ต่อยอดธุรกิจครอบครัว สู่สารพัดงานสานจากวัสดุธรรมชาติสไตล์แฮนด์เมด
Wicker Thailand คือแบรนด์กระเป๋าสานและของแต่งบ้าน งานทำมือฝีมือคนไทยที่ใช้วัสดุจากธรรมชาติของ ส้ม – พิสุทธินี สงวนรักษ์ ทายาทธุรกิจเก่าแก่ในบ้านถวาย จังหวัดเชียงใหม่ แตกแบรนด์ออกมาคิดเอง ทำเอง ภายใต้แนวคิดที่มีความเป็นสากล


แตกยอดและเติบโต
“Wicker Thailand เป็นแบรนด์ที่ต่อยอดมาจากธุรกิจของครอบครัว เดิมคุณพ่อคุณแม่ทำเฟอร์นิเจอร์ไม้ เฟอร์นิเจอร์ที่ผสมงานสาน
มีตะกร้า กระเช้า งานหวาย ผลิตและขายส่งในบ้านถวายเป็นหลัก เราโตมากับงานทำมือ ด้วยความเคยชินและเห็นอยู่บ่อย จึงไม่มีความสนใจ
เกี่ยวกับของพวกนั้นเลย แต่พอมีโอกาสได้ไปต่างประเทศ ได้เห็นงานของเขาซึ่งให้ความสำคัญกับงานแฮนด์เมดมาก ทำให้รู้สึกถึงคุณค่าของมัน รู้สึกว่าเราควรสืบสานความเป็นวัฒนธรรมนั้นต่อไป และอยากจะแนะนำของๆ เราให้ต่างชาติได้รู้จักมากขึ้น”
Wicker Thailand เป็นชื่อที่เข้าใจง่าย Wicker แปลว่า ‘หวาย’ หรือ ‘จักสาน’ ก็ได้ รวมกันแล้วหมายถึงงานจักสานของประเทศไทย เพื่อสื่อให้
กลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่เป็นชาวต่างชาติเข้าใจได้ทันที
“ด้วยความเป็นเด็กผู้หญิง เล่นตะกร้ามาตลอด เราชอบแต่งตัว จึงเริ่มสินค้าจากกระเป๋าสาน พัฒนาให้มีรูปแบบที่เข้าสมัยมากขึ้น พอทำ Wicker Thailand ได้ประมาณ 3 ปี ธุรกิจของที่บ้านก็เริ่มเปลี่ยนมาเป็น Wicker Thailand ทีละเล็กละน้อยจนตอนนี้ย่างเข้าปีที่ 7 แล้ว”


เรื่องเล่าบนเส้นสาน
สินค้าหลักของ Wicker Thailand เป็นกระเป๋าสาน มีหลายแบบ หลายทรง หลายขนาด มีให้เลือกหลากหลายวัสดุ ได้แก่ กระจูด ผักตบชวา เชือกกล้วย และหวาย ซึ่งต่างกันด้วยสีสันและคุณสมบัติ ส้มบอกว่า กระจูดจะขึ้นได้ดีในภาคใต้ ผักตบชวามีมากในภาคกลางและภาคเหนือ
เชือกกล้วยพบมากในภาคตะวันออกและภาคกลาง ลักษณะของส่วนที่นำมาสานต่างกันด้วยรูปทรง เช่น ผักตบชวาจะมีความมน ในขณะที่กระจูดจะมีความแบน ส่วนของแต่งบ้านจะเป็นงานหวาย โคมไฟ ตะกร้าใส่กระถางต้นไม้ ถังขยะ แผ่นรองจาน ฯลฯ เมื่อถามถึงความทนทานและอายุการใช้งาน ส้มบอกว่าขึ้นอยู่กับการใช้งานและการเก็บรักษา
“ส้มเริ่มจากไปหาแหล่งผลิตเอง และมีบ้างที่ติดต่อกันมาตั้งแต่สมัยคุณพ่อคุณแม่ ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคเหนือ อย่าง เชียงใหม่ พะเยา และ
มีภาคใต้ด้วย ชุมชนที่ไปเจอเขาเป็นกลุ่มชาวบ้านที่ทำกันอยู่แล้ว เราเข้าไปพูดคุยช่วยกันพัฒนา เพิ่มความคิดของเราเข้าไป เราเหมือนเข้าไปเอาสิ่งที่ดีอยู่แล้วมาทำให้ดีขึ้นไปอีก เช่น การพัฒนาเรื่องการเก็บรักษา ทำตู้อบความร้อนขึ้นมา จากเดิมที่อาศัยการตากแดดเป็นหลัก ด้วยความที่เป็นวัสดุที่มาจากธรรมชาติ ถ้าร้อนไปหรือแดดแรงก็จะกรอบได้ แต่ถ้าอยู่กับเราก็จะเอาเข้าตู้อบไล่ความชื้น เราจะแนะนำลูกค้าว่าให้นำไปตากแดดบ้าง และพยายามอย่าให้อยู่ในที่ชื้น ก็จะสามารถยืดอายุการใช้งานไปได้นานถึง 10-20 ปีเลยทีเดียว”


