sa'lahmade

เดอ คัวร์ คราฟท์ติ้ง คอมมูนิตี้

      คุณยุจเรศ สุมนา เป็นอีกผู้หนึ่งที่หลงใหลในงานหัตถกรรม โดยเฉพาะงานหัตถกรรมที่เชื่อมโยงกับ ศิลปะ วัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่น ความรักในงานหัตถกรรมเกิดจากการเลี้ยงดูและวิถีชีวิตของครอบครัวที่หล่อหลอมเธอมาตั้งแต่เด็ก อีกทั้งการเติบโตในเชียงใหม่เมืองที่เต็มไปด้วยต้นทุนทางวัฒนธรรม เป็นแรงผลักดันให้เลือกเรียนในสายวิชาที่เกี่ยวข้องกับความสนใจที่เธอมี นั่นก็คือ ภาควิชาศิลปะไทยและวัฒนธรรมสร้างสรรค์ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

      เมื่อเรียนจบได้ทำงานที่เกี่ยวข้องกับผู้ผลิตงานหัตถกรรมในหลากหลายกลุ่ม แต่ที่สนใจมากที่สุดคือกลุ่มชุมชนที่ห่างไกล ในขณะที่มองเห็นความสามารถของช่างฝีมือที่หลากหลาย แต่ก็พบว่าสินค้าหัตถกรรมที่วางขายกลับไม่ได้ราคา คุณยุจเรศมองเห็นว่ามีศักยภาพที่จะพัฒนาได้มากกว่านั้น หากได้เติมเต็มในเรื่องของการออกแบบ และการนำเสนอหรือสื่อสารการผลิตที่ให้เห็นถึงทั้ง “คุณค่าและมูลค่า” เราพูดกันมากถึงเรื่อง Story Telling หรือการบอกเล่าเรื่องราว แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำเรื่องนี้ได้เพราะมีปัจจัยหลายๆ อย่างมาเกี่ยวข้อง  นั่นจึงจุดประกายความคิดให้คุณยุจเรศอยากทำงานหัตถกรรมที่มีการเล่าเรื่อง ในขณะที่ชุมชนเก่งและถนัดเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่วนเราถนัดเรื่องดีไซน์ การตลาด และมีเครื่องมือหรือเทคโนโลยี ที่จะนำมาสร้างสรรค์การเล่าเรื่อง จึงน่าจะเป็นการร่วมกันที่ลงตัว

      เมื่อคิดว่าการเดินทางเป็นกลุ่มก้อนย่อมดีกว่าการเดินทางคนเดียว ในปี 2559  จึงได้เริ่มต้นทำสินค้าแบรนด์  คราฟท์เดอคัวร์(Craft de Quarr) เป็นการเลือกคำพ้องเสียงคำว่า “คัว” ซึ่งในภาษาเหนือหมายถึงข้าวของเครื่องใช้ เพราะงานหัตถกรรมส่วนใหญ่คือข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันที่มีอยู่รอบตัวเรา คราฟท์เดอคัวร์จึงเป็นจุดเริ่มต้นอะไรหลายๆ อย่าง ทั้งการทำงานกับชุมชน การสร้างเครือข่าย การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างรายได้ที่เป็นธรรม สร้างภาพลักษณ์งานหัตถกรรมใหม่ มีการออกแบบที่ร่วมสมัยขึ้น มีฟังก์ชั่นการใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคในปัจจุบัน  

      การทำงานในช่วงแรกๆ ก็มีความยากบ้าง ต้องใช้ทั้งแรงกายและแรงใจในการทำงาน โดยเฉพาะในเรื่องของ “ใจ” ที่เราต้องเข้าใจและเคารพชุมชนในความเป็นเจ้าของภูมิปัญญา เมื่อทำงานด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกัน เมื่อมองเห็นเป้าหมายเดียวกันการทำงานจึงทั้งสนุกและท้าทาย ในช่วงเริ่มต้นได้ร่วมกันพัฒนาสินค้ากับเครือข่าย 20 ชุมชน  และเปิดโชว์รูมในย่านประตูท่าแพเพราะเป้าหมายคืออยากจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยว ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่เป็นงานผ้าทอเพราะเป็นภูมิปัญญาที่มีอยู่และผูกพันกับวิถีชีวิตในทุกๆ ชุมชนอยู่แล้ว มีทั้งผ้าทอ ผ้าพันคอ เสื้อ มีการนำมาแปรรูปเป็นกระเป๋า ของใช้ ของแต่งบ้าน ที่ร่วมสมัย

