“เก้าอี้” เฟอร์นิเจอร์ที่สำคัญชิ้นหนึ่งของบ้านที่จะบ่งบอกรสนิยมของผู้เป็นเจ้าของได้เช่นเดียวกับของตกแต่งอื่นๆ ในบ้าน และแต่ละมุมของบ้านก็ต้องการเก้าอี้ที่แตกต่างกันไป เพราะเฟอร์นิเจอร์แต่ละชิ้นสามารถสะท้อนอารมณ์และบรรยากาศของแต่ละพื้นที่ได้ คุณรุ่งโรจน์ วิริยะชน ผู้ก่อตั้ง This is A Chair ก็เป็นผู้หนึ่งที่เคยตามหาเก้าอี้ที่ถูกใจสำหรับตกแต่งรีสอร์ทที่เป็นกิจการของเขาเมื่อหลายปีมาแล้วแต่ก็หาที่ถูกใจไม่ได้ และไม่น่าเชื่อว่าจาก Pain Point หรือปัญหาในวันนั้นกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของ This is A Chair ในวันนี้

คุณรุ่งโรจน์เล่าว่าช่วงหนึ่งของชีวิตตัวเองเกิดอาการหมดไฟในการทำงาน เขาปล่อยเวลาให้ผ่านไปกับการจมตัวเองอยู่กับการดูภาพยนตร์ทางทีวีเป็นเวลานานถึง 4 ปี เป็นเรื่องใหญ่และอันตรายมากกับชีวิตในช่วงนั้น แต่เมื่อนำมาเล่าได้ในตอนนี้เขาคิดว่าโชคดีมากที่สามารถพาตัวเองออกมาจากจุดนั้นได้ การจมดิ่งอยู่เช่นนั้นเป็นเพราะเขาไม่รู้ตัวเองเลยว่าอยากทำอะไร มีคนแนะนำให้ลองหาอะไรที่ชอบทำ แต่ปัญหาก็คือไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร และอยากทำอะไร การค้นหาตัวเองจึงไม่ใช่เรื่องง่ายโดยเฉพาะในช่วงวัย 52 ปี จนวันหนึ่งนึกถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการวิปัสสนา ที่พูดถึงการค้นหาตัวตนจากข้างใน แทนที่จะวิ่งหาเปลี่ยนเป็นมองจากข้างในโดยใช้ใจนำสมอง ให้ใจบอกว่าช่วงชีวิตไหนที่เราทำอะไรแล้วรู้สึกสนุกและมีความสุข

