คุณค่าแห่งศิลาดล ความงามที่ไร้กาลเวลา
ศิลปะการผลิตเครื่องเคลือบสังคโลกหรือ ‘ศิลาดล’ มีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีนเมื่อประมาณ 2,000 ปีก่อน มีการถ่ายทอดต่อมายังอาณาจักรสุโขทัยและดินแดนล้านนา ที่ในเวลานั้นเป็นยุครุ่งเรืองที่มีการติดต่อค้าขายกับอาณาจักรอื่นๆ เป็นอันมาก โดยแหล่งผลิตสำคัญ
อยู่ที่อำเภอสวรรคโลก สุโขทัย ซึ่งมีหลักฐานการทำเครื่องปั้นดินเผา และพบเตาเผาโบราณอายุยาวนานกว่า 500 ปี ปรากฏเป็นหลักฐานชัดเจน ส่วนในแผ่นดินล้านนา ว่ากันว่า สันกำแพง คือแหล่งผลิตและส่งออกไปขายยังต่างแดน
เมื่อเวลาเปลี่ยนไป จีนได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตเครื่องปั้นดินเผาให้เป็นระบบอุตสาหกรรมจนขนาดเสน่ห์แบบเก่าๆ ไป อย่างไรก็ตามเมื่อมาถึงยุคปัจจุบัน งานเครื่องปั้นดินเผาที่ผลิตด้วยกรรมวิธีดั้งเดิมหรือใช้การปั้นด้วยมือ ได้กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง ทั้งเรื่องของความสวยงามและความทนทานที่มากกว่า โดย คุณปอนด์ – อนุสิทธิ์ มานิตยกุล ผู้จัดการการตลาดต่างประเทศ ได้เปิดบทสนทนา เล่าถึงความเป็นมาของสยามศิลาดลให้ฟัง
“สมัยนี้ที่จีนเค้าไม่ทำแล้ว มันเป็นอุตสาหกรรมไปหมด แต่ของเรายังคงเป็นงานหัตถกรรมอยู่ ตอนนี้จีนเองก็กลับมาซื้อของบ้านเราเพราะ
เห็นคุณค่างานฝีมือ สยามศิลาดลเองก็ทำมาตั้ง 40 กว่าปีแล้ว เราก็อยากที่จะรักษาภูมิปัญญาดั้งเดิมเอาไว้ เพราะผมเองก็เห็นงานพวกนี้มาตั้งแต่เด็กๆ อย่าง ถ้วย ชาม พวกนี้ แรกๆ ก็รู้สึกว่ามันมีน้ำหนัก แต่พอใช้ไปนานๆ ก็รู้สึกว่า มันทนทานดี”
คุณปอนด์มีความผูกพันกับงานเซรามิกมาตั้งแต่ยังเด็ก แม้จะเรียนจบทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และทำงานตามที่ได้เรียนมาสักระยะหนึ่ง แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจกลับมาช่วยพัฒนากิจการที่ตัวเองคุ้นเคย

“ผมดูแลทางด้านการตลาดต่างประเทศครับ มาช่วยดูแลสยามศิลาดลมาได้เกือบ 10 ปีแล้ว บริษัทตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1976 โดยคุณนิตย์และ
คุณเพ็ญพรรณ วังวิวัฒน์ ทั้งสองท่านเล็งเห็นว่าสันกำแพงเป็นถนนอุตสาหกรรมและหัตถกรรม มีช่างฝีมือมากมาย เมื่อก่อนก็จะมีร้านรวงเล็กๆ
เต็มไปหมด มีทั้งงานผ้าไหม งานร่ม มีงานฝีมืออย่างพวกงานไม้ ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นของสยามศิลาดล ซึ่งใช้ช่างในพื้นที่เพราะมีชื่อในเรื่องของงานฝีมือ ที่ทำงานสืบทอดกันมาหลายร้อยปี ส่วนวัตถุดิบที่ใช้ของจังหวัดเชียงใหม่ก็ต้องเป็นดินดำในท้องนา เพราะจะมีแร่เหล็กสูงที่เมื่อเผาแล้วจะให้สีเขียว แล้วเราก็ใช้น้ำเคลือบธรรมชาติที่ได้มาจากขี้เถ้าไม้”