      คุณยุจเรศบอกว่า เราเน้นทำการตลาดและการสื่อสารที่มีเรื่องราวหรือ Story Telling  เมื่อเรื่องราวได้เผยแพร่ออกไป เหมือนเราได้เป็นส่วนที่เชื่อมโยง ให้ภาครัฐและเอกชน เข้าถึงข้อมูลชุมชนเหล่านี้ มีหน่วยงานที่ต้องการทำเรื่องกิจกรรมเพื่อสังคม(Corporate Social Responsibility) และมองเห็นถึงการพัฒนาอย่างยืนเพื่อชุมชนเช่นเดียวกับเรา จึงมีหลายโครงการเข้ามา ส่งเสริมและสนับสนุนในส่วนขบวนการพัฒนาบ้าง สั่งทำสินค้าของที่ระลึกบ้าง ช่วงก่อนโรคระบาดจาก การทำงานร่วมกับ 20 ชุมชน ขยายเป็น 120 ชุมชน อย่างรวดเร็ว ในส่วนการตลาดก็ยังคงพัฒนาต่อยอด จากฐานเดิมอย่างต่อเนื่อง มีทั้งให้ชุมชนขายเอง นำมาขายที่โชว์รูม นำไปออกงานแสดงสินค้า บางพื้นที่ ที่มีศักยภาพเพียงพอก็มีการนำเรื่องของหัตถกรรม วัฒนธรรม นำไปสู่การขับเคลื่อนการท่องเที่ยวในพื้นที่ ตัวอย่างพื้นที่ที่ประสบผลสำเร็จและมีผู้คนเริ่มรู้จัก พื้นที่มากขึ้น เช่น ชุมชนผาหมี จังหวัดเชียงราย, ชุมชนไร่กองขิง อำเภอหางดง, บ้านแม่ต่อม  อำเภออมก๋อย เป็นต้น 

      หลักการสำคัญในการทำงานคือการพัฒนาจะต้องอยู่บนพื้นฐานของภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของแต่ละชุมชน นำเสนอความเป็นตัวตนของแต่ละชาติพันธุ์อย่างชัดเจน นั่นทำให้  Craft De Quarr ประสบผลสำเร็จจนเกิดเป็น De Quarr Crafting Community ที่ปัจจุบันมีโอกาสได้ทำงานกับชุมชนมากกว่า 230 ชุมชนทั่วประเทศ  การทำงานตั้งเป้าหมายผลประโยชน์ทางตรงคือให้ชุมชนมีรายได้ ค้าขายเป็น ส่วนผลประโยชน์ทางอ้อม คือการสื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้ที่ถูกต้อง ทั้งสื่อสารกับคนภายนอก และกับผู้คนในชุมชนเองให้เห็นถึงคุณค่าของภูมิปัญญาและสิ่งต่างๆ ที่เขามี เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสืบทอด สืบสาน และส่งต่อวิชาที่ไม่มีอยู่ในตำราในโรงเรียน ไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลานต่อๆ ไปในอนาคต ให้ลูกหลานได้เห็นว่าหัตถกรรมก็ทำธุรกิจได้ สร้างรายได้ได้ ขณะเดียวกันก็มีการส่งเสริมงานหัตถกรรม บางอย่างที่ใช้ประกอบในพิธีกรรม ประเพณี วัฒนธรรม ต่างๆ  ให้คงอยู่คู่กันไป ซึ่งสิ่งนี้ก็มีความสำคัญ ไม่น้อย เพราะเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงจิตใจ และความศรัทธาของผู้คน 

      คุณยุจเรศกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “เราไม่ได้แค่ให้โอกาสแก่คนที่มีโอกาสน้อยกว่าเรา แต่คนที่อยู่ห่างไกลเขาก็ทำหน้าที่ดูแลต้นน้ำ ป่าไม้ให้เรา เราเชื่อว่าสิ่งที่เราทำเป็นการต่างตอบแทน ซึ่งกันและกัน เมื่อเขามีรายได้เพิ่มขึ้น ความเป็นอยู่ดีขึ้น เขาก็อยู่ในพื้นที่อย่างมีความสุข ลดปัญหา การทิ้งถิ่นฐานเข้ามาหางานทำในเมือง ให้คนรุ่นใหม่ได้สืบทอด สานต่อภูมิปัญญาที่มีคุณค่า ของเขาต่อไป” 

แกลลอรี่

เดอ คัวร์ คราฟท์ติ้ง คอมมูนิตี้  

ที่ตั้ง : 33 ถนนมูลเมือง ต.ศรีภูมิ  อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200

โทรศัพท์ : 065 4146925

Website :  www.dequarr.com

Facebook : De Quarr-Crafting Community

Shop : @craftdequarr