สาวน้อยช่างฝัน และงานสร้างสรรค์ของเธอ
Have a good day
“อยากให้คนที่ได้ใช้งานของเรามีความสุขในทุกๆ วัน”
ความสดใสเกิดขึ้นทันทีเมื่อเราได้พบกับ ออม – นฤภร ชวาลทัต เจ้าของแบรนด์ ‘นารุ เซรามิก’ ในช่วงสายที่แสงแดดกำลังอบอุ่น ยิ่งเมื่อ
ได้เห็นรอยยิ้มที่ทำให้นึกถึงดอกไม้หลากสีสัน ได้เห็นความจริงใจบวกด้วยสายตาอันมุ่งมั่น ยิ่งเป็นความมหัศจรรย์ที่ยืนยันได้ว่า ศิลปะนั้นทำให้โลกน่าขึ้นอยู่จริงๆ
“นารุ มาจากชื่อ ‘ออม – นฤ’ ค่ะ คงเพราะเป็นคนชอบความเป็นญี่ปุ่นด้วย ก็เลยใช้เป็น ‘นารุ’ – ‘Naru’ ในภาษาญี่ปุ่นที่มีความหมายว่า ‘กลายเป็น’ ส่วน ‘เซรามิก’ ก็คืองานที่เราทำ เมื่อตีความรวมกันก็จะตีความได้ประมาณว่า เราอยากทำเซรามิกที่ดีให้กับทุกคนซึ่งเป็น Concept ของที่นี่ งานเราก็จะ ‘กลายเป็น’ ชิ้นงานที่ดี เป็นความสบายใจให้กับคนอื่น โดยเฉพาะลูกค้า


ความฝันที่เริ่มต้นตั้งแต่วัยเยาว์
ช่วงเรียนปริญญาตรี ออมได้มีโอกาสไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนภาษาที่ญี่ปุ่น 1 ปี และนั่นอาจจะเป็นจุดเริ่มแห่งความฝัน ที่เมื่อรวมกับ
ทักษะฝีมือที่เมื่อกลับมาแล้วได้เรียนต่อในสาขาวิชาการออกแบบจากคณะวิจิตรศิลป์ และสร้างงาน Thesis Project ก่อนจบ ในชื่อชุด
‘บันทึกจากกาน้ำชา’ (Teapot Diary) ที่ตอบโจทย์ทั้งด้านการออกแแบบแนวญี่ปุ่น และฟังก์ชันในการใช้งาน ที่เป็นแรงบันดาลใจในการทำ
เซรามิก อย่างจริงจังในเวลาต่อมา
“งานที่ทำตอนใกล้จบ เป็นเรื่องแบบถ้วยกาน้ำชา เป็นเรื่องราวต่างๆ ต้องคิดไปด้วยว่าลูกค้าอยากได้แบบไหน คำนวณมาแล้วว่าปั้นแล้ว
อันนี้เนี่ยจะต้องขายได้แน่ๆ งานที่ทำตอนนี้ก็เลยขายค่อนข้างง่าย ตอบโจทย์ทั้งคนทำและลูกค้า”
เมื่อเรียนจบ ออมสานต่อความฝันด้วยการทำในสิ่งที่รัก คือการปั้นเซรามิกสไตล์ญี่ปุ่น ที่สามารถใช้งานได้ทั้งตกแต่งบ้าน และในชีวิต
ประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นแก้ว MUG ที่แสนน่ารัก จานรองแก้วเก๋ๆ หรือตุ๊กตาหน้าจิ้มลิ้ม ของฝากที่คนรับต้องยิ้มชื่นใจ และยังมีพระพิฆเนศ
ในรูปแบบใหม่ ที่ตั้งประดับได้แบบไม่จำเป็นต้องขรึมขลัง แต่มีพลังแบบอบอุ่นภายใจ
“ทำมาได้ 3 ปีค่ะ แต่เพิ่งจะได้ลายเส้นที่คงที่เมื่อหนึ่งปีมานี้เอง สองปีที่ผ่านมาก็เหมือนค้นหาลายเส้นของตัวเองอยู่ ตอนนั้นก็จะทำงานทั่วไป คือเป็นพวกที่อยากทำอะไรก็ทำ ชอบอะไรก็จะใส่ลงไปในงาน แต่ตอนนี้จะเป็นอะไรที่ชัดเจนมากขึ้น มีลายเส้นคงที่แล้ว มีความเป็นญี่ปุ่นนิดๆ เห็นแล้วรู้เลยว่าเป็น ‘นารุ’ อย่างก้อนเมฆ สายรุ้ง ประมาณนี้ค่ะ”

