การเดินทางของไม้ไทย สู่มิติการออกแบบเชิงสร้างสรรค์
ผสานฝีมือสล่าท้องถิ่น กลายเป็นงานศิลป์ที่มากด้วยอรรถประโยชน์
moonler คือแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ร่วมสมัยสัญชาติไทย ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของ ภูวนาถ ดำรงพร อดีตวิศวกร ที่ผันตัวเองจากงานอดิเรกและความชื่นชอบ มุ่งหน้าสู่เส้นทางหัตถอุตสาหกรรม (Industrial Craft) ซึ่งเป็นการออกแบบ และผลิตโดยใช้ภูมิปัญญาผ่านกระบวนการเชิงอุตสาหกรรม

ความชอบต่อยอดความคิด
“ตอนแรกไม่คิดว่างานไม้จะทำเป็นอาชีพได้ ด้วยความที่เราไม่มีพื้นฐาน ไม่รู้ว่าเฟอร์นิเจอร์จะทำอะไรได้ขนาดไหน แต่เราชอบงานไม้
งานช่าง ก็ค่อยๆ ต่อยอด พอดีกับที่ย้ายมาอยู่เชียงใหม่ จึงมีเวลาทำงานอดิเรกด้านงานไม้บ้าง เริ่มจากทำงานคนเดียว เอาไม้มาตัดแต่ง ขัด
ทำสีเอง หลังๆ เริ่มมีลูกมือ ทำอยู่ประมาณ 3 ปี จึงลองออกงานแสดงสินค้า ปรากฏว่าลูกค้ารายแรกสั่งสินค้าล็อตใหญ่เลย ทำให้มองเห็นโอกาส ว่ามันต่อยอดได้ ก็เลยทำมาเรื่อยๆ สินค้าชิ้นแรกเป็นเก้าอี้เล็กๆ สมัยนั้นนิยมวัสดุผสมผสานระหว่างงานสแตนเลสกับไม้ เหล็กกับไม้ สไตล์ลอฟท์ ตอนหลังเราเริ่มใช้วัสดุอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น งานผ้า งานถัก”
ชื่อแบรนด์ moonler มาจากพระจันทร์ที่อยู่ในป่า แสงจันทร์ส่องสว่าง ให้ความรู้สึกนุ่มนวล อบอุ่น สอดคล้องกับภาพโลโก้รูปภูเขาที่อยู่ในดวงจันทร์ ซึ่งถูกออกแบบโดยนักออกแบบชาวญี่ปุ่น สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นธรรมชาติอยู่ในตัวแบรนด์

จุดแข็งกลบสยบจุดด้อย
ผลงานของ moonler เลือกใช้ไม้จามจุรีหรือไม้ฉำฉาเป็นวัสดุหลัก ในขณะที่เฟอร์นิเจอร์รายอื่นส่วนใหญ่นิยมไม้ที่นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น ไม้โอ๊ค ไม้แอช ไม้บีช ฯลฯ ทั้งนี้เพราะไม้จามจุรีเป็นพืชเศรษฐกิจ หาได้ง่ายในท้องถิ่นและโตเร็ว ถึงแม้จะมีข้อเสียคือ ทำงานยาก บิดงอง่าย แต่เขากลับมองว่าไม่ใช่ปัญหา บางชิ้นที่บิดเบี้ยว แตกแยกจากสภาพอากาศ แต่กลับกลายเป็นมาสเตอร์พีซที่รังสรรค์โดยธรรมชาติ
เป็นความงามในความไม่สมบูรณ์ และเป็นงานศิลปะที่มีเพียงชิ้นเดียว
“ความตั้งใจแรกคืออยากใช้วัสดุของไทย ที่เป็นของบ้านเรา เพราะเชื่อว่าไม้ท้องถิ่นสามารถพัฒนาให้ดีได้ด้วยเรื่องของคุณภาพและ
การออกแบบ ไม้จามจุรีมีคาแรกเตอร์ชัดเจนโดยเฉพาะลวดลายของเนื้อไม้ แม้จะต้นเดียวกัน แต่ความเข้มของสีก็ต่างกัน อีกทั้งไม้จามจุรี
ไม่นิยมนำไปแปรรูป จึงไม่มีข้อจำกัดเรื่องขนาดของหน้าไม้เหมือนกับไม้นำเข้า ที่มีรูปแบบและขนาดเป็นมาตรฐาน ทำให้เราออกแบบได้
หลากหลายมากขึ้น งานที่ออกมาก็มีความแตกต่างเพราะไม่ได้ถูกกำหนดด้วยขนาดตั้งแต่แรก”
ภูวนาถเล่าว่า ส่วนตัวไม่ค่อยได้ออกแบบเพราะไม่ได้จบด้านออกแบบโดยตรง หากแต่อาศัยความรู้เรื่องช่างไม้ผ่านความชอบและการฝึกฝนด้วยตัวเองเสียส่วนใหญ่ ผลงานที่ทำออกมาช่วงแรกๆ ใช้ความรู้สึกตัดสินใจว่า งานนี้น่าจะต่อยอดหรือน่าจะไปต่อได้ เมื่อไม่ถนัดงานออกแบบ เขาจึงเลือกที่จะร่วมมือกับดีไซน์เนอร์เก่งๆ แทน ซึ่งมีทั้งนักออกแบบของ moonler (in-house designer) และนักออกแบบที่ร่วมมือกันสร้างสรรค์ผลงาน (Collaborated designer) รวมถึงนักออกแบบที่เข้ามาร่วมทำเป็นโครงการ (Project designer) ส่วนตัวเขาดูแลในเรื่องการจัดการระบบและเครื่องจักรตามความถนัดด้านวิศวกร
“การทำงานของ moonler เริ่มตั้งแต่การออกแบบ วางคอนเซ็ปต์ด้วยกันในทีม ไม่ว่าจะเป็นนักออกแบบ ช่างฝีมือ และฝ่ายผลิต ที่ช่วยกันเลือกและเตรียมวัตถุดิบไม้ ซึ่งต้องเอามาเป็นแอร์ดรายก่อน ใช้เวลาประมาณ 1 เดือนแล้วนำเข้าเตาอบเพื่อควบคุมความชื้น ตรงนี้จะใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 1 เดือน เพื่อให้ได้ความชื้นที่เหมาะสมกับการทำงาน แล้วจึงเอาเข้าสายการผลิต โดยหลักๆ จะใช้ช่างฝีมือทักษะอย่างสล่า
และใช้เครื่องจักรในบางส่วนเพื่อให้ได้งานที่มีความแม่นยำและรวดเร็วขึ้น”


