sa'lahmade

Kalm Village

หมู่บ้านที่เติมเต็มทุกพื้นที่ด้วยความคราฟต์
เพื่อเชื้อเชิญทุกๆ คน ให้เข้ามาเสพงานศิลป์แบบไม่รู้ตัว

      Kalm Village คือพื้นที่แบ่งปันความรู้และแรงบันดาลใจผ่านงานศิลปะ หัตถกรรม และวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าในรูปแบบใหม่ เพราะเชื่อว่า

สิ่งเหล่านี้อยู่ในทุกๆ ส่วนของการดำเนินชีวิต ครอบครัวโรจนะภิรมย์จึงตัดสินใจสร้างสรรค์พื้นที่แห่งนี้ด้วยความตั้งใจให้คนเข้ามาเรียนรู้งานศิลป์ เสพงานคราฟต์ ผ่านการใช้เวลาแบบไม่ตั้งใจ ภายใต้การดูแลโดย คุณกรวด – อารยะ โรจนะภิรมย์ และคุณทราย – อัจฉริยา โรจนะภิรมย์ สองพี่น้องจากครอบครัวสถาปนิกสู่ธุรกิจโรงแรม 2 แห่ง ที่อยู่ในเขตคูเมืองเก่า ต่อยอดมาเป็น Kalm Village ที่อยู่ในย่านชุมชนเก่าแก่แห่ง

เวียงเชียงใหม่เช่นกัน

      “โรงแรมแรกมีคอนเซ็ปต์เชิงปรัชญา เพื่อค้นหาความสงบตามหลักพุทธ พอได้ทำงานร่วมกับศิลปินจึงทำโรงแรมแห่งที่สองใน

ธีมอาร์ตแกลเลอรี ส่วน Kalm Village เกิดขึ้นจากการพูดคุยกันในครอบครัว ว่าอยากจะทำอะไรที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจเดิม ครอบครัวเราทำเกี่ยวกับสถาปัตยกรรม ศิลปะ วัฒนธรรม เราโตมากับบ้านทรงไทย พ่อแม่ของเราสะสมของเก่า ผมกับพี่สาวโตมากับของโบราณ ก็ซึมซับสิ่งเหล่านั้นโดยไม่รู้ตัว จึงตัดสินใจทำที่ตรงนี้ให้คนได้เข้ามาดู มาเสพศิลปวัฒนธรรมในรูปแบบของเรา ผ่านงานสถาปัตยกรรม อาหาร เครื่องดื่ม งานผ้า ของใช้และต้นไม้”

ความหมายที่ซ่อนอยู่

Kalm เขียนเป็นภาษาไทยได้ว่า ‘คาม’ ที่มีความหมายว่า หมู่บ้าน หรือเป็นคำพ้องเสียงมาจาก ‘Calm’ ที่แปลว่าความสงบเรียบง่าย และอีก

นัยหนึ่งหมายถึง ‘สีคราม’ ซึ่งเป็นสีสัญลักษณ์ของหมู่บ้านแห่งนี้ ด้วยความตั้งใจอยากจะถ่ายทอดองค์ความรู้ทั้งเก่าและใหม่ในรูปแบบของ

ความร่วมสมัย ผ่านมุมมองเชิงสถาปัตยกรรม ผสมผสานความหลากหลายทางศิลปะและวัฒนธรรม

 “เราไม่ได้อยากให้ Kalm Village เป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์หรือแกลเลอรีที่ทุกคนต้องตั้งใจมาดู มาชมงาน ทำอย่างไรให้ที่นี่มีฟังก์ชันที่สามารถทำให้คนที่เข้ามา ได้ใช้เวลาอยู่กับงานศิลปะโดยไม่รู้สึกว่าถูกบังคับจนเกินไป Kalm Village จึงถูกออกแบบให้เป็นเหมือนกึ่งคอมมูนิตี้ สามารถเข้ามาใช้พื้นที่แบบสบายๆ เป็น Casual Space คนที่มาไม่จำเป็นต้องสนใจศิลปะ การได้มาดูงานนิทรรศการของเรา ได้อยู่ท่ามกลางพื้นที่ที่แสดงถึงศิลปะ หัตถกรรม วัฒนธรรม ผมเชื่อว่าเขาจะค่อยๆ ซึมซับไปเอง ยิ่งมาบ่อย เห็นบ่อยๆ ก็จะมีความรู้สึกร่วมไปด้วยและความชอบก็จะตามมา เกิดเป็นแรงบันดาลใจในภายหลัง ยิ่งเป็นเชียงใหม่ด้วยแล้ว ไม่ว่าจะไปที่ไหน ทุกอย่างมันคือศิลปะ คือคราฟต์ คือวัฒนธรรมอยู่แล้ว เหมือนกับผมในตอนนี้ ก็รู้สึกร่วมไปกับสิ่งเหล่านั้น ผมเรียนจบด้านโรงแรม แต่พอมาทำที่นี่ ผมรู้ถึงคุณค่าและความสำคัญของสถาปัตยกรรม 