สาวน้อยช่างฝัน…กับหญิงสาวผู้นอนหลับตา
“คุณแม่ของออมบอกตลอดว่า ถ้าอยากทำอะไรก็ฝัน
ก็คิดไว้ก่อน ตั้งเป้าไว้ก่อน แล้วมันก็จะค่อยๆ เป็นไปได้เอง”
ออมนิยามตัวเองว่าเป็นสาวช่างฝัน ที่อยากให้ทุกวันเป็นวันแห่งความสุขของทุกคน งานช่วงแรก จะเป็นงานที่ช่วยคลายเครียดให้กับคนที่เผชิญกับสถานการณ์โควิด -19
“จริงๆ ก็เป็นคนช่างฝันระดับหนึ่ง คิดว่าวันนี้อยากทำแบบนี้ แต่เราต้องมีเป้าหมาย คุณแม่ของออมบอกตลอดว่า ถ้าอยากทำอะไรก็ฝัน ก็คิดไว้ก่อน ตั้งเป้าไว้ก่อน แล้วมันก็จะค่อยๆ เป็นไปได้เอง เป็นที่มาของงานสองปีแรกที่อยากทำอะไรก็ทำ ช่วงแรกก็จะชอบทำกระถางต้นไม้ที่มีลายปลาวาฬ ช่วงนั้นก็จะขายดี เพราะมันตรงกับช่วงโควิดและออมก็เพิ่งจบมาพอดี คนติดอยู่บ้านก็ปลูกต้นไม้ไป สั่งต้นไม้ สั่งกระถางไปใส่ต้นไม้ ช่วยให้คลายเครียดด้วย”

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา นารุเพิ่งเปลี่ยนโลโก้จากเดิมที่เป็นเหมือนลายเซ็นต์ของออมสมัยเด็กๆ มาเป็นรูปของหญิงสาวน่ารักๆ ที่นอนหลับตา
“น้องมีชื่อนะคะ ชื่อ ‘ยูเมะ’ (YUME) ที่แปลว่า ‘ฝัน’ คือเธอจะหลับตาฝันไปเรื่อย มีเรื่องราวของดอกไม้ใบไม้ ซึ่งพอเรากลับไปดูลายเส้นที่
เคยวาดช่วงปีหลังๆ ก็จะมีน้องยูเมะมาตลอด ซึ่งลูกค้าก็จะจำได้ เราก็เลยใช้น้องเป็นโลโก้ไปเลย”

เติมความฝันให้สดใส
แม้ว่าจะเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอจนปัจจุบันลงตัวที่น้องยูเมะ แต่งานของออมก็ยังคงความสดใสในทุกชิ้นไม่เคยเปลี่ยน เช่น ดอกไม้
หลากสี หรือดวงดาวที่ส่องสว่างในตอนกลางคืน ใครเห็นก็อดไม่ได้จะต้องหยิบขึ้นมาชื่นชม
“ช่วงนี้จะแบ่งออกเป็น 2 แนวคิด คือ ‘Have a good day’ คือลายดอกไม้ที่เป็นตัวแทนในช่วงกลางวัน และ ‘Have a good night’ ก็จะเป็นพวกดวงดาวต่างๆ ในยามค่ำคืน เน้นสีสันสดใส ออมใช้สีสำหรับงานเซรามิกโดยเฉพาะ เคยใช้สีจากธรรมชาติแล้ว เวลาเผาสีจางหมดเลยค่ะ ส่วนดินก็เป็นดินลำปาง ผสมดินเหนียวเพื่อให้ขึ้นรูปได้ ดินลำปางจะมีสีขาว เวลาลงสีก็จะได้อย่างที่เราต้องการ”
ความสุขของเธอคือได้ทำงานในสิ่งที่รัก ออมทำงานทุกวัน งานปั้นสลับกับการทำเวิร์กช็อปในสตูดิโอที่อยู่ในบริเวณบ้าน บางวันก็ออกไปหาวัตถุดิบพวกดินปั้น หรือสีเซรามิกที่เชียงใหม่บ้าง ลำปางบ้าง
“ส่วนใหญ่จะเป็น Made by Order สั่งเป็นของขวัญวันเกิด วันรับปริญญา สั่งมาแล้วค่อยทำ จะมีพวกเซ็ตถ้วยชามเกี่ยวกับเป็นดอกไม้
ในภาคเหนือ อันนี้ลูกค้าจะชอบมาก เราได้แรงบันดาลใจการทำตัวประทับดอกไม้พวกนี้มาจากตราประทับอักษรจีน ก็เลยดัดแปลงมาทำตราประทับดอกไม้ไทยบ้าง โดยเฉพาะดอกไม้ในบ้านเรา อย่างเช่น ดอกราชพฤกษ์ ดอกพิกุล ดอกแก้ว เอื้องคำ ที่เชียงใหม่ก็จะมี ดอกทองกวาว
ดอกคำฝอย ดอกคำใต้ บางลายต้องลองผิดลองถูก อย่างบางอันอาจจะใหญ่ไป ก็ต้องปรับต้องเปลี่ยนอีก วิธีที่ทำคือเราวาดใน iPad แล้วส่งไปให้ช่างทำเป็นตราประทับที่เป็นดอกไม้ในแบบของเรา”