ผลงานพิสูจน์คุณค่า
“ด้วยความที่เป็นคนกรุงเทพฯ เราจะทำอะไรก็เร็วไปหมด ในขณะที่คนเชียงใหม่จะช้า ค่อยๆ ทำ
แต่พออยู่นานๆ ก็เริ่มรู้สึกว่าความช้ามันมีเสน่ห์ และชีวิตไม่จำเป็นต้องรีบร้อนขนาดนั้นก็ได้
ความช้าก็ดีเหมือนกัน เข้ากับงานคราฟต์ที่ค่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ ”
การเดินทางกว่า 12 ปีของ moonler ได้ผลิตและสร้างสรรค์ผลงานมากมายโดยมีรางวัลการันตีคุณภาพหลายชิ้น หนึ่งในความภูมิใจที่ภูวนาถเล่าถึง ได้แก่ SIAM bookshelf ที่ได้รับรางวัล G-MARK 2020 Japan, Demark 2020 Thailand, และ Finalist Design Anthology Awards 2021, Hong Kong เป็นผลงานความร่วมมือระหว่าง moonler และสยามศิลาดล แบรนด์ท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงด้านศิลาดลของเชียงใหม่ โดยดึงเอาเอกลักษณ์ของแต่ละแบรนด์ออกมาให้เห็น ผลงานจึงเป็นการผสมผสานกันระหว่างไม้จามจุรีจาก moonler และงานศิลาดลจาก
สยามศิลาดล จุดเด่นของ SIAM bookshelf คือสามารถปรับแต่งย้ายตำแหน่งส่วนที่เป็นแจกันและที่กั้นหนังสือได้ตามความชอบ อีกหนึ่งชิ้นงานที่น่าสนใจคือ PEBBLE stool เก้าอี้ไม้สามขาคล้ายก้อนหินวางพิงกัน ที่ขึ้นรูปด้วยมือเป็นหลัก แม้ผิวไม้จะไม่เนียนเรียบ แต่ความไม่สมบูรณ์แบบที่เกิดขึ้น ก็เป็นความตั้งใจที่ต้องการสะท้อนความเป็นงานคราฟต์ให้ได้มากที่สุด

ความเปลี่ยนแปลงที่ต้องพัฒนาต่อ
แม้ว่าภาคเหนือจะเป็นดินแดนหัตถกรรม มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ ผู้คนมีอาชีพช่างไม้เป็นทุนเดิมมาแต่โบราณ แต่ปัจจุบันความนิยมในอาชีพช่างฝีมือลดน้อยถอยลง คงหลงเหลือแต่คนรุ่นเก่าที่ยังคงดำเนินอาชีพนี้อยู่ ในขณะที่คนรุ่นลูกหลานไม่สนใจจะสืบต่อภูมิปัญญานั้น ภูวนาถมองว่า ช่างฝีมือที่มีทักษะช่างกำลังจะหมดไป จึงพยายามส่งเสริมคนรุ่นใหม่ ช่วยพัฒนาทักษะงานช่าง สอนให้เขารู้สึกถึงคุณค่า เห็นประโยชน์ และต่อยอดเป็นอาชีพได้ในระดับสากล อีกทั้งการที่ moonler ตั้งอยู่ในชุมชน จึงมีความสัมพันธ์อันดีกับคนในท้องถิ่น โดยเข้าร่วมทำกิจกรรมกับชุมชน และชักชวนคนในพื้นที่มาร่วมงานด้วยกัน ทั้งคนรุ่นใหม่และผู้สูงอายุ โดยจัดงานให้เหมาะสมกับแต่ละคน