ศิลปวัฒนธรรม เราอยากจะต่อยอดให้มันคงอยู่ต่อไป จะในรูปแบบใหม่ หรือในบริบทใดก็ได้ นอกจากความสวยงามที่ดึงดูดความสนใจแล้ว เรื่องราวของมันหรือความตั้งใจของผู้สร้างก็ยังน่าสนใจไม่แพ้กัน”

เดินชมหมู่บ้าน

      Kalm Village แบ่งออกเป็นบ้าน 8 หลัง ที่มีทางเดินเชื่อมถึงกัน โดยแต่ละหลังมีเรื่องราวและหน้าที่การใช้งานแตกต่างกันไป ตัวอาคารก่อด้วยอิฐสีดำที่ผ่านกรรมวิธีเฉพาะ เรียงตัวเป็นลวดลายไม่ซ้ำกัน ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากงานจักสาน เช่น ลายก๋วยสังฆ์ 

ลายแอ็บข้าว ลายสาดแหย่ง เป็นต้น อีกทั้งช่องแสงของแต่ละหลัง ยังทำเป็นตราสัญลักษณ์ประจำบ้าน โดยแรงบันดาลใจมาจากลวดลาย

ที่พบในเครื่องปั้นดินเผาของเวียงกาหลง จังหวัดเชียงราย แต่ละลายมีความหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรในท้องถิ่น ความเชื่อและนิทานธรรมะ เช่น รูปปลาตะเพียนคู่ รูปอีกา รูปดอกบัว เป็นต้น

      เริ่มจากทางเข้า ส่วนแรกคือ Kalm Reception เป็นส่วนต้อนรับ ชั้นบนเป็นส่วนจัดแสดงนิทรรศการ หลังถัดมาได้แก่ Kalm Kitchen 

ให้บริการอาหารไทยตำรับคุณยายของคุณกรวด ชั้นบนเป็นเวิร์กช็อปทำอาหาร บ้านติดกันเป็น Kalm Coffee House ให้บริการกาแฟและชา รวมถึงจำหน่ายสินค้าท้องถิ่นจากหลายจังหวัด ชั้นบนเป็นห้องสมุด สามารถนั่งทำงานพร้อมกับจิบเครื่องดื่มไปด้วย ถัดมาคือ Kalm Gallery ส่วนจัดแสดงงานศิลปะหมุนเวียน ชั้นบนสุดของบ้านหลังนี้จะพบกับจุดชมวิวองค์พระเจดีย์ วัดเจดีย์หลวงวรวิหารและเมืองเชียงใหม่ ออกแบบหลังคาด้วยโครงสร้างไม้ โดยใช้ภูมิปัญญาการเข้าไม้แบบโบราณ เดินต่อไปเป็น Kalm Hall ใช้เป็นห้องอเนกประสงค์สำหรับจัดกิจกรรม ประชุมสัมมนา ส่วนอีก 3 หลังที่เหลือเรียกว่า Kalm Style ชั้นล่างจะมี Concept เป็นเสื้อผ้า สินค้าแนว Lifestyle ภายใต้แบรนด์ Kalm มีทั้งสินค้าที่ออกแบบเองโดยทำงานร่วมกับชุมชนต่างๆ และสินค้าที่ทำร่วมกับแบรนด์อื่น รวมถึงงานจากต่างประเทศ นอกจากนี้ชั้นบนของทั้ง 3 หลัง ยังมีรายละเอียดที่น่าสนใจ โดยชั้นบนของบ้านหลังสุดท้ายที่อยู่ติดกับ Kalm Reception เรียกว่า Kalm Archive ที่ทำเป็น Educational Space จัดแสดงทั้งงานผ้าและเครื่องเงินซึ่งเป็นของสะสมส่วนตัวของครอบครัว ที่คุณแม่ของคุณกรวดได้สะสมมานานกว่า 30 ปี ถือเป็นหนึ่งไฮไลต์ที่

ต้องมาชม 

      “เราติดต่อกับหลายท้องถิ่นในหลายพื้นที่ของเมืองไทย เราใช้ทีมสล่าคนไทยทั้งหมด สินค้างานเสื้อผ้า งานคราฟต์ หรือแม้แต่งานแสดงศิลปะก็มาจากท้องถิ่น ซึ่งมากด้วยองค์ความรู้และกระบวนการทำ เราตั้งใจให้พื้นที่สร้างสรรค์แห่งนี้เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่ทุกคนต้องมาปักหมุด ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เพราะคำว่าพื้นที่สร้างสรรค์ ไม่ใช่แค่การผสมระหว่างความเป็นไทยเพียงอย่างเดียว แต่ต้องผสานความเป็นต่างชาติเข้าไปรวมอยู่ด้วย เช่น เรามีความรู้งานคราฟต์บ้านเรา พอได้มีโอกาสร่วมงานกับต่างชาติ เท่ากับว่าเราได้เรียนรู้งานคราฟต์บ้านเขาไปด้วย”

 