ส้มเล่าถึงขั้นตอนการผลิตว่า ชาวบ้านจะนำพืชที่ตัดแล้วไปตากให้แห้ง แล้วนำมาสู่กระบวนการเตรียมเส้นสาน เช่นการทำให้แบน หรือ
การฉีก เมื่อสานเสร็จแล้วจะนำไปตากให้แห้งอีกครั้งก่อนลงน้ำยากันเชื้อรา จากนั้นนำมาตกแต่งในขั้นตอนสุดท้าย สมัยก่อนการทำให้แห้ง
คือการตากแดด แต่สมัยนี้ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ทำเป็นตู้อบความร้อน งานเสร็จเร็วขึ้นเพราะร่นระยะเวลาในการทำงาน โดยเฉพาะในฤดูฝนหรือภายใต้สภาพอากาศที่ไม่อาจคาดเดาได้ รวมกระบวนการทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์
“เดิมทีร้านเราอยู่ที่บ้านถวาย ลูกค้าส่วนใหญ่จะเน้นขายส่ง ส่งออกทีละมากๆ มีทั้งที่เป็นงานดั้งเดิมจากชาวบ้าน งานสั่งทำตามออร์เดอร์ และงานที่เราเอามาตกแต่งเพิ่มเอง ส่วนในปัจจุบันมีการเพิ่มเติมสีสันเข้าไป โดยมากจะตกแต่งด้วยพู่ที่ทำเอง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของ Wicker Thailand พู่ทำมาจากเส้นฝ้ายย้อมสีเพื่อเพิ่มความสดใสให้กับชิ้นงาน รวมถึงการปักด้วยหญ้าราเฟีย”


ปรับเปลี่ยน...เพื่อเติบโต
ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด – 19 มีผลกระทบอย่างมากกับ Wicker Thailand ส้มเล่าว่า ร้านที่บ้านถวายต้องปิดตัวไป
ตอนนี้จึงมีเพียงสาขาเดียวในพื้นที่สร้างสรรค์เวิ้งฉำฉาย่านสันกำแพง ช่วงก่อนโควิดร้านที่บ้านถวายจะเป็นแหล่งขายส่ง ส่วนใหญ่ส่งไปยุโรป
และอเมริกา ส่วนการขายปลีก มีการออกร้านตลาดงานคราฟต์บ้าง และมีขายในออนไลน์บ้าง ลูกค้าต่างประเทศโดยมากติดต่อมาทางออนไลน์
บนเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และ Market Place งานฝีมือ เช่น etsy และ pinkoi ปัจจุบันเน้นขายบนออนไลน์เป็นหลัก มีประสบปัญหาบ้างสำหรับลูกค้าต่างประเทศ เพราะค่าขนส่งขึ้นราคาจากอัตราน้ำมันโลก ตอนนี้สัดส่วนลูกค้าต่างชาติคิดเป็น 70% และอีก 30% เป็นคนไทย
“โควิดกระทบกันทั่วโลก พ่อค้าหรือลูกค้าที่เป็นผู้ค้าส่งขายไม่ได้ เพราะทุกที่ปิดทำการหมด เขาขายไม่ได้ เราก็เดือดร้อนตามไปด้วย จึงหันมาเน้นตลาดคนไทยมากขึ้น พอมีเวลามากขึ้นเนื่องจากออร์เดอร์ลดลง ก็มุ่งทำการตลาดออนไลน์เป็นหลัก ทำโฆษณามากขึ้น ส่วนหน้าร้านตอนนี้ คนมาเดินเที่ยวบ้าง เมื่อก่อนจะมีคนจีน ญี่ปุ่น เกาหลีมาซื้อ แต่ตอนนี้หายไปเยอะเพราะประเทศยังไม่เปิด”
สินค้าของ Wicker Thailand ยังคงพัฒนาต่อไป ส้มบอกว่ากำลังวางแผนทำสินค้าที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติอื่นๆ เพิ่มเติม อาทิ วัสดุจาก
ต้นกล้วย ต้นกก แต่ยังคงเป็นงานสานตามชื่อแบรนด์ และเพิ่มของแต่งบ้านให้มากขึ้น โดยจะยังคงเน้นทำการตลาดออนไลน์ให้มากขึ้นไปอีก

เสน่ห์แห่งคราฟต์
“การเป็นงานแฮนด์เมด ความยากอยู่ที่ฝีมือ ไม่ใช่ทุกคนจะสานได้ และไม่ใช่ทุกคนที่จะสานได้สวย
และแม้ว่าจะเป็นคนเดียวกันสาน ก็ยังมีความแตกต่างในรายละเอียด
เพราะฉะนั้นคนที่ซื้อไป คุณก็จะได้ความยูนีคในแต่ละใบไปด้วย”
“งานคราฟต์ คืองานแฮนด์เมด งานแฮนด์เมดก็คือคนทำ แม้ว่าจะมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเยอะขึ้น เสน่ห์งานคราฟต์คือแต่ละชิ้นจะ
ไม่เหมือนกัน ทำอย่างไรก็ไม่เหมือนกัน มันมีความยูนีคอยู่ แต่ถ้าเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำก็จะเหมือนกันหมด มันไม่มีเสน่ห์ ที่เราใช้ชื่อว่า Wicker Thailand อีกเหตุผลหนึ่งคือ เราไม่ได้ใช้ของนำเข้าจากต่างประเทศมาทำเลย เราสนับสนุนของไทย ทำจากฝีมือคนไทยเท่านั้น”
แกลลอรี่
Wicker Thailand
ที่ตั้ง : เวิ้งฉำฉา อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่
เวลาทำการ : วันพฤหัส-ศุกร์ 11.00-16.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์ 09.00-16.00 น.
Website : www.wickerthailand.com
Facebook : wickerthailand
Instagram: wicker.thailand
Email: [email protected]