เมื่อคิดทบทวนถึงช่วงที่ท้าทายและสนุกที่สุดก็น่าจะเป็นช่วงก่อสร้างรีสอร์ท ที่ได้ลงไปลุยเองในทุกขั้นตอนของการก่อสร้างทั้งๆ ที่ไม่มีความรู้เชิงช่างมาก่อนเลย และเรื่องของ “เก้าอี้” ที่ใช้เวลาในการตามหาอย่างยากเย็นก็ยังเป็นเรื่องที่ค้างคาใจ กลายเป็นสิ่งที่ปลุกให้เขาอยากลอง เรื่องนี้อีกครั้ง ตัดสินใจละจากหน้าจอเดินทางไปที่บ้านถวาย คิดเพียงว่าอยากรู้เรื่องไหนก็ต้องไปหาคนที่ทำเรื่องนั้น คุณรุ่งโรจน์ไปพบปะและพูดคุยกับช่างฝีมือ ด้วยความที่ไม่รู้อะไรเลย รู้แต่ว่าอยากทำเก้าอี้แบบไหนเท่านั้น เขียนแบบก็ไม่เป็น คุยกับช่างหลายคนมาก และส่วนใหญ่ก็ปฎิเสธเพราะวิธีการของเขาไม่เหมือนคนอื่น เขาไม่มีแบบ และอยากลองลงมือทำด้วยกันกับช่างเพื่อถ่ายทอดสิ่งที่เขาคิดโจทย์ไว้ในใจ เน้นวัตถุดิบคือไม้สักผสมผสานกับงานเหล็ก หาช่างหลายที่มากจนกระทั่งได้เจอช่างคนหนึ่งที่ยอมให้เขาอยู่ในกระบวนการผลิตด้วย “ช่างคนนี้ยอมเพราะคิดว่าผมเพี้ยน และคิดว่าอีกไม่นานผมก็คงจะไป” คุณรุ่งโรจน์เล่าแบบขำๆ แต่ตอนนั้นสำหรับเขามันเป็นเหมือนโลกใบใหม่ สนุกกับสิ่งที่ทำ เวลาผ่านไปแบบไม่รู้ตัวจน ลืมเรื่องที่เคยดูทีวีเป็นวันๆ ไปเลย “พูดตอนนี้มันง่ายนะครับแต่ทำยากมากกว่าที่ผมจะชนะสมอง และใช้ใจนำทาง แต่ใจที่รักในสิ่งนั้นมากพอสามารถทำให้เราลุกขึ้นมาทำ มาเรียนรู้ ฝึกฝนจนเป็นตัวตนของเราขึ้นมาได้ ไม่เกี่ยวว่าอายุเท่าไหร่ มีทักษะไหม สำคัญที่สุดอยู่ที่ใจ ถ้าเราคิดว่าใช่และจริงจังกับมันอะไรก็เป็นไปได้ทั้งนั้น และผมก็เชื่อว่าทุกคนมีความคิดสร้างสรรค์ มีความเป็นนักออกแบบอยู่ในตัวไม่มากก็น้อย ซึ่งแนวคิดนี้ก็กลายมาเป็นหลักในการทำงานร่วมกับลูกค้าด้วยเช่นกัน”


จากจุดนั้นคุณรุ่งโรจน์จึงมีทีมช่างที่รู้ใจร่วมงานกันมาจนถึงปัจจุบัน โดยตลอดเวลาในการทำงานได้ยึดสามคำเป็นหลัก คือ Hart Head Hand ทำงานด้วยหัวใจที่หมายรวมถึงทั้งใจตัวเองและการทำงานร่วมกับช่างฝีมือด้วยใจ ให้เกียรติ เชื่อมั่น นับถือในตัวช่าง และถือเป็นหลักในการทำงานร่วมกับลูกค้าด้วยเช่นกัน เมื่อลูกค้ามีใจที่อยากได้เก้าอี้เราก็จะเป็นหัวสมองและสองมือที่ทำงานให้เขา เราอาจจะไม่ได้ทำงานที่สวยที่สุด แต่ทำแล้วให้ถูกใจเขาที่สุด ที่โชว์รูมไม่ได้มีเก้าอี้ไว้ให้เลือก แต่การทำงานจะเริ่มจากการนั่งคุยกับลูกค้าหาคอนเซปต์ด้วยกันก่อน เป็นวิธีที่ทำให้ลูกค้าได้บอกสิ่งที่เขาชอบ ให้ลูกค้ามีส่วนในการออกแบบร่วมกัน เช่นถ้าอยากให้เก้าอี้นี้เป็นเก้าอี้ของคุณ คุณอยากใส่อะไรเข้าไป เพื่อให้เก้าอี้ธรรมดาๆ เป็นเก้าอี้ของคุณจริงๆ นี่จึงเป็นหัวใจในของการทำงานของคุณรุ่งโรจน์ ด้วยจุดมุ่งหมายเดียวที่ว่า ” From a Chair to Your Chair “ ทำเก้าอี้ธรรมดาให้เป็นเก้าอี้พิเศษสำหรับคนอื่น แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว คุณรุ่งโรจน์กล่าว

แกลลอรี่
This is a chair
ที่ตั้ง : 90 ม.4 ต.บ้านแหวน จังหวัดเชียงใหม่ 50230
โทรศัพท์ : 081 6712190
Email: [email protected]
Website : www.thisisachair.com
Facebook : This is A Chair
Instagram: thisisachaircnx
Line : roongrojv