สืบทอดผลงานด้วยภูมิปัญญาดั้งเดิม
ความหมายของ ‘ศิลาดล’ คือ เครื่องเคลือบดินเผาสีเขียวแตกลายงา โดยอาศัยน้ำเคลือบที่ทำมาจากขี้เถ้าไม้ ผ่านการเผาด้วยความร้อนสูง ถึง 1,260-1,300 องศาเซลเซียส เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญและมีคุณค่าของจังหวัดเชียงใหม่ เพราะงานแต่ละชิ้นต้องการความประณีตและ
ความพิถีพิถัน คือถ้าไม่ใช่สีเขียวหรือไม่แตกลายงาก็จะไม่ใช่ศิลาดล และถ้าเป็นสีอื่นจะเรียกว่าเป็นเครื่องเคลือบดินเผาธรรมดา
ส่วนขี้เถ้าไม้ที่ใช้เป็นเคลือบ ได้มาจากขี้เถ้าไม้ฮกฟ้าเป็นไม้ที่อยู่ในชุมชน แต่ภายหลังถูกจัดให้เป็นไม้อนุรักษ์ จึงต้องเปลี่ยนมาใช้ขี้เถ้าไม้
ที่เหลือจากการเกษตรหรือในครัวเรือนของชาวบ้านในชุมชนสันกำแพง โดยการใช้น้ำหมักขี้เถ้ามาทำน้ำเคลือบ จะต้องเช็คความเป็น กรด ด่าง ความถ่วงจำเพาะอย่างละเอียด ซึ่งกรรมวิธีเหล่านี้ คือภูมิปัญญาที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน เป็นกระบวนการจากธรรมชาติแบบดั้งเดิม โดยสันกำแพงยังคงเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication : GI) ของจังหวัดเชียงใหม่ เพราะมีการใช้แหล่งดินดำ ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญนำมาใช้ในการผลิต
“จะเห็นได้ว่าเครื่องปั้นดินเผาของเชียงใหม่กับลำปาง จะมีลักษณะที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะเชียงใหม่เป็นแหล่งดินดำ แต่ดินของลำปางเป็นดินขาวและไม่สามารถนำมาผลิตศิลาดลได้ เราใช้ดินจากแม่แตงที่มีธาตุเหล็ก พอเวลาเอามาเผาในเตาแล้ว จะเกิดกระบวนการ Reduction ที่ทำให้เกิดสีเขียว เป็นวิทยาศาสตร์ที่นำมาผสานกับความเป็นศิลปะ”

ร่วมสมัยแบบศิลาดล ที่แตกต่างอย่างโดดเด่น
คุณปอนด์ได้เข้ามาช่วยบริหารงานของสยามศิลาดล และช่วยปรับทิศทางการผลิตให้มีความร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น ล่าสุดได้ทำงานร่วมกับ
นักออกแบบ คุณพิบูลย์ อมรจิรพร จาก ‘Plural Designs’ จัดทำผลิตภัณฑ์ที่ทำให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจงานของศิลาดลมากขึ้น โดยได้จัดแสดงในเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ (Chiangmai Design Week 2019) ชิ้นงานมีทั้งหมด 2 ชุด ชิ้นแรก คือ ‘Bamboo Wall’ หรือกำแพงไม้ไผ่
ใช้สำหรับตกแต่งอาคารเลียนแบบธรรมชาติ โดยทำรูปทรงให้เหมือนลำต้นไม้ไผ่ เคลือบด้วยน้ำเคลือบศิลาดล มีการเล่นเฉดไล่โทนสีเขียวอ่อน
ไปจนเข้มเหมือนธรรมชาติของไม้ไผ่


ส่วนอีกหนึ่งชิ้นเป็น ชุดน้ำชาชื่อ ‘Double Wall’ ประกอบด้วยกาน้ำชาและแก้วสองชั้น มีรูปทรงร่วมสมัยพร้อมฟังก์ชันการใช้งานที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ โดยได้รับแรงบันดาลใจจากภาชนะบรรจุข้าว (กระติ๊บ) ที่สานด้วยไม้ไผ่สองชั้นเพื่อเก็บอุณหภูมิข้าวไว้ภายใน ด้วยเทคนิค Air Tea Cup ที่มีการออกแบบให้เกิดช่องอากาศระหว่างผิวสองชั้นของภาชนะ ทำให้สามารถจับแก้วได้สบาย ไม่ร้อนมือ และช่วยเก็บอุณหภูมิให้ชาคงความร้อนได้นานขึ้น จนได้รับรางวัลการออกแบบยอดเยี่ยมจาก DEmark Award 2020