ความเข้าใจเป็นเรื่องสำคัญ
“ตลาดของเราเน้นการส่งออกต่างประเทศ 80 เปอร์เซ็นต์ ออกคอลเลกชันปีละ 1-2 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน
เป็นหลัก มีทั้งที่เป็นผลิตภัณฑ์ของเราเอง ผลิตตามความต้องการของลูกค้า รวมถึงรับจ้างผลิต OEM (Original Equipment Manufacturer)
ช่วงโควิดการทำงานมีชะงักบ้าง แต่ทุกอย่างก็เริ่มเข้าที่เมื่อเวลาผ่านไป ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นคนที่เคยซื้องานของเรามาก่อน บางรายต้องบินมา คิดคอลเลกชันใหม่ด้วยกันทุกปี พอเดินทางไม่ได้ เลยเปลี่ยนเป็นการสื่อสารทางออนไลน์แทน ด้วยความที่ลูกค้ามีความเชื่อใจเพราะซื้อขายกันมาระยะหนึ่งแล้ว เขาก็ให้เราพัฒนาชิ้นงานให้ด้วย นอกจากนี้ก็หันมาพัฒนาช่องทางออนไลน์มากขึ้น ทำให้สื่อสารออกไปยังคนภายนอกให้รับรู้ในชิ้นงานของเราได้ง่ายขึ้น ทั้ง Facebook, Instagram และ YouTube ลูกค้าจากในประเทศก็มากขึ้น คนไทยใช้เฟสบุ๊กเยอะเพราะเข้าถึงได้ง่าย สำหรับลูกค้าที่ต้องการซื้อสินค้า ก็อยากจะมาโรงงาน จึงคิดว่าจะทำโชว์รูมเพื่อรวบรวมผลงานทั้งหมด จัดวางให้เห็นภาพชัดเจนกว่าเดิม ซึ่ง
ตอนนี้กำลังอยู่ในระหว่างจัดทำ คาดว่าในอนาคตจะทำเป็นจุดท่องเที่ยวและพาเข้าไปเยี่ยมชมโรงงาน”

งานคราฟต์ของคนไทย
moonler ยังคงเดินหน้าสร้างสรรค์ผลงานภายใต้แนวคิดงานออกแบบร่วมสมัย โดยสื่อสารความเป็นไทยสู่สากลในรูปแบบงานหัตถกรรม
ที่ต่างไปจากของดั้งเดิม แม้ไม่ได้มีรูปลักษณ์ตามแบบฉบับไทยนิยม แต่วัตถุดิบก็มาจากแผ่นดินไทย ออกแบบและผลิตโดยฝีมือคนไทย ซึ่งเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวที่สะท้อนความเป็นงานคราฟต์สัญชาติไทยได้อย่างชัดเจน ‘Crafted in Chiang Mai’ เป็นคำที่ moonler ให้นิยามต้นกำเนิด
ของผลงานได้เป็นอย่างดี ภูวนาถเล่าว่า สมัยก่อนจะใช้คำว่า ‘Made in Thailand’ เพื่อบ่งบอกที่มา แต่วันนี้ moonler ต้องการเจาะจงลงไปให้ชัดถึงความเป็นเชียงใหม่ พอพูดถึงเชียงใหม่จะรู้สึกว่าเป็นงานคราฟต์ มีวัฒนธรรม เป็นงานฝีมือที่น่าสนใจ

“ผมมองว่าบ้านเราควรเน้นเรื่องงานคราฟต์ให้เยอะ เพราะจุดเด่นของเราคืองานฝีมือ"
“เราสามารถผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีกับงานฝีมือเข้าด้วยกันได้ นี่คือจุดที่ทำให้เราแตกต่างจากที่อื่น ในส่วนของภาคเหนือ ได้เห็นการเจริญเติบโตที่ดีขึ้น มีส่วนของงานคราฟต์เกิดขึ้นเยอะ โดยเฉพาะความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ หรือระหว่างผู้ประกอบการด้วยกันเองที่จะพัฒนางานคราฟต์ให้ดีเป็นที่รู้จักมากขึ้น”
แกลลอรี่
moonler
ที่ตั้ง : 51 หมู่ 1 ต.สำราญราษฎร์ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่
โทรศัพท์ : 096 556 3978
Website : www.moonler.com
Facebook : moonler.furniture
Instagram : moonler.furniture
Email: [email protected]