็นกลุ่มคนที่ต้องการทำกิจกรรมอย่างอื่นด้วย นอกเหนือจากการเที่ยวชมสถานที่ท่องเที่ยวในเชียงใหม่ อีกทั้งเชียงใหม่มีบรรยากาศของงานคราฟต์ จึงไม่ยากเลยที่งานฝีมือจะเป็นเป้าหมายของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ด้วย

เชื่อมหัวใจด้วยงานคราฟต์

      คุณชิให้ความหมายของงานคราฟต์ไว้ว่า คือการสืบทอดองค์ความรู้ เป็นสิ่งที่ต้องถ่ายทอดสู่คนรุ่นถัดไป 

      “ตัวผมเองที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้มา ในขณะเดียวกันก็ได้ถ่ายทอดความรู้เหล่านั้นต่อไปสู่คนที่สนใจ ในฐานะของผู้ผลิตงานคราฟต์ 

ผมมองว่า การที่เราเปิดแชร์องค์ความรู้เรื่องการทำเซรามิกผ่านการทำเวิร์กช็อปแล้วมีหลายคนสนใจมาเรียน มาใช้เวลา ทำให้เกิดเป็นชุมชนสร้างสรรค์ระหว่างคนมาทำเวิร์กช็อปด้วยกันเอง จากคนที่ไม่รู้จักกัน เพิ่งพูดคุยกันครั้งแรก แต่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กันผ่านการเชื่อมโยงของดินและเซรามิก”

แกลลอรี่

In Clay Studio

ที่ตั้ง : 35 ถ.สิโรรส ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200

เวลาทำการ :  จันทร์-เสาร์ เวลา 10.00-17.00 น. หยุดวันอาทิตย์

โทรศัพท์     : 081 785 1943 

Website     : www.inclaystudio.com

Facebook  : inclaystudio

Instagram : jirawong_inclay

Email: [email protected]

ผลิตภัณฑ์แนะนำ

Recommended products

กระถางต้นไม้ขนาดเล็ก

มีลวดลายและสีสันที่เกิดจากธรรมชาติของดินซึ่งมาจากแหล่งที่ต่างกัน
เมื่อนำมาผสมแล้วนำไปเผา ก็จะได้เฉดสีที่ต่างออกไป ไม่สามารถคาดเดาได้

ชุดชามใบบัว

มีรูปทรงอิสระคล้ายใบบัว ด้วยแนวคิดที่ต้องการแสดงถึงความเป็นไทย
ใช้สีเคลือบศิลาดล ผิวสัมผัสเหมือนดินทรายและมีลายคล้ายกับใบไม้