พื้นที่แห่งการเรียนรู้สำหรับทุกคน

     คุณกรวดมองว่า ทุกที่สามารถเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ได้ ตราบเท่าที่คนยังสามารถเข้าไปใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นวัดหรือพิพิธภัณฑ์ แล้วแต่จุดประสงค์ของคนที่จะเข้าไปใช้งาน ยิ่งมีพื้นที่สร้างสรรค์มากเท่าไหร่ ยิ่งส่งผลดีต่อความคิดสร้างสรรค์มากเท่านั้น

      เสน่ห์ของ Kalm Village คือดึงดูดคนให้เข้าหาด้วยรูปแบบและอัตลักษณ์ที่โดดเด่น การจัดกิจกรรมก็เพื่อพยายามดึงคนจากหลากหลายสาขาเข้ามา ใช้งานศิลปะและงานคราฟต์เป็นสื่อกลาง นำไปสู่การสร้างสรรค์ให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ร่วมกัน นอกจากศิลปินจะได้จัดแสดงงานแล้ว ยังเป็นพื้นที่ให้ศิลปินได้สร้างสรรค์ผลงาน และ Kalm Village ทำหน้าที่ผลักดัน ส่งเสริมและสนับสนุน

      “เราเป็นพื้นที่เปิด เป็นคอมมูนิตี้สเปซ ทุกคนสามารถเข้ามาใช้งานได้ เราพยายามให้พื้นที่ของเราเป็นประโยชน์ทั้งกับคนภายนอกและคน

ในชุมชน อีกทั้งแถบนี้เรียกว่า ชุมชนพวกแต้ม มีศิลปิน มีสล่าเยอะ ในอนาคตก็อาจจะได้มาร่วมงานกัน”

ความหวังของหมู่บ้าน

      คุณกรวดเล่าว่า Kalm Village เปิดตัวในช่วงโควิด หนึ่งปีที่ผ่านมาหลายอย่างถูกจำกัด ทั้งเรื่องกิจกรรมและการทำเวิร์กช็อป ต่อจากนี้จะเดินหน้าทำกิจกรรมเพิ่ม จัดเวทีทอล์ค และนิทรรศการหมุนเวียนให้มากขึ้น เมื่อในวันที่ทุกอย่างกลับมา นักท่องเที่ยวเริ่มมากขึ้น สิ่งเหล่านั้นจะเป็นแรงดึงดูดให้ทุกคนเข้ามาในพื้นที่นี้มากขึ้นตามไปด้วย โดยใช้ช่องทางการประชาสัมพันธ์ในทุกแพลตฟอร์ม ได้แก่ เว็บไซต์ เฟซบุ๊กและอินสตาแกรม สำหรับร้านค้าก็มีจำหน่ายในช่องทางออนไลน์ แม้การทำการตลาดยังไม่มากนัก แต่คนที่เคยมาเที่ยวมักจะบอกต่อแบบปากต่อปาก คนเคยมาแล้วก็กลับมาอีก และยังพาเพื่อน พาครอบครัวตามมา อีกทั้งเมื่อมีเวิร์กช็อปหรือนิทรรศการ นอกจากการประชาสัมพันธ์ในช่องทางของตัวเองแล้ว ทางตัวศิลปินก็ช่วยประชาสัมพันธ์ในช่องทางของแต่ละคนอีกด้วย ตอนนี้ยังไม่มีการเก็บค่าเข้าชมแต่อย่างใด แต่ก็จะยินดียิ่งหากภาครัฐหรือเอกชนสนใจจะสนับสนุนช่วยประชาสัมพันธ์ หรือเข้ามาใช้งานพื้นที่ในการจัดงาน ประชุมสัมมนา

     “ผมมองว่าคราฟต์  ศิลปะและวัฒนธรรม มีความเหมือนกันตรงที่มีความสวยงาม มีความประณีต คราฟต์คืออะไรก็ได้ที่ทำด้วยมือ 

ผ่านกระบวนการเรียนรู้ แล้วทำต่อๆ กันมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการใช้งาน หรือจะมองว่ามันเป็นคนๆ หนึ่ง ที่ใช้เวลา 3-4 เดือน กับการทำงานชิ้นหนึ่งก็ได้ คราฟต์อยู่ในทุกๆ อย่าง อยู่ในทุกบริบทของชีวิต เป็นสิ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้และเราจะอยู่คู่กับมันไปตลอด สิ่งสำคัญคือ แม้บางอย่างจะสูญหายไป แต่สิ่งที่เราจะรักษาไว้ได้ คือองค์ความรู้และเรื่องราวที่คนรุ่นก่อนสร้างเอาไว้ ส่วนจะพัฒนาไปรูปแบบไหน แล้วเราจะรักษาอะไรไว้ เป็นคำถามที่พวกเราคนรุ่นใหม่ต้องคิดหาคำตอบ”

แกลลอรี่

Kalm Village

ที่ตั้ง : 14 ซอย 4 ถนนพระปกเกล้า อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200

เวลาทำการ : 09.30-18.30 น. วันจันทร์-วันอาทิตย์ หยุดทุกวันพุธ

โทรศัพท์ : 02 115 2956, 062 445 4276

Website :  www.kalmvillage.com

Facebook : kalmvillagechiangmai

Instagram: kalm_village

Email: [email protected]

ผลิตภัณฑ์แนะนำ

Recommended products