sa'lahmade

อุ๊ก

        แบรนด์ “อุ๊ก” ก่อตั้งในปี 2560 โดยคุณวิไล ไพจิตรกาญจนกุล  โดยมีที่มาของแบรนด์เกิดจากธรรมชาติในช่วงฤดูฝน ที่ฝนตกและมีใบไม้ร่วงบนพื้นจนเก็บกวาดไม่ทัน คุณวิไลสังเกตเห็นว่าใบไม้บางชิ้นได้เน่าเปื่อยจนสีของมันติดแน่นบนพื้นซีเมนต์และล้างไม่ออก จึงเกิดคำถามกับตัวเองว่าสีจากใบไม้ติดพื้นซีเมนต์ได้ก็น่าจะติดบนผืนผ้าได้ด้วยเช่นกัน จากพื้นฐานความเป็นครูที่เรียนจบด้านศึกษาศาสตร์มา เมื่อมีคำถามแล้วต้องหาคำตอบให้ได้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่การทดลอง คุณวิไลนึกถึงเรื่องราวของใบเมี่ยงหรือใบชาหมักที่คุณยายใช้เคี้ยว มีคำพูดของคุณยายที่เคยบอกว่าสีของใบเมี่ยงถ้าตกโดนเสื้อผ้าแล้วจะติดแน่นและซักยาก คุณวิไลนึกถึงหลักการนี้จึงเริ่มต้นด้วยการหาความรู้เรื่องการหมักใบเมี่ยง  ซึ่งเป็นภูมิปัญญาการถนอมอาหารแบบดั้งเดิมของชาวเหนือ มาบวกกับภูมิปัญญาด้านการย้อมสีธรรมชาติ ด้วยการทดลองหมักหรือภาษาเหนือเรียก “อุ๊ก”  เพื่อดึงสีจากใบไม้ให้เกิดลวดลายบนผืนผ้า

       คุณวิไลได้ใช้ใบไม้หลายชนิดมาทดลอง และค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมพบว่ากระบวนการแบบนี้ในต่างประเทศเรียกว่า Eco Print ซึ่งแต่ละที่ก็จะมีขบวนการในการผลิตที่แตกต่างกันไป แต่สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ “อุ๊ก” คือการใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านและดีไซน์ที่แตกต่าง ไม่ใช่เพียงรูปทรงของใบไม้ แต่มีการนำใบไม้ มาตัดเป็นชิ้นเล็กๆ และนำมาจัดวางเพื่อสร้างสรรค์ลายผ้าในรูปแบบกึ่งงานศิลปะที่น่าสนใจ และมีจุดแข็งคือสามารถทำผ้าอุ๊กได้ยาวถึง 20 เมตรเลยทีเดียว ซึ่งการทำผ้าอุ๊กชิ้นยาวๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย เธอใช้เวลาในการทดลองอยู่นานและใช้ผ้าไปมากมาย แต่ไม่เคยย่อท้อและหาวิธีที่จะพัฒนางานไปเรื่อยๆ สิ่งที่ทำให้มุ่งมั่นในการพัฒนาอย่างต่อเนื่องคือ “ความรู้สึกสนุกและตื่นเต้น” สนุกตั้งแต่การจินตนาการและจัดวางเศษใบไม้แต่ละชิ้นลงไปบนผืนผ้า แล้วนำไปนึ่งและหมักทิ้งไว้ 1-2 คืน และตื่นเต้นทุกครั้งเมื่อถึงเวลาแกะดูผลงาน เธอบอกว่าทุกๆ เช้าที่ได้มาเปิดดูชิ้นงานและลุ้นว่าลายผ้าที่ออกมาจะเป็นอย่างที่จินตนาการไว้หรือไม่ นอกจากสนุกที่ได้ลุ้นงานแล้วยังเป็นการเริ่มต้นการทำงานที่มีความสุขในแต่ละวัน เพราะการได้กลิ่นหอมที่โชยมาจากเศษใบไม้ ที่ผ่านการหมักและนึ่งนั้นเหมือนการได้รับอโรมาเธอราพีอย่างดีเลยทีเดียว คุณวิไลบอกเล่าจนเราสัมผัสได้ถึงความสุขในสิ่งที่เธอทำ

      เมื่อถามถึงใบไม้ที่นำมาใช้ คุณวิไลบอกว่ามาจากในสวนของเธอเอง หากชนิดไหนที่ให้สีดีแต่ไม่มีก็หามาปลูกเพิ่ม  เธอให้ความสำคัญกับ

การใช้ทรัพยากรที่มีในพื้นที่ เพราะนอกจากจะสะดวกในการนำมาใช้งานแล้วยังเป็นการลดต้นทุนการผลิตและค่าขนส่งได้อีกด้วย ใบไม้ที่ใช้ 

เป็นไม้ท้องถิ่นที่หาได้ไม่ยากเช่น ใบสัก เพกา กาสะลอง ใบสน ใบมะเกลือ  ซึ่งหากมองจากรูปลักษณ์ภายนอกใบไม้เป็นสีเขียวเหมือนกัน แต่จริงๆ แล้วใบไม้แต่ละชนิดมี “สีด้านใน” ที่แตกต่างกัน ส่วนจะให้สีสดแค่ไหนขึ้นอยู่กับความชื้นและสารที่ใช้ในการหมัก

        ความตั้งใจจริงของคุณวิไลในการทำแบรนด์ “อุ๊ก” คือทำผ้าผืนเพื่อจำหน่ายเป็นหลัก ซึ่งนอกจากผ้าผืนแบบการสร้างลวดลายลงบนผืนผ้าชนิดต่างๆ แล้ว เธอยังพัฒนาผ้าทอมือด้วยการสร้างลวดลายลงบนฝ้ายเส้นยืนก่อนแล้วจึงนำไปทอ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ไม่ง่ายเลยที่จะดึงสีจากใบไม้ลงบนเส้นฝ้ายนับร้อยๆ เส้น เป็นสิ่งที่ท้าทายแต่เธอก็มุ่งมั่นพัฒนาจนสำเร็จ สิ่งท้าทายตลอด 4 ปีที่ผ่านมานำไปสู่เป้าหมายที่สำคัญอีกอย่างของคุณวิไล คือการถ่ายทอดภูมิปัญญา ทุกการทดลอง ทุกการสร้างสรรค์ลายผ้า ได้ถูกบันทึกไว้เพื่อรวบรวมเป็นตำราส่งต่อความรู้ให้กับคนรุ่นหลังสืบต่อไป

แกลลอรี่

อุ๊ก

ที่อยู่: 134หมู่ 8 บวกค้าง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ 50130
Tel: (+66) 65 502 5922 , 053-446291
Email: [email protected]
Facebook : OUKE Chiang Mai 

Instragram : ouke_by_buabhat_official 

Line : wilaibuabhat