แม้ขั้นตอนการเตรียมงานจะต้องใช้เวลา เพราะทำอยู่คนเดียว ไล่ตั้งแต่การเตรียมดินที่ต้องผสม กรอง และพักดินไว้เป็นสิบวัน แต่เมื่อเตรียมเสร็จแล้ว ขั้นตอนต่อมา ออมว่าใช้เวลาไม่นานเลย อาจจะเป็นเพราะว่าเธอสนุกในการทำงานทุกชิ้น
“ใช้เวลาทำงานแต่ละชิ้นไม่นานค่ะ อย่างจานหนึ่งวันก็ได้ 10-20 ชิ้น แต่จะนานตรงที่ระยะเวลาเผา เวลาเพนท์งาน 10-14 วัน ถ้าเป็นงานตามสั่ง ซึ่งเราก็จะบอกลูกค้าตลอดว่า ใช้เวลาประมาณนี้นะ ลูกค้าต้องรอ ห้ามรีบค่ะ เราอัพเดทกับลูกค้าบ่อยๆ อย่างเตาเผานี่ก็สั่งทำจากลำปาง เมื่อก่อนใช้เตาเล็ก แต่ตอนนี้ขยายกำลังการผลิตแล้ว คือเวลาเอาเข้าเตาเผาก็ต้องรอรอบด้วย เพราะแต่ละครั้งต้องได้ปริมาณที่เหมาะสม”

ส่งต่อความสุข ให้คนที่มีฝันเหมือนกัน
Naru Studio มีการจัดเวิร์กช็อปทุกเดือน ส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยววัยรุ่นหรือคนในเชียงใหม่ที่บอกกันปากต่อปาก ซึ่งได้ผลตอบรับดี
เกินคาด เพราะเป็นเหมือนการบำบัดความเครียด และเป็นการใช้เวลาว่างที่มีความสุขไม่น้อย
“แรกๆ จะเป็นคนในเชียงใหม่ ในเมืองบ้าง วัยรุ่นมาทำของขวัญให้เพื่อนบ้าง คุณหมอ พยาบาล แล้วก็คนที่ทำงานเกี่ยวกับตัวเลขก็มากันเยอะนะคะ คิดว่าน่าจะเป็นกิจกรรมคลายเครียดได้ดี ช่วงหลังจะเป็นคนกรุงเทพฯ มากันมากขึ้น อาจจะมีการบอกต่อๆ กันมา ตามมาจากไอจีบ้าง หน้าเพจบ้าง เวลามาเที่ยวสันกำแพง เส้นนี้สามารถไปน้ำพุร้อนได้ ก็จะแวะมาก่อนไปเที่ยว ออมจะสอนแบบปั้นมือ คือถ้าอยากทำ แก้ว จาน ชาม กระถาง สามารถเตรียมแบบมาได้เลย เรามีดินให้หนึ่งกิโล จะทำได้กี่ชิ้นได้ภายในสามชั่วโมง ทำงานเสร็จ ก็ฝากเผาแล้วรออีก
10-14 วัน จะมารับเองหรือให้เราส่งให้ก็ได้”

ความฝัน ที่ไม่เคยหยุดฝัน
อีกไม่นานสตูดิโอเล็กๆ ของออม จะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวัฒนธรรมของสันกำแพง ที่เริ่มก่อร่างสร้างรูปด้วยคนรุ่นใหม่ ควบคู่ไปกับภูมิปัญญาดั้งเดิม ดัดแปลงเพื่อให้ร่วมสมัยมากขึ้นโดยสืบทอดองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่น เพราะวัฒนธรรมนั้นไม่เคยหยุดนิ่ง ต้องมีพลวัต
มีความเคลื่อนไหว
“ในอนาคต ชุมชนสันกำแพง จะเริ่มทำเป็นโซนวัฒนธรรม เริ่มติดต่อกันมาจะทำกรุ๊ปทัวร์ หรือจะมีกลุ่มนักเรียนที่สนใจมาเรียนรู้ ซึ่งเรา
ก็ยินดีสอนและถ่ายทอดให้เป็นประโยชน์สำหรับเยาวชน ส่วนในเรื่องของแบรนด์ตอนนี้ อยากให้ค่อยๆ เติบโตไปเรื่อยๆ ไม่ต้องรีบร้อน
มีความมั่นคง และที่สำคัญคืออยากให้คนใช้ได้สินค้าของนารุมีความสุขในทุกวันค่ะ”
แกลลอรี่
Naru Ceramic
ที่ตั้ง : 2 หมู่ 4 ตำบลสันกำแพง อำเภอสันกำแพง เชียงใหม่ 50130
โทรศัพท์ : 083 566 1157
Facebook : Naru Ceramic
Instagram: naruceramic
Email: [email protected]