“เรามีโอกาสได้ทำงานกับนักออกแบบรุ่นใหม่ ก็จะได้สินค้าที่มีความร่วมสมัยมากขึ้น แต่เราก็ยังคงใช้ภูมิปัญญาและวิธีการผลิตแบบเดิมที่มีมาตั้งแต่สมัยล้านนา อย่างอันนี้ที่ผมภูมิใจนำเสนอ เป็นกระติกน้ำที่ด้านบนเป็นที่กรองชาไปในตัว เราสามารถกรองผงชาแล้วก็รินใส่แก้ว ทำเป็นสองชั้น เวลาจับก็จะไม่ร้อนมือ อันนี้ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากไม้ไผ่ ซึ่งมีสีเขียวเช่นเดียวกันกับความเป็นศิลาดลของเรา”

มรดกภูมิปัญญาที่อยากฝากไว้ในอนาคต
“เราก็ยังคงรักษารากเหง้าทางภูมิปัญญาในการทำศิลาดลเอาไว้ แม้รูปแบบอาจจะแตกต่างไปบ้างก็ตาม”
ช่วงแรกงานของศิลาดล มักทำเป็นลวดลายพื้นถิ่น เช่น ดอกไม้ ต้นไม้ ดอกบัว ลายช้าง มีรูปแบบล้านนาคลาสสิก ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของ
สยามศิลาดลที่ลูกค้าจดจำได้ และมีกลุ่มลูกค้าที่ต้องการ แต่ช่วงหลังๆ ได้มีการปรับรูปแบบสินค้าให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่
ที่มีขนาดครอบครัวเล็กลง และสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ เช่น เซ็ตจานชามดินเนอร์ ที่ปรับขนาดของจานให้ใช้ได้ง่ายขึ้น โดยมีตั้งแต่จานใบใหญ่ จานใบเล็ก ไล่เรียงตามขนาด ซึ่งคุณปอนด์บอกว่าก็ต้องค่อยๆ เรียนรู้ต่อไป
“อนาคตข้างหน้าคือสิ่งที่สำคัญที่สุด เราก็ยังคงรักษารากเหง้าทางภูมิปัญญาในการทำศิลาดลเอาไว้ แม้รูปแบบอาจจะแตกต่างไปบ้างก็ตาม สิ่งที่เราฝันคือ อยากให้คนรุ่นหลังรู้จักศิลาดล และรู้จักเชียงใหม่ว่าเป็นเมืองหัตถกรรม เป็นเมืองศิลปะ ทุกวันนี้ชื่อเสียงของถนนสันกำแพงเริ่มหายไป หางดงคนไม่ค่อยรู้จัก แต่ผมที่โตมาทันงานหัตกรรมพวกนี้ ก็อยากเก็บรักษาชื่อเสียงในมุมนี้ไว้ เพื่อไม่ให้เอกลักษณ์ของเชียงใหม่หายไป ผมว่าเราต้องให้ข้อมูลกับคนรุ่นหลัง เชื่อว่าถ้าพวกเขาทราบความสำคัญและความเป็นมา ก็จะช่วยกันอนุรักษ์ ช่วยกันดูแลรักษามันเอาไว้ เพราะเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษจริงๆ”
นอกจากจะมีโชว์รูมที่อยู่สันกำแพง สยามศิลาดลยังมีสถานที่จำหน่ายงานในเขตตัวเมืองเชียงใหม่ที่ ‘ระมิงค์ทีเฮ้าส์ สยามศิลาดล’ ซึ่งเคยเป็นบ้านของคหบดีชาวจีนในอดีต ปัจจุบันมีอายุร้อยกว่าปีและได้รับการปรับปรุงใหม่ กลายเป็นร้านขายเครื่องถ้วยเซรามิก ที่มีพื้นที่ด้านหลังเป็น Tea House สุดสวยในบรรยากาศคลาสสิก พร้อมมีบริการเครื่องดื่ม ขนม และอาหารจานเดียว ซึ่งแน่นอนว่าเสิร์ฟด้วยด้วยภาชนะสวยๆ จากสยามศิลาดล
แกลลอรี่
Siam Celadon (สยามศิลาดล)
ที่ตั้ง : 38 หมู่ที่ 10 ต.ต้นเปา อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ 50130
เวลาทำการ : เปิดบริการทุกวัน เวลา : 08.30 – 17.00 น.
โทรศัพท์ : 053 331526
Facebook : Siam Celadon Pottery
Email: [email protected]